xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ซัดกมธ.มัดมือชกประชาชน ไม่รับมุกรัฐบาลปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12 ส.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอคำถามประชามติตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ แก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศว่า เป็นความคิดของนายบวรศักดิ์ ซึ่งเชื่อว่านายบวรศักดิ์ อยากให้เกิดความปรองดอง แต่ถามว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ดี ตนไม่มีปัญหา แต่จะได้หรือไม่ก็ไปตกลงกัน โดยเฉพาะพรรคการเมืองต่างๆว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าให้ได้และทำให้ประชาชนมีความสุข
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าว เรื่องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ตนพูดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดำเนินการ ซึ่งต้องใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่ ดูว่าเป็นสิ่งสมควรหรือไม่สมควร ส่วนร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ทางสปช.ก็ต้องออกอยู่แล้ว ดังนั้นสปช.สามารถใช้ความคิดได้เต็มที่
"ทุกคนในประเทศต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ศาล และประชาชน ต้องร่วมมือกัน นานแล้วที่ไม่เกิดความปรองดอง ไปตีกันผมไม่เห็นว่าจะดี มีแต่เสียชีวิตและเกิดความขัดแย้ง อย่าไปทำเลย " พล.อ.ประวิตร กล่าว

**"วิษณุ"ไม่วิจารณ์อำนาจกก.ยุทธศาสตร์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจเหนือรัฐบาล ในการสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ในกรณีมีสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่ยากต่อการควบคุมว่า เรื่องดังกล่าวตนติดตามผ่านหนังสือพิมพ์ แต่ยังดูได้ไม่ครบถ้วน ส่วนที่มีหลายฝ่ายระบุว่าเป็นการให้อำนาจกรรมการชุดดังกล่าวมากเกินไปนั้น ตนไม่รู้ ให้ไปถามบุคคลที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า
ส่วนถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดย ส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส่วน ส.ว.สรรหา 123 คน ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.)เป็นผู้สรรหานั้น คงยังไม่ตอบในตอนนี้ เพราะต้องรอดูรายละเอียดก่อน
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กมธ.ยกร่างฯได้ปรับแก้ แต่ไม่เป็นไปตามที่มีผู้เสนอขอแก้ไข เมื่อร่างเสร็จ กมธ.ยกร่างฯ จะมีร่างฉบับแก้ไขไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเชิญฝ่ายต่างๆมารับฟังชี้แจง ทำความเข้าใจในเหตุผล ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังมีเวลาปรับแก้ไขร่างก่อนจะถึงกำหนดในวันที่ 22 ส.ค. จากนั้นจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจ

**นายกฯรับมอบพิมพ์เขียวปฏิรูปวันนี้

สำหรับการเตรียมความพร้อมการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยจะเชิญตัวแทนจาก กมธ.ยกร่างฯ และสำนักงบประมาณเข้าร่วมประชุมด้วย คาดว่าการประชุมจะเกิดขึ้นโดยเร็วก่อนที่ สปช.จะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กกต.ได้มีเวลาเตรียมตัว ทั้งหากสปช.รับร่างรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ โดยการเผยแพร่แจกจ่ายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนนั้น นอกจากการพิมพ์รัฐธรรมนูญแจกจ่ายประชาชนที่มีสิทธิ์ลงประชามติให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังจะมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ส่วนจะมี การตั้งเวทีเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของกกต.
ส่วนกรณีที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะแถลงเพื่อส่งมอบวาระการปฏิรูปให้ครม.ในวันที่ 13 ส.ค. นั้น จะมีผู้แทนจากรัฐบาลไปรับฟังการแถลงข่าว เพื่อรับวาระการปฏิรูปมายัง ครม. เมื่อครม.รับวาระการปฏิรูปมาแล้ว ครม.ต้องมาดำเนินการต่อ โดยมอบให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สปช.ได้รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปให้ ครม.ทราบในทุกสัปดาห์ จึงไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สปช.
นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติเปิดเผยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.ได้เรียกประชุมวิปสปช.ในวันที่ 13 ส.ค. เวลา 14.00 น. ที่ห้องโลตัส โรงแรมเซ็นทาราฯ เพื่อพิจารณาญัตติของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิกสปช. เรื่องข้อเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง และรายงาน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
" วิปจะพิจารณาว่า จะบรรจุ 2 ญัตติในระเบียบวาระการประชุมในวันอังคารที่ 18 ส.ค.นี้หรือไม่ นอกจากนั้น จะมีญัตติที่สมาชิกประสานมาว่า จะยื่นญัตติในเช้าวันนี้ ขอให้สปช. จัดประชุมหลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ส.ค.เพื่อศึกษาร่างรัฐธรรมนูญก่อนถึงวันลงมติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาจเชิญประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้แทนมาชี้แจง" เลขาวิปสปช. กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในการจัดงานรายงานประชาชนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง "เปลี่ยนประเทศไทยกับสปช. ( NRC Blueprint for Change"ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับที่จะมารับมอบแผนแม่บทปฏิรูปประเทศของสปช. ด้วยตนเองในเวลา16.00 น.

** "เสธ.อู้"ชี้ รัฐบาลปรองดองเกิดยาก

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง แนวคิดของ นายบวรศักดิ์ ที่อยากให้มีคำถามประชามติว่า "อยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่" เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง ว่า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ตอนนี้ไม่ทราบว่า นายบวรศักดิ์ จะทำจริงหรือไม่ แต่ยอมรับเป็นความคิดที่ดี ที่จะทำให้ประเทศสงบและปรองดอง ซึ่งถ้าทำจริง ก็ต้องนำไปหารือใน กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 13-14 ส.ค.นี้ แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าจะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เป็นจริง ก็มีขั้นตอนมาก เพราะต้องผ่านความเห็นจาก สปช. ที่มีอีกหลายคำถามในการทำประชามติ และตนก็ไม่รู้ว่า ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และที่สำคัญสุดคือการทำประชามติของประชาชนที่เป็นผู้ตัดสิน
" ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ผูกติดกับพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย คงเป็นเรื่องลำบากที่จะผลักดันให้ผ่านการทำประชามติ ดังนั้น ประเด็นนี้ต้องฟังเสียงนักการเมืองมากๆ ถ้าประเด็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติไม่ได้รับการผลักดัน ก็ไม่เป็นอะไร เพรากลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็สามารถดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ดีอยู่แล้ว"
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ถือเป็นความคิดเห็นของนายบวรศักดิ์ และนายเอนก ที่สามารถเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม สปช.ได้ เพราะเป็น สปช. และเป็นรองประธาน สปช. รวมถึงเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องของการสร้างความปรองดอง
"เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือในที่ประชุมของกมธ.ยกร่างฯ แต่คิดว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อ กมธ.ยกร่างฯ แต่ควรต้องไปถามผู้ได้รับผลกระทบคือพรรคการเมือง ว่าเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร" นายไพบูลย์ กล่าว

** ยอมรับ ปชป.-พท."ปรองดอง"ยาก

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ มีแนวคิดเสนอคำถามประชามติ ว่า อยากให้มีรัฐประดองแห่งชาติหรือไม่ เพื่อแก้วิกฤตการเมือง 10 ปีที่ผ่านมา ว่า วิกฤติก็คือวิกฤติ แต่หลักของเราคือ ประชาธิปไตยปรองดองได้ แต่ไม่ใช่ซูเอี๋ย ถ้ามีรัฐบาลปรองดอง เพื่อหนีการตรวจสอบถ่วงดุลจะผิดหลัก การรวมเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ แม้จะใช้เสียง 4 ใน 5 ของรัฐสภา จะหลีกหนีคำว่า รู้เองเพื่อให้ได้อำนาจกันได้หรือไม่ ถ้ารัฐบาลที่ซูเอี๋ยกัน หันมาทำโครงการจำนำข้าวอีก ใครจะตรวจสอบ ประเทศจะล่มจม ประชาชนจะเดือดร้อน ดังนั้นกฎหมายจึงต้องเป็นกฎหมายต่อไป ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต้องทำงานอย่างจริงจัง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การทำเช่นนี้คล้ายต้องการบีบคับคับให้ประชาชน และพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยอมรับให้เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เหมือนบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย แต่งงานกัน ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจตั้งแต่ต้น แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งระหว่างกันหลังจากนั้น จะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ อย่าได้เสนอเรื่องนี้เป็นคำถามประชามติเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปฏิเสธแนวทางดังกล่าว หลังเลือกตั้งถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก จะทำอย่างไร นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ต้องตีความคำว่าความขัดแย้งก่อน ว่าไม่ใช่ฝ่ายค้านขัดแย้งกับรัฐบาล ตัวอย่างที่ผ่านมา คือรัฐบาลไปทำผิดกฎหมาย ทั้งการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฝ่ายค้านจึงต้องออกมาตรวจสอบ ต่อสู้ และเรียกร้อง ไม่ได้หมายความว่าไปทะเลาะด้วยกับรัฐบาล เหมือนเวลาตำรวจจับโจร ไม่ใช่ตำรวจไปขัดแย้งกับโจร แต่เมื่อโจรทำผิด ตำรวจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ หรือหากถามว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนเช่นนี้ แล้วทำตัวเหมือนบางพรรค เวลา รัฐบาลต้องการแก้ไขอะไร ก็ยกมือสนับสนุนไปทุกเรื่อง ประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่
ส่วนการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจใช้มาตรการจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ขัดแย้งที่รัฐบาลปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เมื่อกมธ.ยกร่างฯ ได้คิดกลไกนี้ออกมา ส่วนตัวก็พอยอมรับได้ และเชื่อว่า จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง คือป้องกันการยึดอำนาจ เนื่องจากในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่าย รวมถึงผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพด้วย จึงทำให้ความเห็นต่างๆ ถูกถ่วงดุล ความร้อนแรงในการรัฐประหาร ก็จะลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ตนอยากให้กลไกดัง กล่าว ใช้เพียงชั่วคราว หรือในวาระที่สถานการณ์พิเศษจริงๆ เพราะว่าในสังคมระบอบประชาธิปไตย รูปแบบเช่นนี้ไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ ถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวในโลก และควรให้มีกลไกป้องกันกรณีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุจริต คอร์รัปชัน หรือใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายประชานิยม จนส่งผลเสียหายต่อประเทศด้วยเช่นเดียวกัน

**"ประสาร"หนุนตั้งคำถามรัฐบาลปรองดอง
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. กล่าวถึงการเสนอคำถามการทำประชามติ คู่กับ ร่าง รธน.ว่า ระหว่างสองคำถามที่นำเสนอผ่านสื่อมาแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกัน เห็นว่า คำถามเรื่อง "ให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ควรได้รับเลือกมากกว่าคำถาม "ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง" เพราะการปฏิรูปได้ดำเนินมาแล้ว ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น และชี้ไม่ได้ว่าการปฏิรูปจะจบลงที่ตรงไหน มันเป็นงานต่อเนื่อง ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ต้องปฏิรูป ถึงอย่างไร รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นเจตจำนงของมวลประชาชนทั่วประเทศแล้ว ยังมี 37 วาระการปฏิรูปซึ่งเป็นผลงาน ตกผลึกของ สปช. ส่งไปรออยู่แล้วในมือรัฐบาล ยังมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปอีกไม่เกิน 200 คน มาผลักดันการปฏิรูป และมี พ.ร.บ.ปฏิรูป ออกมารองรับ การปฏิรูป จึงเป็นภารกิจภาคบังคับในตัวของมันเอง
ส่วนคำถามเรื่องรัฐบาลปรองดองนั้น น่าจะพิจารณา เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์ประเทศไทยในวันนี้ว่า แม้เหนือผิวน้ำ คลื่นลมสงบก็จริงอยู่ แต่ใต้ผิวน้ำยังป่วน มีความขัดแย้งร้าวลึก และจะปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปโดยทุกฝ่ายพากันวางเฉยหมดก็ไม่ได้ ช้าหรือเร็วในระยะสองปีนี้ ต้องมีรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลจากการเลือกตั้งยังคงเป็นรูปแบบเดิม คือ สองพรรคการเมืองใหญ่อยู่คนละฟากฝั่ง โดยยังไม่ต้องชี้ว่าใครถูกใครผิด ใช่หรือไม่ว่าความขัดแย้งที่หลบมุมอยู่ พร้อมที่จะปะทุเป็นความรุนแรงได้
ดังนั้น จึงควรนำคำถามนี้เข้าสู่กระบวนการ "ประชาชนวินิจฉัย" ด้วยการลงประชามติ ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการมีรัฐบาลปรองดอง เป็นเวลา 4 ปี ตามบทเฉพาะกาล ที่จะกำหนดให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องได้คะแนนเสียง 4 ใน 5 คือ 360 เสียงจาก 450 เสียง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเหลือเป็นฝ่ายค้านราว 90 เสียง
ข้อบัญญัตินี้ทำให้สองพรรคการเมืองใหญ่ต้องหันหน้าเข้าหากันแทนการเผชิญหน้าแบบในอดีต และจะร่วมกันทำสัญญาประชาคมก็ได้ว่า จะปรองดองกันปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอยู่ที่ว่า สองพรรคการเมืองสำคัญจะทำใจได้ไหม เพราะนักการเมืองบางคนยืนยันว่า รัฐบาลต้องมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล แต่ ณวันนี้ เมืองไทยมีสถานการณ์พิเศษ ที่ต้องการบรรยากาศแห่งการร่วมมือกัน ใช่หรือไม่ และความจริงฝ่ายค้านยังคงมีหน้าที่ของเขาอยู่ แม้ว่าคะแนนเสียงจะน้อยก็ตาม อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มอบอำนาจให้ประชาชน มีพลังตรวจสอบที่เป็นจริงและมีบทบาทของภาคประชาชนวางไว้ทั่วไปในหมวดสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพ และหมวดอื่นๆ ดังนั้นให้ประชาชนเป็นคนพิพากษาดีไหมว่า จะเอาหรือไม่เอารัฐบาลปรองดองแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น