xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯรูดซิป ปมคว่ำร่างรธน.ต่ออายุ "เต้น"ซัดสปช.รับลูก"เทือก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ปัดพูดกรณี สปช.เสนอคว่ำร่าง รธน. เพื่อยื้อเวลาให้ คสช.ได้อยู่ปฏิรูปต่อ ย้ำมูลนิธิมวลมหาประชาชนเคลื่อนไหวไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ขอทุกพวกอย่าระราน พูดจาเสียหาย ลั่นใช้ กม.ฉบับเดียวกัน "เทียนฉาย" ชี้เป็นความเห็นส่วนบุคคลของ สปช.บางคน เมินข้อเสนอตั้ง "สุเทพ" เป็นที่ปรึกษา "ยงยุทธ" ชี้ปฏิรูปทั้งหมดก่อนเลือกตั้งไม่ได้ นัดถก 6 สิงหาฯ 3 ประเด็น "เต้น" ซัด สปช.รับลูก "เทพเทือก" จี้เนติบริกรบนเรือแป๊ะแจง ถ้า รธน.ผ่านประชามติแล้ว จะแก้ให้ปฏิรูปต่ออีก 2 ปีค่อยเลือกตั้งได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการเคลื่อนไหว จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ระบุว่า ให้ สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดทางให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่อให้สำเร็จ ว่า ตนเองไม่มีความคิดเห็น เป็นเรื่องของ สปช. ตนเองไม่ได้ดูแล รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรก็ว่ากันอย่างนั้น อย่าเอามาตีกัน บ้านเมืองอะไรที่ดี ก็ว่ากันไป อะไรมีปัญหา ก็หารือกันไป อะไรที่ต้องแก้ไข ก็ดำเนินการไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เสนอให้ คสช.อยู่จนกว่าจะมีการปฏิรูปแล้วเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "อยู่ได้อย่างไร ก็ไปหาวิธีการมา รัฐธรรมนูญเขียนว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ไปอ่านรัฐธรรมนูญให้เข้าใจ" 
เมื่อถามถึงกรณีที่ การเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตน เป็นเรื่องของมูลนิธิฯ ทำกันไป แต่อย่าผิดกฎหมาย ตนมีหน้าที่รักษากฎหมาย รักษากติกา ด้วยกฎหมายฉบับเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้นอย่าระรานอย่าพูดจาให้เสียหาย ซึ่งที่ตนพูด หมายถึงทุกพวก จำไว้ด้วย ขอร้องกัน อย่าให้เกิดเรื่องเลย

**ปฏิรูปทั้งหมดก่อนเลือกตั้งไม่ได้

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า หากการปฏิรูปประเทศยังไม่เสร็จ แล้วปล่อยให้มีการเลือกตั้ง การรัฐประหารที่ผ่านมาก็ล้มเหลวว่า การปฏิรูปมีบางอย่างที่ต้องดำเนินการต่อหลังจากนี้ เพราะต้องใช้ระยะเวลา เช่น การปฏิรูปการศึกษา บางอย่างก็ทำได้เลย แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งได้ การจะรอให้ปฏิรูปทั้งหมดอาจเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามโรดแมป ถ้าเราจะทำทุกอย่าง อาจถูกมองว่าเป็นการยื้อเวลา และกว่าจะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็มีระยะเวลาอีก 1 ปีกว่าคิดว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่ จะมีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้เห็น

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และสมาชิก คสช. กล่าวถึงกรณีข้อเสนอกปปส. ให้ปฏิรูปแล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งว่า วันนี้ไม่มีใครตอบได้ไม่ใช่หรือว่า ปฏิรูปจะไม่เป็นไปตามโรดแมป และโรดแมปที่นายกรัฐนตรีพูดก็คือการปฏิรูป คิดว่าจะใช้ระยะเวลาตามโรดแมป ฉะนั้น สิ่งที่กปปส. เสนอว่า ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หลักการก็ตรงกันอยู่แล้ว ในเมื่อการปฏิรูปของนายกฯยังไม่จบสิ้น แล้วจะรู้ได้อย่างไรจะปฏิรูปไม่สำเร็จในระยะเวลาตามโรดแมป และมีอะไรบ่งชี้ว่าการปฏิรูปจะไม่สำเร็จตามโรดแมป ต้องตอบตรงนี้เสียก่อน นายกฯเองก็ต้องบอกว่ากำลังปฏิรูปอยู่
เมื่อถามว่า ขณะที่กลุ่มการเมืองอีกฝ่าย ตีความว่า ข้อเสนอของ กปปส. จะส่งผลให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่เถียง เขาก็ต้องคิด เลยกลัวว่าโรดแมปผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปฏิรูปไม่สำเร็จ จะเลือกตั้งไหม นปช.ก็ต้องบอกว่าต้องเลือกตั้งสิ เพราะนายกฯพูดโรดแมปไว้อย่างนี้ กปปส. บอกว่าไม่ได้ โรดแมปต้องขยายออกไป ถ้าปฏิรูปไม่สำเร็จ แน่นอนความขัดแย้งต้องตามมาแน่ ต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องว่ากันต่อไป หรือเอาตามนั้น ไม่สนใจปฏิรูป เมื่อโรดแมปบอกไว้แล้ว 2 ปี ต้องมีการเลือกตั้ง

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ กล่าวถึง กรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ออกมาระบุว่า มีการให้ข้อมูลในแง่ร้ายต่อคณะรักษาความสงบแหงชาติ (คสช.) ว่า เล่นงานเฉพาะคนที่ไม่ใช่พวก จ้องเล่นงานฝ่ายตรงข้ามว่า ตนยังไม่เห็นรายงานในเรื่องดังกล่าว ถ้ามีคงมีการเสนอเข้ามา ดังนั้น คงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้ ส่วนความเคลื่อนไหวต่างๆนั้น ตอนนี้เห็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ผ่านสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง สถานการณ์ทั่วไปไม่มีปัญหาอะไร

**ไม่กังวล "วันชัย" ขู่คว่ำ รธน.

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ออกมาระบุ ให้สปช. โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปิดทางให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่อให้สำเร็จว่า รู้สึกตกใจเมื่อเห็นข่าว เมื่ออ่านพาดหัวข่าวว่า สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่พออ่านรายละเอียดข่าว ก็ไม่กังวลแล้ว เพราะเป็นความเห็นนายวันชัย คนเดียว เรื่องนี้จะไม่เรียกนายวันชัยมาตักเตือน เพราะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ทำได้ แต่ขออย่างเดียว เวลาสื่อเขียนข่าวทำนองนี้ ขอให้เขียนว่าเป็นความเห็นคนๆ เดียว อย่าเหมารวมว่าเป็น สปช.

ส่วนกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. จะล่ารายชื่อสปช. เพื่อสนับสนุนให้ตั้งคำถาม 1 คำถาม ควบคู่ไปกับการทำประชามติว่า จะปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนเลือกตั้งหรือไม่นั้น เสนอได้ เป็นสิทธิ ไม่ใช่เรื่องผิด อย่าลืมว่า สปช.อีก 200 กว่าคน ก็มีสิทธิเสนอคนละ 1 คำถามเช่นกัน โดยหลักต้องมาเสนอผ่านที่ประชุมสปช. ว่าใครจะเสนอหรือไม่ เสนออะไร เรื่องล่าชื่อนั้นไม่แปลก แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่ที่คณะรัฐมนตรี ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สปช.เสนอได้ แต่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ

ส่วนกรณีที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้รีบแต่งตั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาประธาน สปช. ว่า ยังไม่รู้ข่าวเลย สปช. จะหมดวาระการทำงานอยู่แล้ว จะแต่งตั้งใครทำไม ในเมื่อเหลือการทำงานอีกไม่กี่วัน อีกทั้งไม่มีหน้าที่แต่งตั้งใครด้วย หน้าที่ต่อจากนี้คือ เร่งทำงานที่เหลือให้เสร็จ

เมื่อถามว่า ใกล้หมดวาระการทำงานในฐานะประธานสปช.แล้ว มีความในใจ หรือสิ่งใดที่คิดไว้ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอีกหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า กรอบเดิมที่วางไว้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะทำ พอมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมา ก็ตัดกรอบเวลา และการทำงานเดิมเราไปหลายเรื่อง เวลาเหลือกระชั้นไป จนไม่ได้ทำสิ่งที่คิดไว้ เช่น เรื่องนำร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯ ทำเสร็จแล้วลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน ก็ไม่เป็นไร ใครมีหน้าที่ทำต่อก็ทำไป ไม่เสียดายเพราะทำเต็มที่แล้ว เท่าที่เป็นอยู่ก็เหนื่อยมากแล้ว ยืนยัน ต่อจากนี้จะทำงานให้เสร็จทันตามกรอบ ไม่วอกแว่ก

** ขอนายกฯ ตามโรดแมปอย่าวอกแวก

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. จังหวัดนนทบุรี กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกสปช.บางท่าน เสนอให้ปฏิรูปอีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ว่า ถ้ารากฐานรัฐธรรมนูญวางไม่ถูกทาง อยู่ต่อปฏิรูปไปอีก 5 ปี ก็ไม่ดีขึ้น ทำตามโรดแมปเหมาะสมที่สุดแล้ว ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. อย่าหลงคำสรรเสริญเยินยอมาก ปรึกษากับทีมงานให้ดีว่า เราจะไม่สนใจแรงกดดันทั้งในและต่างประเทศได้หรือไม่ ประชาชนจะแย่จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจหรือไม่

ส่วนกรณีนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. รีบแต่งตั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นที่ปรึกษาประธาน สปช. เพื่อเดินหน้าปฏิรูปให้สำเร็จ หากปฏิรูปไม่เสร็จก็ไม่ต้องเลือกตั้ง ว่า วันที่ 7 ก.ย. นี้ สปช.จะหมดวาระแล้ว งานของ กมธ.18 คณะของสปช. ก็จบหมดแล้ว อยู่ในระหว่างให้สภาเห็นชอบเท่านั้น จะตั้งใครมาตอนนี้คงไม่มีประโยชน์ แต่เป็นเรื่องส่วนตัว อยู่ที่ตัวของนายเทียนฉาย จะตัดสินใจอย่างไร

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. กล่าวถึง กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการเลือกตั้งสำหรับเมืองไทย จะได้นักเลือกตั้งเข้ามาครองเมือง ส่วนใหญ่ของนักเลือกตั้งประเทศไทย ก้าวไปไม่พ้นจากทุน และระบบอุปถัมภ์ จึงเป็นกลุ่มคนที่เสพติดอำนาจมากกว่าจะมุ่งมั่นปฏิรูป อย่างเก่งก็ได้แค่หว่านโปรยนโยบายประชานิยมล้นเกิน เพื่อคืนสู่อำนาจซ้ำอีก แถมเป็นนโยบายที่สร้างปัญหาระยะยาวให้กับประเทศไทย เช่น นโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำข้าว เป็นต้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องทำความกระจ่างต่อสังคมให้ได้ว่า ในระยะเวลาที่แน่นอน จะต้องการให้เกิดผลรูปธรรมระดับไหน ต้องเข้าใจว่า การปฏิรูปไม่อาจเกิดผลได้ฉับพลัน มันไม่ใช่การเปิดปิดสวิทช์ไฟ ไม่ใช่การบ่มมะม่วง มันเป็นงานเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน หลากหลายมิติ ยากลำบาก และใช้เวลา เช่น การศึกษาของไทยปฏิรูปมา 20 ปีแล้ว ยังล้าหลังอยู่จนเดี๋ยวนี้

" การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จึงต้องสร้างสมดุลให้ได้ระหว่างเนื้องานปฏิรูปที่เป็นจริง ซึ่งต้องการให้เกิดกับวันเวลาตามโรดแมปของ คสช. ที่อาจยืดหยุ่นได้ แต่ควรเป็นที่ยอมรับของสาธารณะ การตั้งคำถามเรื่องนี้ ควบไปกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นทางออกอย่างหนึ่ง " นายประสาร กล่าว

** ไม่เห็นด้วยคว่ำ รธน.เพื่อยืดอายุ คสช.

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยืดอายุ คสช. นายประสาร กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาจากบทบัญญัติ ถ้าดีก็รับ ไม่ดีก็ไม่รับ การเอาไปผูกโยงกันอย่างนั้น แปลว่า ไม่ไยดีกับเนื้อหา ไม่ต้องมองเหตุมองผล เป็นวิธีคิดที่ไม่เป็นธรรมต่อ บทบัญญัติ และไม่ยุติธรรมต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นอนาคต เป็นชะตากรรมของประเทศชาติ จึงต้องการวิจารณญาณที่มีภูมิปัญญา และใช้วุฒิภาวะ ซึ่งถ้า สปช. คว่ำร่างฉบับนี้ คสช.จะต้องตั้งกรรมการยกร่างขึ้นมาใหม่ รวม 21 คน ทำร่างใหม่ให้เสร็จภายใน 6 เดือน มีใครประกันได้ว่า ร่างใหม่จะวิเศษกว่าร่างนี้

" ผมถือหลัก 80:20 ถ้า 80 รับได้ อีก 20 ยังขัดใจผมอยู่ ผมจะลงมติเห็นชอบ ผมจะดูส่วนทั้งหมดไม่ใช่ดูเฉพาะส่วน ดูป่าทั้งป่า ไม่ใช่ดูเพียงต้นอุตพิษ 5 ต้น" นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวต่อว่า ตนถือว่า ไม่มีผู้วิเศษคนไหนที่ร่างรัฐธรรมนูญได้ถูกใจทุกคนแบบ 100% เราต่างได้ในบางเรื่อง ไม่ได้ในบางอย่างด้วยกันทั้งนั้น ตนอยากให้บทบัญญัติการปฏิรูป กำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ผิดหวัง เพราะเขาจะเอาไปเป็นกฏหมายปฏิรูป ส่งให้ สปช. พิจารณาพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ตนทักท้วงให้เขาแยกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน เขาก็แยกให้ ตนไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.จับฉลาก เขาก็แก้ไขให้แล้ว ตนไปรับฟังเวทีประชาชนทั่วทุกภาค ชาวบ้านบอกว่า อย่าให้คนชั่วครองเมือง เขาก็กำหนดตัดสิทธิ์เลือกตั้งนักการเมืองตลอดชีวิต โดยเพิ่มฐานความผิดฉกรรจ์ขึ้นมา อีก 4 ฐานในรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามมาตรการเข้มของ รัฐธรรมนูญปี 2557 มาตรา 35 (4))

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่รวมทั้งสื่อมวลชน มักใส่ใจกับโครงสร้างส่วนบน คือ ที่มาของ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะได้มาอย่างไร และเข้าใจกันไปว่า เนื้อหานี้จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายประเทศไทย ที่จริงแล้วจะออกแบบด้วยวิธีไหน ไม่ว่าเลือกตั้ง แต่งตั้ง สรรหา หรือเลือกกันเอง ล้วนแล้วแต่เปิดช่องให้คนชั่วเล็ดลอดเข้ามาได้เสมอ ผมจึงเห็นว่าบทกำหนดที่ให้อำนาจประชาชนมีมากไปกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง 4 วินาที เป็นเรื่องสำคัญกว่า

" ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมสำรวจดูแล้ว มีบทบัญัติเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนกระจายอยู่ทั่วไปแทบจะทุกเรื่อง ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สังคม สตรี คนด้อยโอกาส ผู้บริโภค พลังงาน ศิลปะวัฒนธรรม แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งสมัชชาพลเมืองยังอยู่ในมาตรา 27 ที่จะมี พ.ร.บ.ออกมารองรับด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความชอบธรรมในการร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะ และตรวจสอบภาครัฐได้จริง แม้ว่าจะตัดสมัชชาคุณธรรมและสภา ตรวจสอบภาคพลเมืองออกไปก็ตาม" นายประสาร กล่าว

**"เต้น" ซัด สปช.รับลูก "สุเทพ"

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. แถลงข่าวท่าทีของมูลนิธิฯ พร้อมทั้งยืนยันทุกข้อเรียกร้องจะเป็นเอกสาร ไม่มีเดินขบวนนั้น ตนก็เชื่อว่าไม่จำเป็น เพราะก่อนหน้านี้คนบนเวที กปปส. เดินขบวนไปรับตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สายหลายสิบคนแล้ว ขณะนี้ก็เด้งรับลุงกำนันทันที ด้วยการประกาศยืนยัน คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และล่ารายชื่อเสนอคำถามประชามติปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง สัญญาณแบบนี้ ถือเป็นการซ้ำเติมประเทศไทยให้ติดลบทางความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้า คสช.นิ่งเฉย ไม่มีท่าทีแตกต่าง ก็ยิ่งมองได้ว่า เกมนี้สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายหรือไม่ ทั้งๆที่ไม่มีความชัดเจนอะไรเลย ว่าแนวคิดนี้จะพาบ้านเมืองไปทางไหน
" อยากให้สติ สปช. อย่าคิดว่าใหญ่แล้วทำอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ประชาชนเห็นว่าดูถูกกันเกินไปแล้วจะยุ่ง ส่วนการเพิ่มคำถามปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้น ขอเรียกร้องเนติบริกร ที่อยู่บนเรือแป๊ะ อธิบายให้ฟังหน่อยว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว จะแก้ให้ปฏิรูปต่ออีก 2 ปี ค่อยเลือกตั้งได้อย่างไร เพราะถ้าลงมือทำก็เท่ากับรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ เป็นคนละฉบับกับที่บังคับใช้" แกนนำนปช. กล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนการแถลงข่าวสถานการณ์นกกรงหัวจุกในประเทศไทยนั้น เดิมทีตนตั้งใจจะแถลงเลย เพราะโดยประเด็นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่แล้ว แต่พอเห็นท่าทีฝ่ายความมั่นคง ขึงขัง จะให้ขออนุญาต ก็เกรงว่าอาจจะมีคนแอบอ้าง มาตรา 44 ไปคุกคาม นกกรงหัวจุกหรือไม่ จึงขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ขอสรุปภาพรวมให้พอเข้าใจว่า นกกรงหัวจุก เป็นสัตว์ที่รักเสรี เปล่งเสียงขันไพเราะ บินไปไหนก็ได้ในธรรมชาติ ต่อมามนุษย์ผู้มีกำลัง และอำนาจ เอานกส่วนหนึ่งไปชุบเลี้ยงแล้วสอนให้ขัน จัดแข่งชิงรางวัลโดยสร้างกติกาให้นกของฝ่ายตัวชนะให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็หาเรื่องจัดการนกที่เป็นคู่แข่งให้สิ้นซาก แล้วค่อยเริ่มประกวด นกกรงหัวจุกเหล่านั้น จึงพยายามส่งเสียงเรียกนกด้วยกันว่า มาอยู่แบบฉัน แล้วขันตามผู้มีอำนาจสั่ง จะได้ดิบได้ดี ทำอะไรก็ถูก มีตำแหน่ง มีรางวัล แต่นกส่วนใหญ่บอกว่า ขอโก่งคอขันเพื่อรับใช้อำนาจที่ชอบธรรมเท่านั้น ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ตอนนี้มีการวางงานให้นกในกรงขันยั่วนกในป่า เพื่อหาเรื่องเอานกป่าเข้ากรงขัง

**สปช.นัดถก 6 ส.ค. 3 ประเด็น

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการ วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวถึงกรณีวันชัย สอนศิริ ระบุ ให้สปช.โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดทางให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่อให้สำเร็จ ว่า สปช.มีจุดยืนเป็นองค์กรทางวิชาการ ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ดังนั้น ความเห็นใดๆของสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับ สปช.

ทั้งนี้ ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ สปช. จะนัดประชุมเพื่อหารือกัน 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องการเสนอคำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติ ว่าสมาชิกเห็นควรให้เสนอหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมหารือกัน 2. กำหนดระเบียบวาระการทำงานปฏิรูปช่วงโค้งสุดท้าย 3. หารือเพื่อกำหนดวันโหวตรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะเป็นวันไหน ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย. นอกจากนี้ อาจมีการยกเรื่องการเเสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. ขึ้นมาพูดคุยในวันดังกล่าวด้วย

** แนะตั้งหลักให้ดีเรื่องปฏิรูป

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่ามีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องตั้งหลักเรื่องปฏิรูป หรือทำให้ความหมายใกล้เคียงกันมากที่สุด แม้อาจไม่เห็นด้วยกันทุกเรื่องก็ตาม เพราะในขณะนี้ความหมายของการปฏิรูปเริ่มพร่ามัว และมีความคาดหวังที่หลากหลายจนเกินไป ซ้ำร้ายการปฏิรูปถูกจับเป็นข้ออ้าง เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่ต่างกันออกไป ทำให้การปฏิรูปที่ควรจะเป็น กลายเป็นวาทกรรมที่เจือปนความขัดแย้งไปโดยปริยาย

จึงมีความจำเป็นที่ต้องพูดรูปธรรมให้ชัดว่า จะปฏิรูปเรื่องอะไร อย่างไร และควรจัดลำดับความสำคัญเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่สังคมเห็นคล้อย และตกผลึกร่วมกัน อาจจะ 4-5 ประเด็น เช่น เรื่องตำรวจ พลังงาน การปราบปรามการทุจริต กระจายอำนาจ ปฏิรูปภาษี เป็นต้น ซึ่งถ้าคสช.และรัฐบาล ตั้งหลักได้แบบนี้ สังคมก็จะประเมินได้ว่า การปฏิรูปมีความคืบหน้าหรือไม่ และไม่ถูกเอาไปอ้างเพื่อจุดประสงค์อื่นทางการเมือง

ส่วนการแสดงบทบาทของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในนามมูลนิธิมวลมหาประชาชน ที่อยากเห็นการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นการเน้นย้ำถึงจุดยืนเดิมทางการเมือง ที่ยังเป็นเจตจำนงค์ของคนนับสิบล้านที่ร่วมชุมนุมกันมาและยังอยากเห็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองไม่ควรมองเป็นเจตนาอื่น เพราะถ้าปฏิรูปแล้ว ส่วนรวมได้ประโยชน์นักการเมืองก็ต้องปรับตัวและรับฟัง ไม่เช่นนั้น การเมืองไทย ก็จะวนกลับไปก่อนการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557.
กำลังโหลดความคิดเห็น