xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ"แจงมี4ทางแก้รธน.ไม่ผ่าน "เทียนฉาย"แนะรื้อม.44

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"บวรศักดิ์"ยันไม่ได้ขอยืดเวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกไปอีก 30 วัน แต่ ครม. ให้มาเอง รอลุ้น สนช. เห็นด้วยหรือไม่ ย้ำหากไม่ผ่าน ก็จบ จะไม่กลับมาทำอีก "วิษณุ"แจงมี 4 ทางเลือก หากประชามติไม่ผ่าน รับทุกทางมีข้อดีข้อเสีย ต้องให้ ครม.-คสช. ตัดสินใจ "เทียนฉาย" แนะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องแก้อำนาจตามมาตรา 44 ด้วย โดยเฉพาะการใช้อำนาจ "บิ๊กป้อม"ชี้หากทำประชามติ ก็ต้องเลื่อนโรดแมปออกไป ไม่สน "แม้ว" วิพากษ์ทำงานไม่ประทับใจ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจาณาข้อเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิม 60 วัน ไปอีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วันว่า กรณีนี้ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้เป็นคนเสนอไป เข้าใจว่าทาง ครม. คงเห็นว่ากระบวนการยกร่างฯ เป็นเรื่องที่ฉุกละหุก จึงได้เสนอให้แก้ไขเพิ่มระยะเวลา

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลา 60 วันตามกำหนดการเดิม กมธ.ยกร่างฯ จะต้องพิจารณาแบบไม่มีวันหยุด น่าจะเป็นเหตุผลที่ ครม. เห็นว่าจะต้องแก้ไข เพื่อขยายเวลา ต้องรอดูว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเห็นด้วยกับการขยายระยะเวลาไปอีก 30 วันหรือไม่ หากมีการขยายเวลา จะทำให้กระบวนการทุกอย่างจะต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม ส่วนจะกระทบต่อวันลงมติรับร่างฯ ของสปช. ในวันที่ 6 ส.ค.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะจะมาพูดก่อนไม่ได้ เพราะ ครม. อาจจะเปลี่ยนใจ ไม่ขยายเวลาการทำงานให้กับกมธ.ยกร่างฯ ก็ได้

"ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการหารือว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นใด เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการรอคำขอแก้ไขจาก สปช. คสช. และ ครม. การที่กมธ.ยกร่างฯ บางคนออกมาแสดงความเห็นว่า จะมีการแก้ไขบางประเด็น ยืนยันว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เพราะสิ่งที่สำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องได้รับคำขอแก้ไขที่ถูกต้องมาก่อน จะพูดลอยๆ ไม่ได้ เหมือนกับยังไม่เห็นน้ำไปตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกไปโก่งหน้าไม้ ดังนั้น อย่าพึ่งมาถามว่าจะแก้อะไรบ้าง"นายบวรศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า ทางกมธ.ยกร่างฯ จะมีการเตรียมความพร้อมในการจัดทำประชามติหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรต้องเตรียม เพราะต้องเตรียมร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อน เมื่อร่างสุดท้ายเสร็จแล้ว และ สปช. ให้ความเห็นชอบ ค่อยมาพุดกัน แต่หาก สปช.ไม่เห็นชอบ ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรทั้งนั้น เนื่องจากต้องมีการตั้ง สปช.และกมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และตนก็จะไม่กลับมาแล้ว

ส่วนที่มี สปช.บางคนออกมาแสดงท่าที เสนอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นความเห็นของ สปช. แต่ละคน ตนก็เคารพ เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นออกมา แต่ถ้าไม่เห็นชอบ ก็ต้องรู้ผลว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ใช้เวลาอีกเกือบปี

**มี 4 ทางเลือกหากประชามติไม่ผ่าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการประชุมครม. วาระพิเศษในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของครม. ที่จะเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันเดียวกันว่า ไม่ถือว่ากระชั้นไป เพราะมีการเตรียมการไว้แล้ว วันดังกล่าว จะเป็นเพียงการนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นของ ครม. ส่วนใดที่ ครม.สงสัย ตนก็จะชี้แจง หากมีการยืนยันว่า จะต้องเพิ่มเติม ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก และสามารถส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ได้ทัน เพราะเทียบเคียงจากการพิจารณาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่เสนอความเห็นไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ก็ไม่มีข้อทักทวงอะไรมาก

"ยังตอบไม่ได้ว่า หากมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็นแล้ว จะต้องทำประชามติอีกหรือไม่ เพราะเมื่อแก้ไขแล้ว อาจเป็นที่พอใจของคนที่ออกมาต่อต้านในตอนนี้ก็ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงเป็นการเผื่อไว้ในกรณีที่มีผู้เรียกร้องให้ต้องทำประชามติ"

เมื่อถามว่า ที่สุดแล้วหากมีการตัดสินใจทำประชามติ แล้วประชามติไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า มันมีทางเลือกอยู่ว่าจะทำอย่างไร โดยต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะมีการแก้ไข ซึ่งมีคำตอบ แต่ไม่สามารถพูดในเวลานี้ได้ เพราะยังไม่ได้เลือกว่าจะใช้ทางไหน ต้องปรึกษากันหลายฝ่าย

เมื่อถามย้ำว่า ทางเลือกที่ว่ามีแนวทางอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า 3-4 แนวทางที่ว่า คือ กลับไปใช้กระบวนการเดิม ตั้ง สปช. กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ หรือตั้งกรรมาธิการ หรือกรรมการอะไรขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้ง สปช.ชุดใหม่ หรืออาจจะมอบให้ สนช. เป็นคนจัดทำ หรือให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหลายองค์กร ซึ่งในอดีตเคยใช้ทางเลือกนี้ ที่เขียนว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่าน ก็ให้ ครม. ร่วมกับใครก็แล้วแต่ อาจจะเป็น คสช. หรือไม่ก็ได้ หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง ซึ่งทางออกมันก็มีอยู่แค่นี้ และ ครม. คสช. ก็ต้องเลือกแนวทางใดทางหนึ่งขึ้นมา แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางไหน เพราะต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย หมดทุกทาง

**แนะพิจารณาอำนาจ ม.44 ด้วย

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีกติกาที่กำหนดไว้ว่า ต้องส่งร่างแก้ไขไปให้ สนช. พิจารณาเห็นชอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับร่างแก้ไข ส่วนตัวมองว่าเมื่อ คสช. และ ครม. มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว ควรที่จะพิจาณาแก้ไขเผื่อไว้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัด โดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งการทางปกครอง ตามมาตรา 44 กำหนดไว้

"ยอมรับว่า การใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สามารถแก้ไขปัญหาที่ในสถานการณ์ปกติทำได้ยาก หรือเกิดความล้าช้า เช่น การแก้ปัญหาโรฮีนจา การย้ายข้าราชการระดับสูง แต่ผมมองว่า ในการแก้ไขปัญหาในทางปกครอง ควรเน้นในการทำระบบ และกลไกที่มีความเหมาะสม และปรับให้มีความพอดี ซึ่งการใช้คำสั่งพิเศษสั่งในการปกครอง ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แต่ในที่สุดจะเป็นสิ่งที่ทำลายรากฐานประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างประชาธิปไตยใหม่ ควรทำให้เกิดระบบ และเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย"นายเทียนฉายกล่าว

ส่วนกรณีที่จะมีการตัดสินใจทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ต้องติดตามดู ขณะที่สปช. ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องต้องมีภาระงานเพิ่มเติม คือ การลงพื้นที่ให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเน้นในการสร้างความเข้าใจ และตอบข้อซักถามประชาชน มากกว่าการชี้นำว่าให้รับหรือไม่รับร่างฯ เพราะหากมีการชี้นำ อาจทำให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกยกไปโจมตีได้ ขณะที่การทำงานของ สปช. ในด้านการปฏิรูป ยังคงเดินหน้าตามกรอบเวลาที่ได้มีการกำหนดไว้ ไม่ถือว่า สปช.ได้รับการขยายเวลาเพิ่มเติมแต่อย่างใด

** เหล่าทัพปัดแสดงความเห็น

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า ได้หารือถึงกรณีที่รัฐบาล และ คสช. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดช่องให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ส่วนจะทำประชามติหรือไม่ ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่ และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีใครเสนอบ้าง ถ้าไม่เสนอก็ไม่ต้องทำ หากเสนอให้ทำ ก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้แล้ว ซึ่งผบ.เหล่าทัพก็คุยกันแค่ตรงนี้ และต้องปล่อยให้ผู้มีหน้าที่ทำการพิจารณาตามระดับขั้น

***ทำประชามติต้องเลื่อนโรดแมปออกไป

ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวว่า ครม.และ คสช. มีมติเอกฉันท์อย่างชัดเจนให้แก้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เพื่อเปิดช่องไว้ทำประชามติในอนาคต แต่ต้องรอผลประชุมของ สปช. ในวันที่ 6 ส.ค.ว่า จะมีมติโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ เพราะว่าก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ไม่ได้เปิดช่องให้ทำประชามติไว้ แต่ถ้าเสนอให้มีการทำประชามติก็ต้องเลื่อนโรดแมป คสช. ออกไป เพราะจะต้องไปจัดพิมพ์รัฐธรรมนูญกว่า 47 ล้านฉบับ เพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจ ก่อนจะลงประชามติ

เมื่อถามว่า ถ้ายืดระยะเวลาโรดแมปออกไป แปลว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดี รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่รู้ และยังไม่อยากพูด ถ้าตนพูดออกไป สื่อก็จะว่าตนมโน ดังนั้น ไม่พูดดีกว่า แต่ขั้นตอนการดำเนินงาน ต้องเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 และตามกรอบโรดแมป คสช. อย่างไรก็ตาม ตนไม่มีความกังวลใดๆ เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนการทำประชามติ ส่วนการแสดงความคิดเห็น ขออย่าทำให้เกิดความขัดแย้ง บางคนที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต ก็ต้องมาคุยกัน

***ไม่สน "ทักษิณ"ประเมินผลงานไม่ประทับใจ

พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงภาพรวมการทำงานครบรอบ 1 ปี คสช. นับแต่แต่ยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 ว่า ทำงานเหนื่อยมาทั้งปี ตอนไม่เป็นรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษา คสช. พอเป็นรัฐมนตรีก็ทำงาน ยืนยันทุกอย่างจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนจะพอใจหรือไม่ อยู่ที่ประชาชน และประชาชนก็เป็นผู้ตัดสิน

เมื่อถามถึง อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล และ คสช. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาไม่น่าประทับใจ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่ ท่านก็มองของท่านไป ไม่เป็นไร ท่านเป็นผู้ใหญ่ ก็มองไป

สำหรับ 1 ปีที่ใช้กฎอัยการศึก จนถึงมาตรา 44 ประเมินผลเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นการพยายามควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น