xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯเรียกประชุมครม.นัดพิเศษ สรุปประเด็นแก้รธน.57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ ( 25 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ในเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย รองนายกรัฐมนตรี และ ครม.เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเตรียมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 เพื่อรองรับการทำประชามติ หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านเรียบร้อย รวมถึงประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนด้วย

** ปชป.ส่งประเด็นแก้รธน.แล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือส่งถึงประธานกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยเน้นให้เห็นจุดยืนของหัวหน้าพรรค มี 1. ความเชื่อหลักการประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาชนมีส่วนร่วม 2. ส่งเสริมการมีหลักประกันขั้นพื้นฐาน การแสดงออกบนพื้นฐานความเชื่อของบุคคล 3. การถ่ายทอดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งไปสู่การกำหนดอนาคตประเทศ 4. หลักความเสมอภาค หลักนิติรัฐ นิติธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต 5. การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
นอกจากนี้ยังได้เสนอความเห็นหลายด้านคือ 1. สิทธิเสรีภาพประชาชน 2. กระบวนการทางรรัฐสภา 3 .ฝ่ายบริหาร การตรวจสอบถ่วงดุลย์และการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร 4 .องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และ 5. เสนอให้ทำประชามติ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดไม่ใช่ประโยชน์ของตัวเองหรือนักการเมือง แต่เพื่อส่วนรวม และไม่ได้คำนึงว่า ข้อเสนอดังกล่าวพรรคจะได้หรือเสียประโยชน์ เพราะจุดยืนของพรรคยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงฝากไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ให้แยกแยะข้อเสนอ ซึ่งบางส่วนอาจไม่ได้มุ่งให้รัฐธรรมนูญออกมาเพื่อความสุขของ ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ข้อเสนอของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หวังให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ และสมบูรณ์ที่สุด จึงขอเรียกร้องให้กรรมาธิการฯพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว ด้วยความจริงจัง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม

**ย้ำไม่เอาม.181-182และม.254

สำหรับตัวอย่างที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีการแก้ไข คือ มาตรา 182-182 เพราะเห็นว่า จะทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารทำไม่ได้ เปิดช่องให้นายกฯ หลีกเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ตลอดวาระ 4 ปี ซึ่งหากคิดในแง่ประโยชน์ทางการเมือง คงไม่เสนอแก้ไข เพราะน่าจะชอบที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ เมื่อไปเป็นฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้ขัดหลักการประชาธิปไตยที่พรรคไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีมากเกินไป จนอาจจะนำไปสู่การเหลิงอำนาจ เสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะสร้างวิกฤตประเทศอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังขอให้แก้ไข มาตรา 254 ที่กำหนดให้การถอดถอนใช้เสียง 3ใน 5 ของสองสภารวมกัน หากนายกฯ ตั้งรัฐบาลที่เกินกว่า 261 เสียงได้ ก็จะไม่ถูกถอดถอนเลย เพราะเสียงไม่พอให้ถอดถอน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ส.ไปมีส่วนร่วมในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอยากให้แยกแยะให้ชัดเจนว่า ข้อเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นประโยชน์ส่วนรวมตามหลักการที่ถูกต้อง
เช่นเดียวกับการตั้งคณะกรรมการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรค ได้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างความปรองดองควรยึดหลักกฎหมาย ถูกคือถูก ผิดคือผิด การตั้งกรรมการที่มีอำนาจล้นฟ้า ถึงขั้นก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หน่วยงานรัฐและพลเมือง ให้ต้องดำเนินการในทุกกรณี และยังเสนอตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษให้กับบุคคล ว่า จะเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความแตกแยกอีกครั้ง และเป็นการเปลี่ยแปลงกระบวนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในปปัจจุบันซึ่งมีความเหมาะสมอยู่แล้ว หากกรรมาธิการฯพิจารณาอย่างจริงจัง จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง จึงอยากให้นายบวรศักดิ์ แยกแยะในเรื่องเหล่านี้ด้วย

** วอนกมธ.ยกร่าง รับฟังเหตุผล

ส่วนกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายองอาจ กล่าวว่า มีหลายข้อความที่ควรจะนำมาขยายความให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เช่น ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพลเมือง ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคน และถ้าจะมีการตัดสิทธิพลเมืองต้องผ่านศพตนไปก่อนนั้น ตนอยากให้นายบวรศักดิ์ และกรรมาธิการฯ ใช้เหตุผลในการชี้แจงความเข้าใจสำหรับผู้ที่มีข้อเสนอที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแทนการใช้อารมณ์ในการทำงานกับคนจำนวนมาก ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความรู้สึกว่า น่าจะมีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญคืออะไรที่เป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้องเหมาะสม คงไม่มีใครคัดค้าน และตนพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับเชื่อว่ากรรมาธิการฯ มีเจตนาดีอยากทำรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ แต่ต้องฟังคนอื่นบ้าง เนื่องจากมีเนื้อหาที่ควรปรับปรุงแก้ไข
ดังนั้น การที่กรรมาธิการฯ จะไม่เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคน หรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเขียนเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยส่วนรวมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งต้องใช้เหตุผล ไม่ใช้ใช้อารมณ์ผสมกับการท้าทาย เพราะไม่ก่อประโยชน์ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญสมบูรณ์ได้รับการยอมรับจากประชาชน กรรมาธิการฯ จึงต้องแยกแยะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากหลายส่วนนั้น หากมีประเด็นที่ขัดเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องชี้แจงถกเถียงด้วยเหตุผล เชื่อว่าบรรยากาศแบบนี้ จะก่อให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าการใช้อารมณ์ผสมการท้าทาย
ส่วนกระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยสปช.นั้น นายองอาจ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปอยากให้ สปช. พิจารณาการปรับปรุงแก้ไขของกรรมาธิการฯ ก่อนว่า สุดท้ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร เมื่อถึงตอนนั้น สปช. จึงควรพิจารณาจะรับหรือไม่รับร่างนี้ ซึ่งยังมีเวลาพอสมควร ที่จะนำข้อเสนอส่งไปให้กรรมาธิการฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไข แม้จะไม่มีการขยายเวลาออกไปอีกสามสิบวัน ก็เชื่อว่ามีเวลาเพียงพอ แต่ถ้าขยายเป็น 90วัน ก็ยิ่งทำให้มีเวลาในการพิจารณา สปช. จึงไม่จำเป็นต้องด่วนตัดสินใจ ขอให้รอร่างสุดท้ายก่อน

**แฉมีขบวนการจ้องคว่ำร่างรธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ กำลังถูกขยายผล และบิดเบือนให้เป็นแรงต้าน หรือความไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญ จนอาจนำไปสู่การคว่ำ และร่างกันใหม่
กระแสไม่เห็นด้วย และวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าจะดูกันเป็นประเด็นๆ และเอาเหตุผลมากางอธิบายกัน โดยทำคำแปรญัตติ เทียบเคียง หรือตั้งข้อสังเกตที่เป็นเหตุเป็นผลก็พอฟังได้ แต่ที่ผิดสังเกตคือ บางคน บางกลุ่ม โจมตีแบบเหมารวม เหมาทั้งเข่ง ป้ายสีร่างรัฐธรรมนูญแบบเสียๆ หายๆ ก็มี
จนน่าสังเกตว่า มีขบวนการที่ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือไม่ก็ต้องการขู่คว่ำ เพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯ กลับไปรื้อ หรือเพิ่มเติมในประเด็นที่ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทุกฝ่ายพอใจหน้าตาเป็นอย่างไร และจะทำให้ทุกคนพอใจได้จริงหรือ
ส่วนที่น่าห่วงที่สุด และอาจถูกผสมโรงรื้อ หรืออาจมีการตัดทิ้ง คือ มาตราที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ขยายและเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองของพลเมืองเด่นชัดขึ้นมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา แต่กลับมีการส่งสัญญานจากผู้มีอำนาจบางคน และข้าราชการระดับสูง ต้องการให้กรรมาธิการยกร่างฯ ตัดประเด็นการเมืองภาคพลเมืองทิ้งหลายมาตราด้วยกัน
"ผมอยากเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยืนหยัดและปกป้องกลไกเหล่านี้ เพราะถ้าการเมืองไม่มีพื้นที่รองรับการมีส่วนร่วม และการตัดสินใจของภาคประชาชนแล้ว การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีความหวังใดๆ" นายสุริยะใส กล่าว

**จี้"บวรศักดิ์"ต้องทบทวนร่างรธน.

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุรรณโน ประธานคณะกรรมาธิการ ยกร่างฯ กล่าวในระหว่างการสัมมนาที่ จ.ขอนแก่น โดยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องการสร้างอนาคตให้กับประเทศ และประชาชนทั้งประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ร่างเพื่อนักการเมือง ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักคิดของนายบวรศักดิ์ แต่จากการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว กลับพบว่า ไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือสิทธิและพลเมือง ตามที่นายบวรศักดิ์ กล่าวอ้างเลย ในทางกลับกัน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครก็ไม่รู้ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่กลุ่มของนักการ เมือง อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายกล่าวหาค่อนข้างร้ายแรงว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยอีกด้วย ทั้งนี้หากยังไม่มีการแก้ไข ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็น หรือมีผู้เสนอแนะ ก็เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่ผ่านการลงประชามติอย่างแน่นอน
"อยากขอให้คุณบวรศักดิ์ และ กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจริง อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง หรือแน่มาจากไหน จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกในสังคมไทยเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และที่คุณบวรศักดิ์ บอกว่า ยอมให้ข้ามศพ เพื่อปกป้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ผมขอเสนอให้คุณบวรศักดิ์ ลาออก และไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ มากกว่าการยอมสละชีวิตเสียอีก" นายอุเทน กล่าว


**กมธ.ยกร่างฯ ชี้ข้อเสนอคว่ำร่างยังเร็วไป

พล.ท.นาวิน ดำริกาจนญ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่สมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ออกมาระบุว่า จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ต้องดูด้วยว่าเป็นความเห็นเชิงปัจเจก หรือความเห็นของสมาชิก สปช.โดยส่วนใหญ่ ซึ่งการระบุว่า จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในเวลานี้ คิดว่าเร็วเกินไป เพราะในขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ กำลังรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อยู่ ซึ่งจนกว่าจะถึงวันที่ 23 ก.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะทำตัวเป็นคนหูใหญ่ ปากเล็กไว้ก่อนเพื่อจะนำความเห็นที่ได้มาประมวลก่อนตัดสินแก้ไข แต่พอหลังจากวันที่ 23 ก.ค.แล้ว ก็จะถึงเวลาที่เราจะทำตัวเป็นคนหูเล็ก ปากใหญ่บ้าง
ทั้งนี้เชื่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญมีตำหนิจริง กมธ.ยกร่างฯ ก็คงไม่สามารถแกล้งทำตัวเป็นคนหูหนวก ตาบอด หรือไม่สนใจเสียงท้วงติงตำหนิต่างๆได้ อย่างกรณีที่มีข้อเสนอให้ปรับสัดส่วน ส.ส.ให้กลับไปเหมือนปี 2550 ก็ต้องมาพิจารณากันว่า เป็นข้อเสนอที่ถอยหลังหรือไม่ ส่วนเรื่องการทำประชามติคงต้องรอความชัดเจนจาก ครม. กับ คสช. ที่จะเป็นคนกำหนดรายละเอียดในการแก้ไขเพิ่งเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก่อนว่า จะกำหนดแนวทางใดระหว่างการนำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือ จะยกเว้นข้อบังคับหรือเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใดที่เป็นเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว รวมทั้งการกำหนดทางออกหากทำประชามติแล้วไม่ผ่านด้วย อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดหาก คสช.ครม.ตัดสินใจจะไม่ทำประชามติก็ถือเป็นสิทธิ หรือแม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นว่า หลักเกณฑ์ในการทำประชามติไม่เหมาะสมก็อาจจะตีกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ได้

** ปัดสปช.เตรียมคว่ำร่างรธน.

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่สมาชิก สปช.บางกลุ่ม เคลื่อนไหวเตรียมที่จะลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ทราบ และไม่ได้ยินเรื่องนี้ และคิดว่า ไม่น่าจะมี เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเข้าชื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่รู้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขส่วนไหนบ้าง ถ้าบอกว่าจะคว่ำไม่รับเลย คิดว่าไม่มีเหตุผล เพราะยังไม่รู้เลยว่า กมธ.ยกร่างฯ เขาจะแก้ไขยังไง และตรงไหนบ้าง ผมอยากรู้ว่าเป็นใครที่จะเดินหน้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะถ้า ตอนนี้บอกว่าจะคว่ำ แล้วจะมาแก้ไขกันไปทำไม
เมื่อถามว่า สปช.วางแนวทางการทำงานไว้อย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้โรดแม็พของรัฐบาลถูกยืดออกไป เนื่องจากเปิดช่องให้มีการทำประชามติ ประธาน สปช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้วางแนวทาง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ต้องรอให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขก่อน ตอนนี้ยังไม่มีการขยับการทำงานของ สปช.
กำลังโหลดความคิดเห็น