xs
xsm
sm
md
lg

“วันชัย” โว รธน.ผ่านแน่! คนเขียนกับ สปช.พวกเดียวกัน - “บุญถิ่น” ค้านยุบส่วนภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกวิป สปช.ยันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อคน 60 ล้าน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง เมินพวกไม่พอใจ โวผ่านแน่นอน อ้าง สปช.เป็นพวกเดียวกับ กมธ.ยกร่างฯ อย่ามโนจะคว่ำร่างเพื่อให้ คสช.อยู่ต่อ ระบุนำความเห็นประกอบการพิจารณาหมด เชื่ออภิปรายไม่เลอะเทอะ ด้าน “สปช.บุญถิ่น” ค้านยุบส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ไม่เอานายกฯ คนนอก หนุนประชามติ

วันนี้ (18 เม.ย.) นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาจะถูกคว่ำแน่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้คณะ กมธ.ยกร่างฯ และสปช.ร่างเพื่อประชาชน 60 กว่าล้านคน ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง 5 พันกว่าคน ต้องแก้ปัญหาประเทศ ป้องกันการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะอดีตนักการเมืองเหลวแลกจนบ้านเมืองป่นปี้มามาก นักการเมืองคนใดไม่พอใจจึงไม่ใช่สาระ แต่สาระอยู่ที่ประชาชน และประเทศชาติได้ประโยชน์อะไร เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องผ่านแน่นอน เพราะ กมธ.ยกร่างฯ มาจาก สปช. และสปช.ก็เป็นพวกเดียวกับ กมธ.ยกร่างฯ ทำงานร่วมกันอยู่ตลอด เป็นเนื้อเดียวกันทุกขั้นตอน ไม่มีเหตุใดให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เราทำงานเสียเวลามาแล้วเกือบปี จู่ๆ จะมาบอกว่าเราจะมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับรัฐบาลอยู่ต่อไปนั้น ขอให้นักการเมืองต่างๆ อย่ามโนกันมากนัก อย่าบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเทวดา เพราะบางคนที่ออกมาพูดยังไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ

ส่วนกรณีที่นายนิพิฏฐ์ระบุว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่เคยคิดพูดคุยกับนักการเมือง มีแต่คุยกันเองคิดกันเองนั้น นายวันชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเราฟังเสียงประชาชนตลอด นักการเมืองก็ฟัง แต่จะเชื่อหรือไม่เราจะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.มีประสบการณ์ มีสิติปัญญา มีบทเรียน มีข้อมูล สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อประเทศเราถึงทำตาม นักการเมืองเราเชิญมาหลายครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เชิญมา และยังไม่รวมเอกสารจากบรรดาพรรคการเมืองที่ส่งมาอีก เราเอามาประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหมด

นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนบรรยากาศการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ 20-26 เม.ย.นี้ แม้อาจมีบรรยากาศ ดุเด็ดเผ็ดมันคงเป็นด้วยเหตุผล จะไม่ใช้วาทกรรม ไม่มีประท้วงเสียดสี เหน็บแนมประชดประชัน อะไรที่นักการเมืองเคยเหลวไหลเลอะเทอะ จะไม่เอามาเป็นตัวอย่างโดยเด็ดขาด เชื่อว่าสมาชิกทุกคนมุ่งมั่นทุ่มเท ใครไม่ตั้งใจถือว่าตกขบวน แต่ดูทุกคนกระตือรือร้นศึกษา เจอใครก็พูดแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในการถ่ายทอดสด ทุกคนจะได้เห็นทุกระบวนการการอภิปรายโดยเปิดเผยโปร่งใส ไม่มีประชุมลับแน่นอน อะไรที่เป็นการเสียเวลาจะไม่ทำให้ยืดเยื้อโดยเด็ดขาด

ขณะบรรยากาศที่รัฐสภา หลังจากทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เปิดให้สมาชิก สปช.มารับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว เป็นวันที่ 2 ที่บริเวณห้องโถงชั้น 2 โดยตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมามีสมาชิก สปช. ทยอยเดินทางมารับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาชิก สปช.คนแรกที่เดินทางมารับร่างรัฐธรรมนูญ คือ นายชัยพร ทองประเสริฐ สมาชิก สปช.อำนาจเจริญ ทั้งนี้สมาชิก สปช.จะได้นำเอกสารร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อไปศึกษาและทำความเข้าใจ ก่อนที่จะเปิดให้อภิปราย และเสนอความคิดเห็น ในการประชุม สปช.ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ เพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯ นำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตามสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดให้ สปช.รับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จนถึงวันที่ 20 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขณะเดียวกันสมาชิก สปช.สามารถแสดงความจำนงขออภิปรายได้ด้วยตนเอง หรือส่งแบบแสดงความประสงค์ขออภิปรายได้ทางแฟกซ์หมายเลข 0-2244-1167 ด้วย

ด้านนายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ สมาชิก สปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า หลังจากรับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกไปแล้วจะนำไปศึกษาเพื่อเตรียมประเด็นในการอภิปราย จากการดูข้อมูลเบื้องต้นยังมีเรื่องที่ติดใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ในส่วนของการเมืองการปกครอง ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องการให้มีการยุบอำนาจการบริหารส่วนภูมิภาค ตนเห็นว่าส่วนภูมิภาคยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ในส่วนที่จะมีการกระจายอำนาจไปส่วนท้องถิ่นนั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการให้อำนาจส่วนท้องถิ่นมากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขัดกับหลักการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงร้อยละ 70 ส่วนที่ยังไม่เห็นด้วยคือเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ยังเป็นความคิดแบบสุดโต่ง และอยากเสนอให้ควรมีการเปิดกว้างให้มากกว่านี้ ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดการยอมรับ และใช้เป็นฉบับถาวรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น