xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ไม่หวั่น สปช.ขู่คว่ำ รธน. คาดส่งได้ 21 ส.ค.ก่อนเชิญผู้ขอแก้รับฟังเหตุผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“เลิศรัตน์” ยัน สปช.ขู่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นปัญหาต่อการทำงาน เผยพิจารณาไล่เรียงตามภาคเพื่อให้ได้ข้อสรุปจนถึง 23 มิ.ย.ก่อนเข้าสู่มาตรา 1 คาดส่งร่างให้ได้ 21 ส.ค.พร้อมเชิญ สปช.ที่ขอแก้รับฟังเหตุผลทำความเข้าใจก่อนลงมติ รอร่างแก้ รธน.ชั่วคราวผ่านจะขยายเวลาแน่ เชื่อ “ประยุทธ์” พูดอยู่ต่อ 2 ปีแค่พูดตามโรดแมป ด้าน “เจษฎ์” ติงไม่เหมาะ โวงานไม่เสียเปล่าแน่ ขณะที่ “คำนูณ” บอกไม่ทราบ



วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นธรรมดาที่คนจำนวนมาก 200-300 คนต่างที่จะมองไปข้างหน้าต่างกันซึ่งถือเป็นสิทธิ เราล้วนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ส่วนประเด็นการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม สิทธิในการแสดงความเห็นไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 2 เดือนเศษที่เหลือ โดยช่วงนี้จนถึงวันที่ 23 มิ.ย.นี้จะเป็นวาระการพิจารณาที่ไล่เรียงเรื่องตามภาค ตามหมวดที่สำคัญ เป็นข้อเสนอที่มีการแก้ไขที่มีความสำคัญยึดโยงไปกับหลายมาตรา โดยจะพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป และในวันที่ 24 มิ.ย.จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณามาตรา 1 โดยจะนำสาระที่ได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญรวมถึงคำขอแก้ไขที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ส่งเข้ามา

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและสามารถทำให้เสร็จภายใต้กรอบเวลา และจากนั้นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ สปช.พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม โดยจะเชิญ สปช.ที่เสนอคำขอแก้ไขเข้าร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงและเหตุผลของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าข้อเสนอใดที่รับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือข้อเสนอใดที่ไม่รับไว้พิจารณา เพื่อทำให้เกิดการยอมรับและเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจก่อน สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับการขยายกรอบระยะเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นได้หารือกันแล้วว่าจะขยาย แต่การจะมีมติจะต้องรอให้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ก่อน การขยายเวลาดังกล่าวเพื่อให้การทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญมีความละเอียดและรอบคอบ และพิจารณาให้ครบถ้วน

ส่วนการทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หาก สปช.หรือประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงต้องยุติบทบาท แต่หาก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเดินหน้านำรายละเอียดไปชี้แจงต่อประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติช่วงเดือนมกราคม 2559 รวมทั้งหน้าที่การทำกฎหมายประกอบ จำนวน 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประมาณ 20-30 ฉบับ

เมื่อถามว่า มองอย่างไรต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ระบุจะอยู่อีก 2 ปี และมีผลต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ยังไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์และไม่ทราบระยะเวลาที่มีคนนับกัน บางคนอาจจะนับวันที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ตนอยากให้สื่อมวลชนให้ความสำคัญในเรื่องความตั้งใจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หวังดีต่อบ้านเมืองและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อบ้านเมือง ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีเรื่องประโยชน์หรือความต้องการที่จะอยู่ต่อ เพราะหากบ้านเมืองมีความเรียบร้อยก็ไปได้ ส่วนตัวเชื่อว่าระยะเวลา 2 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุเป็นไปตามกรอบเวลาและสอดคล้องกับโรดแมปที่รัฐบาลปัจจุบันจะอยู่ไปจนถึงมีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะอย่าลืมว่ากว่าจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องนับเวลาเพิ่มอีก 6 เดือน

ขณะที่นายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนมองว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดเช่นนั้นไม่เหมาะ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประการ คือ 1. หาก พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่ออีก 2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับที่บางฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของการทำประชามติเรื่องทำปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก่อนประกาศการเลือกตั้ง สังคมอาจมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายดังกล่าวได้ 2. หากจะมีการขยายวาระการทำงานต่อจะทำให้คนเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การล้มร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้อยู่ต่อ เพราะหากนับตามโรดแมปใหม่ที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดรายละเอียดไว้ จะมีกรอบดำเนินงานไม่ถึง 2 ปี และ3. สังคมอาจตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งตามที่โรดแมปกำหนดไว้

นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า สำหรับการยืดกรอบเวลาโรดแมปที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้อาจอยู่ในส่วนของการทำกฎหมายลูกว่าด้วยการปฏิรูปออกไป 3-6 เดือน เพื่อให้การเขียนกฎหมายแล้วเสร็จในช่วงดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีกฎหมายสำคัญบังคับใช้ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อ เมื่อถามว่า คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นการอยู่ต่อ 2 ปี จะทำให้การทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียเปล่าหรือตายเปล่าตามที่ สปช.บางคนวิเคราะห์ไว้หรือไม่ นายเจษฎ์กล่าวว่า เชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากการลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนก็ได้รับการตอบรับ และแนวทางในการทำงานที่ผ่านมาเชื่อว่าสังคมโดยรวมจะมองเห็นและหากสังคมมองว่าเป็นข้อผิดพลาดก็จะทำให้คณะทำงานชุดใหม่ที่จะเข้ามาเกิดการเรียนรู้และทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่การเสียเปล่าแน่นอน

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตนไม่ทราบ แต่การทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ระยะเวลาทำงานหลังจากนี้ต้องนำคำขอแก้ไขจากทุกฝ่ายและทุกเรื่องมาพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ไม่ใช่การยึดติดหรือยึดว่าตนเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการปรับแก้ไขอย่างไร ขอให้รอดูเนื้อหาซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น