xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติเกิน3พันล้าน “เทียนฉาย”ระบุคำถามต้องโยงรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงถึงแผนการปฏิรูปการทำงานของ สปช. หลังจากมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่า สปช.ได้ทยอยส่งวาระปฏิรูป พร้อมเสนอกฎหมายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)หลายฉบับ แต่ขณะนี้ยังอยู่ที่ครม.ทั้งหมด ไม่มีการเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แม้แต่ฉบับเดียว ส่วนกฎหมายต่างๆ จะมีผู้เข้ามาผลักดันในวาระปฏิรูปให้สมบูรณ์หรือไม่นั้น ตนยังตอบไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า จะมีสภาขับเคลื่อนฯ คงจะมาดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งตนยืนยันว่าที่ สปช.ทำไว้จะไม่เสียของ มีวาระที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สปช.ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ต่างไปจากเดิม แผนปฏิรูปใดที่เสร็จสิ้น ก็ทยอยส่งรัฐบาลทันที เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความล่าช้า ยืนยันว่าเวลาที่เหลือ 67-68 วัน เราจะทำให้งานปฏิรูปกระชับขึ้น ตรงตามกำหนดเวลาเพื่อเห็นรูปแบบที่ชัดเจน ส่วนอะไรที่เป็นเบี้ยหัวแตก เราจะไม่อยู่ในกรอบ
เมื่อถามว่า หลังจากที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ถูกปรับแก้ทั้ง 7 ประเด็น แนวทางการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. จะเป็นอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นความแตกต่าง แต่บางคนอาจแสดงความเห็นได้หลากหลาย ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคล ตนเชื่อว่า สปช. ส่วนใหญ่จะไม่คิดเป็นแบบนั้น
ส่วนเรื่องคำถามประชามติ ในส่วนของ สปช. นั้นนายเทียนฉาย กล่าวว่า ต้องรอดูถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 กำหนดไว้ก่อน ตนคิดว่า จะต้องพิจารณาวันเดียวกันในวันที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะต้องมีการเปิดอภิปรายก่อนชั่วโมงที่จะลงมติ ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้มีการเสนออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบนั้น ตามกฎหมายบังคับไว้ว่า ไม่มีการอภิปราย
เมื่อถามว่า หลักการตั้งคำถามควรจะเป็นอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า เบื้องต้น จะต้องหารือว่าจะมีการตั้งคำถามหรือไม่ก่อน ถ้าออกมาว่าควรตั้งคำถาม โดยหลักการก็ต้องเป็นประเด็นที่ไม่เปิดกว้างมาก และควรถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อถามย้ำว่า ถ้ามีสมาชิกเสนอคำถามว่า ปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ได้หรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถ้ามีคนเสนอ ก็ต้องพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยหลัก การถ้าถามแบบนี้ ทำได้ แต่ไม่ใช่หลักการของตน

** ความเห็นสปช.ไม่กดดันกมธ.ยกร่างฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่สมาชิก สปช. ระบุถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นธรรมดาที่คนจำนวนมาก 200- 300 คน ต่างที่จะมองไปข้างหน้าต่างกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิ ซึ่งเราล้วนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว แต่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพิจารณา
อย่างไรก็ตาม สิทธิ์ในการแสดงความเห็น ไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในระยะเวลา 2 เดือนเศษที่เหลือ โดยช่วงนี้ จนถึงวันที่ 23 มิ.ย. จะเป็นวาระการพิจารณาไล่เรียงเรื่องตามภาค ตามหมวดที่สำคัญ ซึ่งเป็นข้อเสนอให้มีการแก้ไข ที่มีความสำคัญยึดโยงไปกับหลายมาตรา โดยจะพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป และในวันที่ 24 มิ.ย. จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 1 โดยจะนำสาระที่ได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญรวมถึงคำขอแก้ไขที่ภาคส่วนต่างๆได้ส่งเข้ามา
ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น และสามารถทำให้เสร็จภายใต้กรอบเวลา และจากนั้นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันศุกร์ที่ 21 ส.ค. โดยจะเชิญสปช. ที่เสนอคำขอแก้ไขเข้าร่วมประชุม เพื่อฟังคำชี้แจงและเหตุผลของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าข้อเสนอใดที่รับไปแก้ไขได้ หรือข้อเสนอใดที่ไม่รับไว้พิจารณา เพื่อทำให้เกิดการยอมรับ และเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจ ก่อนสปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับการขยายกรอบระยะเวลาการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ เบื้องต้น ได้หารือกันแล้วว่า จะขยาย แต่การจะมีมติ ต้องรอให้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อมีผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งการขยายเวลาดังกล่าว เพื่อให้การทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญมีความละเอียด รอบคอบ และพิจารณาให้ครบถ้วน
ส่วนการทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ ถ้าหาก สปช. หรือประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ คงต้องยุติบทบาท แต่หากสปช. รับร่างฯ ก็ต้องเดินหน้านำรายละเอียดไปชี้แจงกับประชาชน ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ ในช่วงเดือนม.ค.59 รวมทั้งหน้าที่การทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ประมาณ 20-30 ฉบับ

**ติงคำพูด"ประยุทธ์"ไม่เหมาะสม

เมื่อถามว่า มองอย่างไรต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ระบุว่า จะอยู่อีก 2 ปี และมีผลต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ และไม่ทราบระยะเวลาที่มีคนนับกัน บางคนอาจจะนับวันที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ตนอยากให้สื่อมวลชนให้ความสำคัญในเรื่องความตั้งใจ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หวังดีต่อบ้านเมือง และมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อบ้านเมือง ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีเรื่องผลประโยชน์ หรือความต้องการที่จะอยู่ต่อ เพราะหากบ้านเมืองมีความเรียบร้อยก็ไปได้ ส่วนตัวเชื่อว่าระยะเวลา 2 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุ เป็นไปตามกรอบเวลา และสอดคล้องกับโรดแมป ที่รัฐบาลปัจจุบันจะอยู่ไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะอย่าลืมว่า กว่าจะมีการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องนับเวลาเพิ่มอีก 6 เดือน
นายเจษฏ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ตนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดเช่นนั้น ไม่เหมาะ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประการ คือ
1. หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับที่บางฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของการทำประชามติเรื่องทำปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก่อนประกาศการเลือกตั้ง สังคมอาจมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายดังกล่าวได้
2. หากจะมีการขยายวาระการทำงานต่อ จะทำให้คนเข้าใจว่า เป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การล้มร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้อยู่ต่อ เพราะหากนับตามโรดแมปใหม่ ที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดรายละเอียดไว้ จะมีกรอบดำเนินงานไม่ถึง 2 ปี
3. สังคมอาจตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ตามที่โรดแมปกำหนดไว้
นายเจษฎ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการยืดกรอบเวลาโรดแมป ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้อาจอยู่ในส่วนของการทำกฎหมายลูกว่าด้วยการปฏิรูปออกไป 3-6 เดือน เพื่อให้การเขียนกฎหมายแล้วเสร็จ ในช่วงดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีกฎหมายสำคัญบังคับใช้ม่ว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อ
เมื่อถามว่า คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นการอยู่ต่อ 2 ปี จะทำให้การทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เสียเปล่า หรือตายเปล่า ตามที่ สปช. บางคนวิเคราะห์ไว้หรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้นเพราะจากการลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนก็ได้รับการตอบรับ ซึ่งแนวทางในการทำงานที่ผ่านมาเชื่อว่าสังคมโดยรวมจะมองเห็นและหากสังคมมองว่าเป็นข้อผิดพลาดก็จะทำให้คณะทำงานชุดใหม่ที่จะเข้ามาเกิดการเรียนรู้และทำให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่การเสียเปล่าแน่นอน
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ จะอยู่อีก 2 ปีว่า ตนไม่ทราบ แต่การทำหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ ต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งระยะเวลาทำงานหลังจากนี้ต้องนำคำขอแก้ไขจากทุกฝ่ายและทุกเรื่องมาพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่การยึดติด หรือยึดว่าตนเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการปรับแก้ไขอย่างไร ขอให้รอดูเนื้อหา ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

**คาดใช้งบประชามติเกิน 3,000ล้าน

รายงานข่าวจากสำนักงาน กกต.แจ้งว่า ในการประชุม กกต.วานนี้ (16มิ.ย.) ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการเตรียมความพร้อมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดย นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้รายงานผลการหารือระหว่าง ผู้แทนสำนักงาน กกต. กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทางสำนักงานได้ชี้แจงว่า ทางสำนักงานฯกำลังยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และเบื้องต้น หากจะมีการออกเสียงประชามติ จะต้องมีการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติราว 50 ล้านฉบับ ต่อ 1 คำถาม หากจะถามความเห็นประชาชน 3 คำถาม จะต้องมีพิมพ์บัตรทั้งหมดราว 150 ล้านฉบับ ซึ่งการจัดพิมพ์เมื่อไปรวมกับเอกสารเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดส่ง ค่าบริหารจัดการ คาดว่างบประมาณในการจัดทำประชามติทั้งหมดน่าจะเกิน 3,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถที่จะกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนได้
ขณะที่ กรรมการก็ได้สอบถามถึงความชัดเจนว่า การจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้ จะสามารถจัดให้มีเวทีในการดีเบต ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้หรือไม่ สามารถจัดพิมพ์เอกสารแผ่นพับในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำประชามติให้กับประชาชน และการโฆษณารณรงค์ เรื่องการออกเสียงประชามติผ่านทางสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ใครที่จะเป็นผู้กำหนด และดำเนินการ
ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยขอให้เสนอร่างประกาศฯ ฉบับแรกต่อที่ประชุม กกต. ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ 2. คณะกรรมการประสานงานการจัดพิมพ์ และส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะไปพิจารณาว่าต้องมีการจัดพิมพ์จำนวนเท่าใด และมีวิธีการจัดส่งอย่างไรให้ทัน และทั่วถึงกับประชาชน 20 ล้าน ครัวเรือน 3. คณะกรรมการประสานงานการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะดูในเรื่องการบริหารจัดการการออกเสียง และ 4. คณะกรรมการจัดทำงบประมาณ ที่จะไปคำนวณตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการในการออกเสียงประชามติทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กกต. ยังมีวาระเรื่อง ร่างระเบียบการสรรหา กกต.จังหวัด ที่จะนำมาใช้ในการสรรหา กกต.จังหวัดที่จะหมดวาระลงในเดือนต.ค.นี้ ประมาณ 60 จังหวัด แต่ที่ประชุมไม่ได้พิจารณา เนื่องจากต้องการรอความชัดเจนจาก คสช. เพราะมีกระแสข่าวว่า ในเร็วๆนี้ คสช. อาจจะมีการประกาศให้ยกเลิก กกต.จังหวัดทั้งหมด ส่วนหนึ่งเนื่องจากขณะนี้ไม่มีการเลือกตั้ง และที่ผ่านมาก็ถูกร้องเรียนเรื่องความเป็นกลาง ดังนั้นการคงไว้จึงไม่คุ้มกับงบประมาณ ที่ต้องเสียงไปกับค่าตอบแทน กกต. จังหวัดปีละประมาณ 150 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น