xs
xsm
sm
md
lg

“อลงกรณ์” ปัด สปช.จ่อคว่ำร่าง รธน. ยันไม่มีใครสั่งได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ วิป สปช.ปฏิเสธสมาชิกฯ เตรียมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ยันไม่มีใครสั่งได้ ระบุการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดว่าถ้าไม่เห็นชอบทั้ง สปช. กมธ.ยกร่างฯ ต้องตายตกไปตามกัน เหมือนบังคับกายๆ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์หลัก 3 ข้อ เชื่อ สปช.ก็กล้าที่จะตัดสินใจไม่รับร่างฯ

ที่รัฐสภา วันนี้ (22 พ.ค.) ตัวแทนกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทาลัยรามคำแห่ง นำโดยนายนันทพงศ์ ปานมาศ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิป สปช. และนายชาลี เจริญสุข สปช.ฉะเชิงเทรา เสนอแนวทางในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยคัดค้านกรณีร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้บุคคลภายนอกที่ไมได้มาจากการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่นายอลงกรณ์ระบุว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวไปแจ้งต่อประธาน สปช. และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับชี้แจงกรณีมีกระแสข่าวว่า สปช. เตรียมที่จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่มีใครสั่ง สปช.ได้ เราเกิดขึ้นภายใต้ภารกิจตามรัฐธรรมนูญ 2 ประการ คือ จัดทำรัฐธรรมนูญ และจัดทำแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อนำชาติเดินหน้าไปสู่ความมั่นคงยั่งยืน การที่มีกระแสข่าวดังกล่าวเป็นเพียงการคาดคะเน และถือว่าเร็วเกินไปที่ขณะนี้จะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสมาชิก สปช. ยื่นคำขอแก้ไข และมีถึง 8 กลุ่มคำขอ มีทั้งเรื่องที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. ซึ่งแต่ละคำขอก็จะมีการเสนอรายละเอียดที่หลากหลาย ดังนั้นที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการแก้ไขในเรื่องนั้นเรื่องนี้จึงยืนยันว่าเป็นเพียงความเห็นของสมาชิก สปช.คนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่าได้เข้าใจว่าเป็นความเห็นของ สปช.ทั้งหมด เพราะถ้าจะเป็นมติของสปช.ต้องทำกันในที่ประชุม สปช.เท่านั้น

นายอลงกรณ์ยังกล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นคณะทำงานด้านจัดคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สปช. ยืนยันได้ว่าขณะนี้คำขอแก้ไขและสาระของสมาชิกเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีสมาชิกเข้าชื่อครบทั้ง 8 กลุ่มแล้ว ดังนั้นการยื่นก็คงจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือเสร็จสิ้นวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะมีเวลา 60 วันในการพิจารณาคำขอจากภาคส่วนต่างๆ ก่อนที่จะมีการเสนอสุดทายให้ สปช.ภายในวันที่ 6 ส.ค.

“ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าหาก สปช.ไม่ให้ความเห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง สปช. และกรรมาธิการก็จะต้องตกตายไปตามกัน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็เหมือนบังคับกลายๆ ให้ สปช.ต้องโหวตรับร่างฯ ส่วนตัวยอมรับว่าอาจจะมีผลบางต่อการตัดสินใจของสมาชิก สปช.ที่จะโหวตรับหรือไม่รับร่าง เพราะหากไม่รับตนเองก็พ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่เชื่อว่าคงเป็นส่วนน้อย สมาชิกแต่ละคนยังมีความกล้าหาญและไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงยังเชื่อว่า สปช.จะโหวตไม่รับร่างหากไม่ตอบโจทย์ 3 ข้อคือ ร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจ และไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ”

นายอลงกรณ์กล่าวว่า หากที่ประชุม สปช.มีความเห็นโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ และมีการเดินหน้าทำประชามติ หากมาถึงขั้นตอนนี้ถือว่าพ้นภาระหน้าที่ สปช.แล้ว ถ้าประชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้ แต่ไม่เห็นชอบก็มีการดำเนินการได้หลายช่องทาง เช่น ยุบทั้ง สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ แล้วเริ่มกระบวนการใหม่ ตั้งแต่สรรหา สปช. สรรหากรรมาธิการกร่างฯ ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเสร็จแล้วอาจจะมีกรทำประชามติ ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี 2 เดือน หรือใช้ตามแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ถ้าไม่ผ่านก็เป็นอำนาจของ คสช.ที่จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สปช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อหากโหวตรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายอลงกรณ์กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีการเสนอแก้ไขในลักษณะดังกล่าวเพื่อเป็นชูชีพให้กับ สปช.ในการโหวต แม้จะมี สปช.หลายคนที่อาจจะห่วงสถานะของตนเองก็ตาม เพราะหากทำเช่นนั้นก็จะถูกครหาได้ว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์ตนเอง ตนเห็นว่าคนที่เป็น สปช.ต้องมีความกล้าพอที่จะมีจุดยืนของตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น