รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซัด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหวังสืบทอดอำนาจ ชงตั้ง สปช.-สนช.นั่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ ขณะที่ประธาน สปช.ปฏิเสธลั่น อ้างแค่ให้งานขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อเนื่อง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 120 คน โดยมีที่มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 30 คน ว่าตนเคยพูดก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อ สปช.และสนช.ทำหน้าที่เสร็จแล้วคนเหล่านี้ก็จะแปลงร่างเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนใหญ่ไปเป็น ส.ว.สรรหา ที่ระบุว่ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และ 2. ต้องตั้งองค์กรอะไรขึ้นมาแล้วแต่จะตั้งชื่อเพื่อรองรับคนเหล่านี้ ก็ชัดเจนคือ สภาขับเคลื่อนฯ นี้ ถือว่าน่าเกลียดมากที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนเช่นนี้ เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่มีใครเขียนเพื่อรองรับอำนาจตัวเองหลังการร่างกติกาใหม่ ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ตนไม่ห่วงเท่าไหร่เพราะมีเพียง 5 คน
“ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปที่ต้องทำต่อให้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นหลักคิดที่ถูกต้อง และต้องเป็นพลวัตร แต่ควรจะให้มีการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลใหม่ก่อน แล้วค่อยทำการสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ นี้ หากเขียนเช่นนี้ ที่สุดจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับ และเกิดความขัดแย้งซ้ำขึ้นอีก เพราะที่มาต่างกัน คนมาจากประชาชนกับ สปช.หรือ สนช.ที่แต่งตั้งมา เหตุใดจึงไม่เอาคนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่นี้บ้าง และการที่ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.อยู่ทำหน้าที่ต่อหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ไปแล้ว 7 เดือน ยังไม่เพียงพออีกหรือในการสานต่อการปฏิรูป ผมไม่ขัดขวางการปฏิรูป แต่การเขียนอย่างนี้ ถือว่าทำเพื่อสืบทอดอำนาจชัดเจน”
นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า กรณีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเป็นเรื่องอยากได้ใคร่ดีของ กมธ.ยกร่างฯ สปช.และ สนช. เชื่อว่าที่สุดแล้ว คสช.จะไม่รับแนวคิดนี้แน่นอน แต่คาดว่าจะเอาหลักการที่ต้องปฏิรูปต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะหลายเรื่องที่ สปช.เสนอต่อรัฐบาล หรือ คสช.ก็ไม่เอา และหาก คสช.รับแนวคิดนี้เชื่อว่าจะเกิดปัญหาขึ้นแน่จากสาเหตุการไม่ยอมรับตัวบุคคล และจะเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งใหม่ ซึ่งจะขัดต่อหลักอำนาจพิเศษที่มาขัดจังหวะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้
ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ มีมติไม่รับข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้น ตนเห็นว่า เมื่อ กมธ.ยกร่างฯ เสียงส่วนใหญ่มีมติไม่รับข้อเสนอดังกล่าวก็ถือเป็นสิทธิของท่าน ถือว่าจบไปในเรื่องนี้ แต่หลายภาคส่วนที่ได้เสนอแนะโดยเกรงว่าจะเป็นข้อครหาว่าสืบทอดอำนาจก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะตัดสินซึ่งห้ามความคิดนี้ไม่ได้
ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 120 คนว่า เป็นหลักการที่ใช้ได้ มองว่าสภาดังกล่าวไม่ได้เป็นการแปลงร่าง สปช.ให้อยู่ทำหน้าที่ต่อ เพราะจะมี สปช.เพียง 60 คน ที่ไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อ เนื่องจากไม่สามารถทำเรื่องการปฏิรูปให้เสร็จได้ภายใน 1 ปี จึงต้องมีกลไกมาให้คำแนะนำหรือกำกับรัฐบาลใหม่ ที่จะมาดำเนินการเรื่องการปฏิรูปต่อไป ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมาย มีหน้าที่เพียงแค่การให้คำแนะนำ ปรึกษา เรื่องการปฏิรูปประเทศแก่รัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น จึงไม่ใช่การเปิดช่องให้ สปช.มาสืบทอดอำนาจต่อ แต่เป็นเพียงการสานงานต่อเรื่องการปฏิรูปเท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้ สปช.ชุดปัจจุบันเข้าไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานด้านปฏิรูป จะได้ไม่เสียของ หากใช้คณะกรรมการชุดใหม่มาทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯ ก็จะไม่เกิดความต่อเนื่อง เกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่าให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้
ส่วนกรณีการเขียนบทเฉพาะกาลให้ สปช.ชุดปัจจุบัน และ กมธ.ยกร่างฯ สิ้นสุดอายุลงในวันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากเดิมที่กำหนดให้พ้นวาระหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้นั้นยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าวมาก