“วิษณ” เผยนายกฯ ห่วงเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายดำเนินการพร่ำเพรื่อ ทำประชาชนเดือดร้อนรู้สึกไม่ดีกับรัฐบาล แนะใช้หลักรัฐศาสตร์หรือวิธีการอื่นแทน ส่วนที่ “บวรศักดิ์” เสนอให้ คกก.ยุทธศาสตร์มีอำนายเหนือรัฐบาล ต้องไปถามบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมเชิญ กมธ.ยกร่างฯ และ กกต.หารือเตรียมพร้อมทำประชามติ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า นายกฯ ระบุว่าขณะนี้ในการจัดการหรือการดำเนินการต่างๆ มีการนำกฎหมายมาใช้มากเกินไป เวลานี้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเอะอะอะไรเอากฎหมายเข้าไปจับอย่างเดียวจนทำให้คนได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่บางเรื่องมีข้อยกเว้นอยู่แต่ไม่ใช้ข้อยกเว้นซึ่งสามารถผ่อนผันได้ หรือใช้หลักรัฐศาสตร์หรือวิธีการอื่นได้ จนทำให้คนอาจเกิดความรู้สึกไม่สู้ดีกับรัฐบาล แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่เป็นการละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง ในกรณีมีสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองที่ยากต่อการควบคุมว่า เรื่องดังกล่าวตนติดตามผ่านหนังสือพิมพ์ แต่ยังดูได้ไม่ครบถ้วน ส่วนที่มีหลายฝ่ายระบุว่าเป็นการให้อำนาจกรรมการชุดดังกล่าวมากเกินไปนั้น ตนไม่รู้ ให้ไปถามบุคคลที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้ ส.ว.ชุดแรก 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดย ส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส่วน ส.ว.สรรหา 123 คน ให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้สรรหาว่า คงยังไม่ตอบในตอนนี้ เพราะต้องรอดูรายละเอียดก่อน
นายวิษณุกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ แต่ไม่เป็นไปตามที่มีผู้เสนอขอแก้ไข เมื่อร่างเสร็จ กมธ.ยกร่างฯ จะมีร่างฉบับแก้ไขไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจากนั้นจะเชิญฝ่ายต่างๆ มารับฟังชี้แจงทำความเข้าใจในเหตุผล ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังมีเวลาปรับแก้ไขร่างก่อนจะถึงกำหนดในวันที่ 22 ส.ค. จากนั้นจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงทำความเข้าใจ
นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยจะเชิญตัวแทนจาก กมธ.ยกร่างฯ และสำนักงบประมาณเข้าร่วมประชุมด้วย คาดว่า การประชุมจะเกิดขึ้นโดยเร็วก่อนที่ สปช.จะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ กกต.ได้มีเวลาเตรียมตัว ทั้งหาก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ โดยการเผยแพร่แจกจ่ายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนนั้น นอกจากการพิมพ์รัฐธรรมนูญแจกจ่ายประชาชนที่มีสิทธิลงประชามติให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังจะมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ส่วนจะมีการตั้งเวทีเสวนาเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของ กกต.
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะแถลงเพื่อส่งมอบวาระการปฏิรูปให้ ครม.ในวันที่ 13 ส.ค.นั้น จะมีผู้แทนจากรัฐบาลไปรับฟังการแถลงข่าวเพื่อรับวาระการปฏิรูปมายังครม. เมื่อครม.รับวาระการปฏิรูปมาแล้ว ครม.ต้องมาดำเนินการต่อโดยมอบให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สปช.ได้รายงานความคืบหน้าการปฏิรูปให้ ครม.ทราบในทุกสัปดาห์ จึงไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สปช.แต่อย่างใด
ส่วนที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้สอบจริยธรรมนายวันชัย สอนศิริ สปช.ที่ออกมาระบุให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่มีความเห็น รัฐบาลจะไปวิจารณ์การทำงานของเขาได้อย่างไร คนเหล่านี้พูดไปตามอำนาจหน้าที่