xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ระบุ 19 พ.ค.รู้ทำประชามติร่าง รธน.หรือไม่ หลัง ครม.-คสช.หารือกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผย ครม.-คสช.นัดหารือ 19 พ.ค.ควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ หรือไม่ บอก สปช.-สนช.เสนอแนะมาด้วยจะยิ่งดี ย้ำทำประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ใช้มาตรา 44 ไม่ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญส่งความเห็นว่าควรทำประชามติมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนเห็นข้อเสนอดังกล่าวแล้วซึ่ง ครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหารือร่วมกันในวันที่ 19 พ.ค. และถ้า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามาด้วยจะดีเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ ระบุให้ ครม.และ คสช.เป็นผู้คิดรูปแบบการทำประชามตินั้น ถ้าจะมีการทำประชามติต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว และไม่ใช่เขียนเพียงว่าต้องทำประชามติ แต่ต้องแก้ไขกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งหมด เพื่อให้สามารถทำประชามติได้ ส่วนที่มีการเสนอว่าการทำประชามติเป็นสิทธิของประชาชนตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ได้ให้คำตอบว่าจะทำประชามติเมื่อใด ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ยังใช้มาตรา 44 ไม่ได้ด้วย เพราะมาตรา 44 เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถลบล้างอำนาจที่เท่ากันในรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไว้ได้

“ถ้าจะทำประชามติมีสองขั้นตอน คือ 1. การแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดประตูให้ทำประชามติ และ 2. คือการลงมือทำประชามติ ไม่ใช่ทำได้ภายในอาทิตย์เดียว หากมีการทำคงจะเกิดเดือนธันวาคม หรือไม่ก็เดือนมกราคม ซึ่งเกินกรอบเวลาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงต้องรื้อกำหนดวันเวลาใหม่ เมื่อแก้แล้วต้องเขียนด้วยว่าให้มีการทำประชามติ และทำภายในกี่วัน นับตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเป็นผู้ดำเนินการ คงหนีไม่พ้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำคัญต้องกำหนดว่าหากทำประชามติแล้วผ่านหรือไม่ผ่าน จะเกิดผลอะไรตามมา ถ้าไม่ผ่านตัวอย่างก็มีเช่น กลับไปตั้ง สปช.และกมธ.ยกร่างฯ ใหม่ หรือนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือตั้งคนกลางขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน มีด้วยกันหลายทางเลือก อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่จะตกลงกันในวันที่ 19 พฤษภาคม”

ส่วนที่ โฆษก กมธ.ยกร่างฯ บอกว่าต้องใช้เวลาดำเนินการ 90 วันนั้น นายวิษณุกล่าวว่าต้องสอบถามไปยัง กกต.ด้วย เพราะการทำประชามติไม่เหมือนการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะหาเสียงเอง การทำประชามติ รัฐต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 47 ล้านคน และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้วย

ส่วนความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรทำประชามติหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ เพราะตนเป็นหนึ่งใน ครม. ถ้ามีการถามก็จะเป็นความเห็นของ ครม.ออกมา ไม่อยากพูดผ่านสื่อ และหากมีการทำประชามติเกิดขึ้น รูปแบบคำถามจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องมีการหารือในที่ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไปชี้นำก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเชื่อว่าจะมีความชัดเจนหลังวันที่ 19 พ.ค. ทั้งนี้ยอมรับว่าตนมีข้อเสนอที่จะแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในใจไว้บ้างแล้ว เพราะในที่ประชุมร่วมอาจมีคนถาม

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอที่ให้ตัดองค์กรต่างๆ ออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนยังไม่ขอพูดในตอนนี้เพราะมีข้อเสนอมาจำนวนมากว่าควรจะพิจารณาเรื่ององค์กรต่างๆ คงต้องนำมาทบทวนและชั่งน้ำหนักดู ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ ครม.และ คสช.เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิแก้ไข


กำลังโหลดความคิดเห็น