xs
xsm
sm
md
lg

"วัฒนา"ท้าชน!ไม่สนคำขู่"ประยุทธ์" หนุนสปช.คว่ำรัฐธรรมนูญ "วิษณุ"ห้ามตั้งเวทีรณรงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"วัฒนา เมืองสุข" ท้าชน ไม่สนคำขู่ "บิ๊กตู่" สั่งหยุดพล่าม ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงหนุน สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเชิดชูเผด็จการ ย้ำประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ซัดอย่าเอาคดีความมาเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม "วิษณุ" ยันรัฐบาลไม่ได้เสนอให้มี คปป. ไม่เคยส่งสัญญาณรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แจงนักการเมืองจัดเวทีรณรงค์ชี้นำประชาชนไม่ได้ แต่พูดแสดงความคิดเห็นได้

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาสวนบรรดานักการเมื่องที่วิพาษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างว่า นายกฯ ต่างหากที่ควรหยุดพล่าม ตนอ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่แสดงอาการ ผรุสวาทผสมข่มขู่ใส่นักการเมืองที่เสนอให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ บังเอิญตนยังไม่ได้แสดงความคิดเห็น เลยขอถือโอกาสนี้ร่วมกับนักการเมืองท่านอื่น เสนอให้ สปช. ที่ยังพอมีสำนึกของความกตัญญูต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ได้ช่วยกันลงมติ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาปกป้องและเชิดชูเผด็จการนี้ อย่าให้อยู่เป็นอัปมงคลต่อประเทศไทยต่อไปเลย

ทั้งนี้ ตนในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง ที่เสนอให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ขอตอบนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ดังนี้

1.ที่คุณประยุทธ์บอกว่า พวกผมไม่มีสิทธิ์มาเสนอหรือมาเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้นั้น ผมขอให้ความรู้เป็นวิทยาทานกับคุณประยุทธ์ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกติกาของประเทศ คนไทยทุกคน จึงมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาใช้บังคับกับพวกเขาได้โดยชอบ ขอให้รู้ไว้ด้วยว่า มันไม่ใช่เรื่องของคุณประยุทธ์ กับพรรคพวกที่คุณไปตั้งกันขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดฉายานี้เท่านั้น

2.คุณประยุทธ์ บอกต่อไปว่า ยอมให้พวกผมพูดก็เก่งแล้ว ปกติไม่ควรให้พูดนั้น ไม่เคยมีใครสั่งสอนคุณประยุทธ์จริงๆ หรือว่า สิ่งที่พวกผม หรือประชาชนพูดนั้น เป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการวิพากษ์โดยสุจริตในร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นสิ่งที่ทุกคนมีส่วนได้ เสีย ตามทำนองคลองธรรม ที่สำคัญจำไว้ด้วยว่า สปช. ไม่ได้เป็นทหารบริการ หรือ คนที่คุณประยุทธ์ จ่ายเงินเดือนให้ แต่ทุกคนกินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน เจ้าของอำนาจ ซึ่งรวมผมด้วยจึงย่อมมีสิทธิที่จะวิจารณ์ สิ่งที่พวกคุณเอาอำนาจของเค้าไปใช้ได้ ใครที่ควรหยุดพล่าม ไปคิดเอาเอง

3.ส่วนที่คุณประยุทธ์ ออกมาแสดงการข่มขู่หลายคนที่มีคดีความว่า "ออกมาพูดไม่กลัวอะไรกันเลย เวลาโดนดำเนินคดี อย่าออกมาเรียกร้องโวยวายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม" นั้น ที่พูดแบบนี้ แปลว่า ขณะนี้การดำเนินคดีถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ตกลงพวกผม ไม่สามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ได้ต่อไปแล้ว นะครับ

4.สุดท้ายที่คุณประยุทธ์บอกว่า "วันนี้เราติดกับดักประชาธิปไตย กับดักความขัดแย้ง และใช้ความรู้สึกในการตัดสิน เหล่านี้ต้องแก้ทั้งหมด" นั้น ความจริงเราติดกับดักเผด็จการต่างหาก ส่วนความขัดแย้ง และการใช้ความรู้สึกตัดสินนั้น เป็นรัฐบาลนี้ที่สร้าง และตอกย้ำความขัดแย้งเสียเอง เพราะเห็นทุกคนที่มีความคิดต่างเป็นฝ่ายตรงข้ามไปหมด สิ่งที่ต้องแก้ต้องเริ่มจากหัวหน้ารัฐบาล ที่เป็นต้นตอของปัญหา

5.ผมขอกราบเรียนพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนว่า ในโลกใบนี้ยังไม่มีเครื่องมือที่ทำให้คนรัก หรือปรองดองกัน แต่มีเครื่องมือชนิดหนึ่ง ที่ทำให้คนที่คิดไม่เหมือนกันสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราเรียกเครื่องมือนั้นว่า "ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม" ซึ่งผมไม่สามารถหาได้จาก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพูดถึงนี้ ผมจึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอให้ สปช. ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่วมกับนักการเมืองท่านอื่นๆ ด้วย และพร้อมที่จะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับทุกท่าน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประชาชนครับ

**ยันไม่มีใบสั่งจากครม.ให้ตั้งคปป.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) มาจากข้อเสนอของ ครม. ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญร่างที่ 1 นั้น รัฐบาลเสนอให้ยุบรวมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปเข้ากับคณะกรรมการดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดอง ซึ่งมีอยู่ในร่างเดิม ก็เท่านั้น แต่ไม่มีการพูดถึงการให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจพิเศษ รัฐบาลไม่ได้มีส่วนใดๆ กับกรณีดังกล่าว

ส่วนการที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการตัดสินใจโหวตของ สปช. หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และคงต้องไปถาม สปช. เอาเอง และยืนยันว่า สปช. มีอิสระในการโหวต ยิ่งเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ไม่ว่า สปช. จะรับหรือไม่รับ ก็จะถูกยุบทันที เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกสองจิตสองใจ

"ผมยังไม่เห็นสัญญาณอะไรจากรัฐบาลที่ส่งไปยัง สปช. เรื่องการโหวต มีแต่สัญญาณปลอม ที่คนนั้นคนนี้มาพูด ผมได้ยินทั้งสองด้าน คนที่เอาด้วยกับรัฐบาล ก็บอกให้รับ ถ้ารับแล้วจะได้เข้ามาเป็นนั้น เป็นนี่ กับที่ไม่รับ ทั้งหมดเป็นสัญญาณปลอม ที่คนบางคนหวังอะไรแล้วเอาไปพูดและอ้าง แต่พอไล่ถามว่าใครเป็นคนให้สัญญาณ ก็ไม่เห็นมีใครตอบได้ ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์หลังจากรัฐบาลระบุอาจจะอยู่ถึงปี 2560 ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง"นายวิษณุกล่าว

** ตั้งงบทำประชามติ 3,300ล้าน

นายวิษณุกล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการจัดทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า วันลงประชามติ กกต. ได้ยึดเอาวันที่ 10 ม.ค.2559 แต่อาจต้องมีการยืดหยุ่นไปบ้าง เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจกจ่ายรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั่วประเทศ แล้วจึงกำหนดวัน จึงไม่ทราบว่าจะแจงจ่ายครบประมาณ 13 ล้านเล่มได้เมื่อใด แต่หากมีความจำเป็น ก็อาจจะเลื่อนไปวันที่ 17 หรือ 21 ม.ค.2559 แทน

ส่วนงบประมาณมีการขยับเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 3,300 ล้านบาท เนื่องจากต้องเผื่อไว้ให้คำถามอื่นที่จะเพิ่มเข้ามา จึงต้องมีหีบ 2 ใบ และบัตรลงมติ 2 ชนิด เอกสารที่จะส่งให้กับประชาชนประมาณ 13 ล้านเล่ม จะประกอบด้วยเอกสาร 3 ชุด 1.รัฐธรรมนูญ 2.สรุปเนื้อหารัฐธรรมนูญที่สำคัญ 3.คำอธิบายเกี่ยวกับคำถามพ่วง คือ ถามอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร เช่น หากถามว่า ต้องการให้มีรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ ต้องอธิบายว่ารัฐบาลแห่งชาติ แปลว่าอะไร

***ห้ามรณรงค์รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีผู้ไม่เห็นด้วย จะสามารถรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระเบียบและวิธีการดูแลของ กกต. ซึ่ง กกต. จะจัดสรรให้ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความเห็น การรณรงค์เชื่อว่าทำไม่ได้ ทั้งรณรงค์ให้รับ หรือไม่รับ แต่สุดท้ายก็จะมีวิธีปฏิบัติ จนห้ามไม่ได้ อย่างรายการโทรทัศน์ ที่เชิญทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยมาร่วม ตรงนั้นเป็นการแสดงความเห็น ไม่ใช่การรณรงค์

ส่วนที่ห้ามรณรงค์นั้น เพราะคำนึงถึงการห้ามชุมนุม แต่เส้นแบ่งระหว่างการรณรงค์กับการแสดงความคิดเห็นนั้น แยกแยะลำบาก เพราะเวลาใช้คำว่ารณรงค์ คนมักจะนึกถึงภาพคล้ายการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่หากจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ก็จะถูกกำหนดกติกาอยู่ คงไม่มีปัญหา เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะดูแลให้เกิดความเท่าเทียมทั้ง 2 ฝ่าย

** เวทีปลุกระดมก็ห้ามตั้ง

เมื่อถามว่า อย่างที่มีนักการเมืองหลายฝ่ายออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงความเห็น หรือการรณรงค์ นายวิษณุ กล่าวว่า ลักษณะนี้พูดได้ ถือเป็นการให้ข่าวกับสื่อมวลชน ถ้าจะเอาผิดกับนักการเมือง ก็ต้องเอาผิดกับสื่อมวลชนด้วย ดังนั้น จึงไม่ห้าม ส่วนที่วิจารณ์ว่ากรณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 บอกให้รับไปก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ ครั้งนี้ก็มีสิทธิ์จะพูดเช่นนั้นได้ แต่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ พูดได้ 2 อย่างว่า รับๆไปเถอะ วันหลังค่อยไปแก้ กับอย่าไปรับเลย วันหลังจะทำของใหม่มาให้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บอกว่า แก้ไขไม่ได้นั้น หากแก้ไขเป็น ก็ต้องแก้ไขได้ แต่นี้แก้ไม่เป็น

เมื่อถามว่า ถ้าความเห็นต่างๆ ของแต่ละฝ่ายเป็นการชี้นำ จะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ บทลงโทษในการรณรงค์ ไม่ได้มีการกำหนดโทษ เพราะตอนที่ทำกฎหมายฉบับนี้ มีการคิดถึงเรื่องการทำประชามติบางอย่างที่จำเป็นต้องณรงค์ เช่น จะให้มีการสร้างเขื่อนหรือไม่

"คราวนี้จะออกมาให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ผมว่าทำได้ มันไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ต้องไม่ตั้งเวทีปลุกระดม ถ้าพูดผ่านสื่อ ทำได้ เขาจะพูดอะไรก็ได้ ไม่มีบทลงโทษ เพราะเป็นการแสดงความเห็น เราห่วงว่า ถ้าให้ตั้งเวที ก็จะมีฝ่ายที่ค้าน บ้านเมืองก็จะแตกแยก ผมมองเป็นภาพ รัฐบาลมองออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะกฏหมายห้าม โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ที่ห้ามมีการชุมนุม" นายวิษณุ กล่าว

** "วันชัย"ตกใจถูกจู่โจมขออโหสิกรรม

นายวันชัย สอนศิริ กมธ.ปฏิรูปการเมืองและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เดินมาประกาศขออโหสิกรรมกับตน ในห้องอาหาร ในที่สัมมนา สปช. เมื่อวันที่ 25ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า แรกทีเดียวรู้สึกตกใจว่า ทำไมนายบวรศักดิ์ ทำเช่นนี้ เพราะไม่เคยอาฆาต หรือมีเวรกรรมใดๆ ต่อกัน เมื่อท่านขอมา ตนก็ขออโหสิกรรมให้ และขอให้ท่านอโหสิกรรมให้ตนด้วย จึงยังงงอยู่ เพราะเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทหลักสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม ที่ตนประหาศจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบ ที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วครวปี 2557 กำหนดสิทธิรองรับ ที่ตนเอะอะก็จะคว่ำ เพราะเป็นการเตือนที่ต้องการให้ผู้ร่างรอบคอบ ซึ่งตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ ส่วนใหญ่มีส่วนดีกว่าทุกฉบับ แต่มีข้อเสียไม่กี่จุดที่ทำให้ด้างพร้อย เช่น ที่มาของ ส.ว. องค์ประกอบของรัฐบาล และล่าสุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชุด 23 คน ที่มีอำนาจมากมาย

**ขำ สภาฯยึดติดมนต์ดำ เล่นของ

นายวันชัย กล่าวยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีเรื่องส่วนตัว รัฐธรรมนูญสามารถเห็นต่างได้ แต่การแสดงออกยิ่งทำให้เห็นว่า กมธ.ยกร่างฯพยายามผูกขาดความคิดว่าต้องเห็นพ้องกับเขา ใครเห็นต่าง ก็มองเป็นศัตรู ถือเป็นแนวคิดที่เป็นอันตราย เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้เป็นประชาธิปไตย สำคัญที่ใจของคนร่างต้องเป็นประชาธิปไตยก่อน ต้องยอมรับฟังความเห็นต่างของคนอื่น ของสังคมด้วย ไม่ใช่ยึดมั่น ถือมั่น และมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู

ส่วนกรณี นายสิระ เจนจาคะ สปช. ที่ระบุจะฟ้องแพ่งตน 1 พันล้านบาท หากตนโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นการพูดเอามัน สร้างข่าว ทั้งที่ไม่มีข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงรองรับ อีกทั้งเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิก สปช. ดังนั้น หากจะฟ้องร้องตน ก็ต้องฟ้องร้อง สปช. ทุกคนที่โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะได้เงินอีกหลายพันล้าน

"ขอย้ำว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์มนต์ดำ ที่ต้องดูฤกษ์ผานาทีว่าต้องส่งมอบเวลา 11.59 น. วันโหวตต้องเป็นวันอาทิตย์ที่พลังเป็นเดช ต้องโหวตก่อนเที่ยง ให้พลังของแสงอาทิตย์ให้อำนาจ ถ้าประชาชนรู้รายละเอียดเขาจะตลกกันว่า สภานี้ยังติดยึดกับมนต์ดำ หรือเป็นสภาเล่นของหรืออย่างไร" นายวันชัยกล่าว

**ซัด"มาร์ค"อย่ามาสอน สปช.

นายสิระ เจนจาคะ สปช.ด้านสังคม กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขอเรียกร้องให้หยุดเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ ยิ่งนักการเมืองออกมาพูด ยิ่งแสดงธาตุแท้ความเห็นแก่ตัว พูดเอาแต่ได้ เสียไม่เอา เพราะตนเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ และนักการเมืองก็ไม่เคยออกมาพูดสิ่งดีๆ ที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ เช่น การเสนอร่างกฎหมาย ประชาชน 10,000 รายชื่อ ก็สามารถยื่นต่อสภาฯ และสภาฯ จะต้องรับพิจารณาภายใน 180 วัน มีการตรวจสอบภาคประชาชนที่เข้มข้นขึ้น ประชาชนสามารถตรวจสอบงบประมาณแผ่นดิน และนักการเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ

"โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ คุณไม่มีสิทธิ์สอน สปช. เพราะที่พวกเราร่วมกันทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะพวกอดีตนักการเมือง มีส่วนสำคัญที่ทำบ้านเมืองเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเชื่อว่า สปช. มีวุฒิภาวะในการตัดสินใจในการโหวตรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่คุณอภิสิทธิ์ ไม่ต้องมาบอก"

นายสิระกล่าวด้วยว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบนักการเมืองง่าย เพราะมีกลไกที่ป้องกันไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหาย แตกแยก และป้องกันไม่ให้พวกคุณ ออกมาหลอกให้ชาวบ้านบาดเจ็บล้มตาย เพราะหลงเชื่อนักการเมือง จึงถึงเวลาแล้วที่บรรดานักการเมือง จะต้องเสียสละ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

"พวกคุณจะกลัวอะไร ถ้าคุณเข้ามาอย่างบริสุทธิ์ใจก็ไม่ต้องไปกังวล ระบบการตรวจสอบรวมถึงอำนาจของกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือ คปป. หรือที่ออกมาต่อต้าน เพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อเข้ามาแล้วจะทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายอย่างที่แล้วมาอีกหรือไม่" นายสิระ กล่าว

***ชี้นักการเมืองมีแค่1เสียงในประชามติ

เมื่อถามว่า อดีตนักการเมืองไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ ใช่หรือไม่ นายสิระ กล่าวว่า นักการเมืองเหล่านี้มีอำนาจที่จะแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเพียงแค่ออกเสียงหนึ่งเสียงในการประชามติเท่านั้น และนักการเมืองอย่ามาอ้างว่า ยึดโยงประชาชน เพราะที่ผ่านมา การยึดโยงประชาชนทำให้ประเทศเสียหาย และประชาชนบาดเจ็บ เสียชีวิต คนพวกนี้ควรที่จะเตรียมตัวย้ายบ้านไปอยู่เรือนจำ ตามคดีที่ติดตัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คดีทุจริตคอร์รัปชัน

นายสิระ ยังกล่าวว่า ตนยืนยันว่าตนและหลวงปู่พุทธะอิสระ เห็นด้วยกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพราะถือเป็นกลไกที่เข้ามาเสริมการแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง ซึ่งนักการเมืองที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่จำเป็นที่ต้องเดือดร้อนอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น