xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จวกกมธ.มุบมิบเขียนตามใบสั่ง “หลวงปู”ออกโรงหนุนรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ได้พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ก็คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเดินหน้าชี้แจงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญตามสื่อต่างๆ โดยในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ทางสปช. มีกำหนดการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็จะไปชี้แจงและตอบข้อซักถามของสมาชิกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนผลการตัดสินใจของสมาชิก สปช. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ขณะนี้ตนยังไม่สามารถพูดได้ และไม่อยากไปคาดการณ์ ปล่อยไปให้เป็นไปตามธรรมชาติ อีกทั้งขณะนี้ทาง สปช. เพิ่งจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญไป ดังนั้น คงต้องรอให้สมาชิก สปช. ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดก่อน ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ สปช. แต่ละคน
"แม้ขณะนี้จะมีคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ยอมรับว่ายากที่จะทำให้เกิดความพอใจได้ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขและเหตุการณ์วิกฤติ เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญแบบเก่าๆ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้าย หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอีกครั้ง หากประชาชนไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็จบ "โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าว

**ยันร่างรธน.ไม่ได้เจาะจงเล่นงานทักษิณ

นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)กล่าวถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ได้ตัดสิทธิทางการเมืองของผู้หลบหนีคดี ว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้มีเพื่อเจาะจงตัดสิทธิ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด ถ้ายังคงหนีคดี ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้รับโทษ อีกทั้งยังมีข้อกำหนดเอาไว้ว่า ถ้าไม่ได้พ้นโทษไม่ถึง 3 ปีในวันเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถที่จะดำรงทางการเมืองได้ ฉะนั้นการหนีคดีความ ก็เท่ากับขาดคุณสมบัติการเข้าสมัครเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ไม่ได้บัญญัติขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว
"ไม่ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีโอกาสกลับเข้ามาในสายการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งจะต้องกลับเข้ามารับโทษ และพ้นโทษตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ร่าง รธน.ก่อน ถึงจะกลับเข้ามาในเส้นทางของการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูที่คำตัดสินอีกที เพราะใน ร่าง รธน. ฉบับสมบูรณ์ ได้เพิ่มบทบัญญัติขึ้นมาใหม่ว่า หากถูกตัดสินว่ามีส่วนในการทุจริตในหน้าที่ หรือทุจริตอำนาจหน้าที่ในทางราชการ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต" นายเจษฎ์ กล่าว

** จวกมุบมิบเขียนรธน.ตามใบสั่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดส่งให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ตนเพิ่งเห็นตัวร่างวันนี้ และคิดว่ามีเนื้อหาที่จะพาประเทศไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วง และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบปกปิด จนทำให้รู้สึกเสมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องส่วนตัวของกรรมาธิการเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน และเกี่ยวข้องกับทุกสถาบัน ทุกคนจึงควรมีสิทธิ์มีส่วนรับรู้ แสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ได้ตั้งแต่ต้น โดยผ่านกระบวนการยกร่างที่โปร่งใส เปิดเผย และกรรมาธิการฯ ก็มีหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่เป็นพิธีกรรม
"ดังนั้นเมื่อได้ติดตามกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปตามเป้าหมายซ่อนเร้นที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว ได้ถูกระบุไว้ในการเขียนรัฐธรรมนูญช่วงต้น เพียงแต่ต่อมาเมื่อถูกวิจารณ์ และสะท้อนการไม่ยอมรับจากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง ในช่วงกลาง กรรมาธิการฯ จึงลดแรงเสียดทานโดยการเปิดรับฟังความคิดเห็น และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่งดูเหมือนจะทำให้รัฐธรรมนูญดูเข้ารูปเข้ารอย และยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยมากขึ้น แต่สุดท้ายก็มีการ มุบมิบ นำเนื้อหาในเป้าหมายซ่อนเร้นเดิม แปลงรูป แล้วใส่กลับเข้ามาใหม่ในช่วงปลาย โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดแสดงความเห็น และล่วงรู้เนื้อหาที่แท้จริงได้ แม้แต่สื่อมวลชน แล้วรีบปิดประตูตีแมว สรุปนำเสนอสปช. พิจารณาให้การรับรองในทันที"
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การใช้เงินงบประมาณจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และจัดทำผลสำรวจความเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้ จึงเป็นแค่ละคร ซึ่งทำให้ตนเป็นห่วงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตราบาป ตั้งแต่นับหนึ่งให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และอาจมีผลให้เกิดการไม่ยอมรับ จนต้องนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก

** ร่างรธน.ไม่เป็นปชต.

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง หากมองในแง่การแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ตามหลักการปกครองระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถ้ามองบริบท และจุดมุ่งหมายของผู้ร่าง ที่ออกมายืนยันว่า เป็นการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาของการเมืองไทย ที่มีปัญหาพิเศษต่างไปจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ส่วนจะสามารถตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่มั่นใจตามที่ กมธ.ยกร่างฯ หรือผู้มีอำนาจคาดหวัง เพราะการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่รัฐ ธรรมนูญ แต่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด และการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนดของผู้มีอำนาจในขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ส่วนการแก้ไขคือ ต้องปลูกฝังและอธิบายทำความเข้าใจการปกครองแบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. ประกาศคว่ำการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถือเป็นการสืบทอดอำนาจและเป็นร่างทรงเผด็จการ นายสาธิต กล่าวว่า ตนยังรู้สึกสับสนกับพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย ที่ปากเรียกร้องประชาธิปไตย ขอให้รัฐบาลคายอำนาจ เดินตามโรดแมป เพื่อจัดเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่วันนี้ กลับออกมารณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถามว่า ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญ แล้วจะเลือกตั้งได้อย่างไร ตนจึงเห็นว่า แม้วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของคนที่ชอบอ้างประชาธิปไตย เมื่อมีอำนาจแล้ว กลับปู้ยี้ปู้ยำประเทศ ใช้นโยบายสร้างกระแสโดยไม่รับผิดชอบ สร้างหนี้สาธารณะให้ประเทศมากมาย ตนจึงคิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังดีกว่าพฤติกรรมเลวๆ ของนักการเมืองบางคน ส่วนการรณรงค์ให้ประชาชนว่า จะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ประชาชนศึกษารายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญให้ดีก่อน เพราะมีผลกระทบต่อทุกคน

**"หลวงปู่"ประกาศหนุนร่างรธน.

เมื่อเวลา 17.00 น. วานนี้ (23ส.ค.) ที่วัดอ้อน้อย หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม หรืออดีตแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ได้จัดเวทีสนทนา เรื่องรับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมมวลชน โดยมี สปช. อาทิ นายสิระ เจนจาคะ และ นายโกวิทย์ ทรงคุณ สปช.สุโขทัย เข้าร่วมโดยหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้กล่าวต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบทั้งหมด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เช่นกัน แต่ที่แตกต่างออกไปคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้อำนาจกับประชาชนอย่างสูงสุด เพราะก่อนหน้านี้มักจะเขียนให้มีภาคการเมืองเข้มแข็ง เพื่อที่จะให้บ้านเมืองสงบสุข แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า เมื่อการเมืองเข้มแข็ง มันกลับกลายเป็นว่ากลืนกินบ้านเมืองของเราเข้าไป เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เราจะได้รู้ว่าเมื่อมีประชาชนที่เข้มแข็ง ซึ่งคนไทยไม่มีทางทำร้ายบ้านเมืองของเราเหมือนกับนักการเมือง อย่างแน่นอน บ้านเมืองของเราจะดีขึ้นอย่างไร เพราะในอดีต นักการเมืองต่างทำร้ายประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า สิทธิ หน้าที่ และพลเมือง คือองค์ประกอบหลักของรัฐธรรมนูญ เราต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และที่สำคัญประชาชนจะต้องเข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ประชาชนจึงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ทรราชจะไม่เกิดขึ้นอีก ประชาชนต้องไม่นิ่งดูดาย เป็นไทยเฉย คิดว่าไม่ใช่ธุระของตัวเอง ถ้าคิดแบบนี้บ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร
" ส่วนตัวแล้ว สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และก็ได้บอกกับลูกศิษย์หลายๆ คน ที่เข้าไปเป็นสปช. ให้สนับสนุนแนวคิดนี้ รวมไปถึงการเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งด้วย อยากให้คนที่เข้าไปทำหน้าที่ สปช. ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ให้ได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีการพัฒนา"

** ดันปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง

หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้เชื่อว่ามี สปช.แยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. จะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชนของประเทศ 2. ไม่รับร่างนี้เพราะเห็นว่าไม่ดีจริง และ 3.ไม่รับร่าง เพราะต้องการให้รัฐบาลอยู่ต่อ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องนี้ เชื่อว่า ถ้าต้องการให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อมีอีกหลายแนวทางที่จะทำได้ โดยไม่ต้องไปคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเสนอประชามติถามประชาชนว่า ให้รัฐบาลบริหารประเทศอีก 2 ปี ก่อนการเลือกตั้ง ก็สามารถทำได้
"อยากจะฝากไปถึงนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ที่ออกมาระบุว่า จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่า นายวันชัย รับคำสั่งมาจากภาคการเมือง เพราะนายวันชัย มีความสิทสนมกับทางนั้นอยู่แล้ว ก็ไม่แปลกอะไร แต่อยากให้นายวันชัย คิดถึงหน้าที่ของตัวเองให้ดีว่ากินเงินเดือนจากภาษีของนักการเมือง หรือประชาชน ถ้าคิดว่าปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ไม่ได้ ก็ไม่น่ารับตำแหน่งตั้งแต่แรก เหตุผลที่จะให้รัฐบาลอยู่ต่อหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของคุณ แต่เป็นของประชาชนต่างหาก อยู่ดี ๆ มาบอกว่า คว่ำร่าง ถ้ารัฐบาลใช้วิธีนี้เพื่อการอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็ไม่แตกต่างจากสภาพซากศพเลย นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเข้าไปอีก"
เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คว่ำจริงๆ หลวงปู่พุทธะอิสระ จะนำมวลชนออกมาต่อต้านหรือไม่ หลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า เรื่องนี้ ของดูอีกครั้งหนึ่ง อยากจะเห็นเหตุผลที่ผลโหวตออกมาเป็นแบบนั้น ก็จะขอย้อนถามกลับไว้ว่า ถ้ากลัวทหารสืบทอดอำนาจ แล้วไม่กลัวนักการเมืองสืบทอดอำนาจบ้างหรือ ตอนที่ก่อม็อบกันก็เรียกร้องให้ทหารออกมาช่วย แต่พออยู่กับแบบสุขสบาย ก็ไปไล่เขา ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ และถ้าทหารจะสืบทอดอำนาจจริงๆ แล้วทำให้บ้านเมืองสงบสุข ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุด เพราะตรงกับสิ่งที่เวทีแจ้งวัฒนะเรียกร้องไว้ตอนนั้น และก็ต้องขอบคุณ คณะยกร่างรัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้ จะนำมวลชนไปมอบรายชื่อ 200,000 รายชื่อ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และนำดอกไม้ไปให้กำลังใจ ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ก่อนจะมีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลา 10.00 น.ด้วย
ด้านนายสิระ กล่าวว่า ตนถือเป็น 1 ใน 124 เสียงของ สปช.ที่จะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะเป็นตัวแทนของมวลชนแจ้งวัฒนะ ตนเชื่อว่า ผู้ที่ออกมาระบุว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่กรรมาธิการยกร่างจะมีข้อสรุปนั้น เป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง และเชื่อว่า หากคว่ำร่างรัฐธรรมนูฐฉบับนี้ไปก็ไม่ได้หมายความว่าฉบับหน้าจะดีขึ้น ตนก็อยากจะถามเหมือนกันว่าคนที่จะคว่ำร่างนี้ ต้องการเรียกร้องอะไร และเหตุผลที่คว้ำจะต้องชัดเจน ไม่ใช่แค่การรับใบสั่งมา


**ร่าง รธน.สอดคล้องสภาวะประเทศ

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึง ภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญว่า จากการศึกษาดูแล้วเห็นว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ฟังเสียงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สนช. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เสนอมาพอสมควร และได้รับการแก้ไขมาระดับหนึ่ง ซึ่งหลักการพื้นฐาน ถือว่าพอไปได้ แต่จะให้พอใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ก็สอดคล้องกับภาวะของประเทศในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับวิกฤตการเมืองเกิดขึ้นจริง และต้องยอมรับสถานการณ์ เพราะมีการหวาดระแวง คนที่เป็น ส.ส.หรือ
นักการเมือง จึงอยากให้มองย้อนกลับไป และส่งเสริมคนดีเข้าสู่ระบบการเมืองให้มากขึ้น ซึ่งกกต.ต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ไม่ใช่ว่ามองคนที่มาเป็นนักการเมืองต้องทำให้เสียผู้เสียคน ถูกไล่จี้ทุกอย่าง ส่วนพรรคการเมือง ก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์จริงๆ แม้จะมีพรรคการเมืองมาก ก็ไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องมีพรรคใหญ่แค่ 2 พรรค นอกจากก็ต้องมีกลไกคุ้มครองส.ส. โดยเฉพาะการลงมติ ต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ถ้าไม่ทำตามมติพรรค ก็ต้องพ้นจากส.ส. หรือออกจากพรรค เพื่อให้ทำหน้าที่ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ คานอำนาจให้กับประชาชน
เมื่อถามว่า คาดการณ์ว่าการลงมติของสปช. ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ จะรับหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของสมาชิก สปช. แต่ละคน แต่ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าดี ขอให้มองจุดมุ่งหมายข้างหน้า เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้มีการเลือกตั้ง แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ไว้ใจเรื่องหลังการเลือกตั้ง แต่ก็จะมีกรรมการยุทธศาสตร์ฯ คอยดูแลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระดับหนึ่ง ซึ่งคงไม่ปล่อยให้มีการเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปสู่อดีตได้ง่ายๆ สปช.ก็ต้องคิดให้รอบคอบ มองภาพว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร อย่าเอาแต่มองประเด็นย่อย เช่น ส.ว.เป็นปลาสองน้ำ หรือ อื่น ๆ ที่จะให้ถูกใจทุกอย่าง เป็นไม่ได้ ไม่พอใจประเด็นนี้ ก็เอามาขวางเส้นทางเดินประเทศ ที่จะเข้าสู่กระบวนการปกติชะงักลง
"ผมรู้สึกแปลกใจ อย่างมีคนจุดพลุในประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ กลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะพูดก็ยังไม่พูดกันเลย ผมก็สงสัยว่า ทำไมเมื่อเข้ามาอยู่สภา เป็นตัวแทนของประชาชน ทำไมถึงขั้นไม่พูดกันเลย แม้จะอยู่คนละพรรค หรือว่า ส.ว.สรรหา กับ ส.ว.เลือกตั้ง ไม่มองหน้ากัน มันเกิดอะไรขึ้นในองคาพยพบุคคลสำคัญในฝ่ายนิติบัญญัติ เหตุการณ์นี้ ทำไมจึงเกิดในบ้านเมืองเรา ซึ่งความจริงต้องเข้าใจกัน" นายพีระศักดิ์ กล่าว
**รอสปช.รับร่างก่อนถามประชามติ

ส่วนการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในส่วนสนช.นั้น นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรอดูวันที่ 6 ก.ย. ว่า สปช.จะลงมติอย่างไร หากผ่านสปช. เราก็ให้ตั้งคำถามภายใน 3 วัน เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง สนช.ได้เตรียมวางแผนไว้แล้ว ถ้าไม่ผ่านก็จบ ไม่ต้องตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม ก็มีการแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการสามัญประจำทั้ง16 คณะ ให้ประชุมหารือว่า จะตั้งคำถามหรือไม่ตั้งคำถาม ถ้าตั้งจะตั้งคำถามอะไร จากนั้นก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช. ) เพื่อหารือกันเบื้องต้นก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสนช. ในวันที่ 8 ก.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ หรือตั้งแล้วจะตั้งคำถามอะไร ดังนั้นขณะนี้ตนตอบไม่ได้ต้องรอเวลา
"ทุกอย่างเดินไปตามโรดแมป หากสปช. มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติ จากนั้นก็กำหนดวันเลือกตั้ง คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นปลายปี 59 เพราะจะต้องมีการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เชน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และส.ว.ให้เสร็จสิ้นก่อน"
ส่วนโอกาสที่รัฐธรรมนูญจะมีโอกาสผ่านการทำประชามติหรือไม่ รองประธานสนช. กล่าวว่า ยังพูดไม่ได้ แต่ถามว่าพี่น้องประชาชนเขาไม่ได้ศึกษารัฐธรรมนูญมาทั้งร่าง เขาคงดูเพียงแค่ จะมีการเลือกตั้งส.ส.อย่างไร มีกี่คน ถ้าเป็นอย่างนี้โอกาสรัฐธรรมนูญผ่าน มีสูงอย่างแล้ว แต่ตนเป็นห่วงเรื่องการตั้งคำถามในการทำประชามติมากกว่า เพราะคำถามจะทำให้มองเห็นภาพว่า หลังเลือกตั้งจะมีรัฐบาลแบบไหน เชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนไม่อยากให้รัฐธรรมนูญผ่าน


** สปช.ส่วนใหญ่ยอมรับร่างรธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้ทำการมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ให้กับ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกสปช. ส่วนใหญ่ได้ทำการศึกษาเนื้อหารายละเอียดต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยยังคงมีความเห็นหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่จะให้การสนับสนุน กลุ่มที่ไม่สนับสนุน และกลุ่มที่ยังขอดูรายละเอียดให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจออกเสียง
นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เท่าที่อ่านเนื้อหาฉบับสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. ในวันที่ 6 ก.ย. และเท่าที่พูดคุยกับสมาชิกสปช. หลายคนก็บอกว่า พอใจ แม้จะไม่เต็ม 100 แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ขอให้มีการปรับปรุง ก็ได้รับการแก้ไขจาก กมธ.ยกร่างฯ ส่วนเนื้อหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ก็ได้รับการชี้แจงด้วยเหตุผลที่น่าพอใจ ซึ่งในส่วนคณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เห็นตรงกันว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญให้ทั้งหมด เท่าที่ประเมินเสียงของ สปช. ขณะนี้ มีเสียงสนับสนุนให้ผ่านอยู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ส.ค. ที่ สปช. จะเปิดประชุมนอกรอบให้สมาชิกได้แสดงความเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญนั้น เชื่อว่าจะเห็นทิศทางความชัดเจนในการลงมติมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่าการลงมติของสปช.ครั้งนี้ ไม่มีใบสั่ง หรือต้องการต่อเวลาการทำงานให้ใคร
นายมนูญ ศิริวรรณ สปช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปพลังงาน พอใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ไปแก้ไข เท่าที่คุยกันในคณะกรรมาธิการฯก็ไม่มีใครคัดค้านว่า จะลงมติไม่ให้ผ่าน แม้จะมีบางคนยังสงสัยเรื่องอำนาจ หน้าที่ ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปพลังงาน จะนัดคุยกันในภาพรวมของรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในวันที่ 1 ก.ย. โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญ มาบรรยายสรุปภาพรวม
เนื้อหาในทุกด้านให้สมาชิกฟังอีกครั้ง
"ผมยังมั่นใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสปช.ไปแบบ สบายๆ ไม่ได้สูสี และน่าจะมีเสียงสนับสนุนถึงเกือบ 200 เสียง เพราะขณะนี้คณะกรรมาธิการเพียง 2 กลุ่มหลักๆ คือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่คัดค้านเท่านั้น ขณะที่คณะกรรมาธิการฯ อีกหลายกลุ่มให้การสนับสนุน"
ขณะที่ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สปช. ในฐานะคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ รับได้กับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมา เนื้อหาในภาพรวมใช้ได้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมือง ที่ครอบคลุมและครบเครื่อง ทั้งการรักษาสิทธิมนุษยชน หน้าที่พลเมือง สิทธิชุมชน การส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน ประเมินแล้วเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช.ได้ โดยจะมีคะแนนเห็นชอบเกินครึ่งพอสมควร แต่ต้องไปลุ้นในขั้นตอนการทำประชามติ ว่าจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน หรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสองพรรคการเมืองใหญ่ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญว่าจะส่งสัญญาณผ่านหัวคะแนนให้ประชาชนลงมติไปในทิศทางใด


**แนะผู้รับผิดชอบเร่งชี้แจงร่าง รธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทบัญญัติและมาตรการใหม่ๆ มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่สังคมต้องทำความเข้าใจอย่างละเอียดทั้งฉบับ ก่อนตัดสินใจรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมองแค่จุดใดจุดหนึ่ง
ช่วงเวลาที่เหลือก่อน สปช.จะลงมติ และนำไปสู่การทำประชามติ กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเร่งเผยแพร่ให้ข้อมูลและอธิบายเจตนารมณ์ของมาตราต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างกว้างวาง เพราะในขณะนี้อาจมีการใช้จุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราไปเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมและหวังผลทางการเมือง จนอาจเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญได้
โดยเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ส.ว.สรรหา โดยครม. 123 คน นายกฯ คนนอก รัฐบาลปรองดอง ถือเป็นกลไกใหม่ ที่หลายฝ่ายมองว่าหลุดออกจากหลักการความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆให้มากขึ้น ว่ากลไกเหล่านี้ตอบโจทย์อะไร จะแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาใหม่ และจะเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้อย่างไร
ไม่ใช่แค่กรรมาธิการยกร่างฯ เท่านั้น ที่ต้องอธิบายหรือชี้แจง แต่ คสช. และรัฐบาล ต้องชี้แจงและอธิบายมากกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงอำนาจ คสช.ไว้หลายระดับ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีสิทธิคลางแคลงใจ และอาจทำให้เกิดความตึงเครียดหรือการเผชิญหน้าขึ้นในสังคมได้อีก
หาก คสช.- ครม.ละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญ เอาแต่ท่องคาถาว่าเป็นเรื่องของสปช. หรือของกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่เป็นสุภาพบุรุษเท่าใดนัก เพราะบทบัญญัติหลายมาตรา ก็บอกที่มาที่ไปในตัวมันเองอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น