xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ไม่มีความเห็นประชามติ รธน.ขอฟัง ครม.ก่อน แนะรอดูมติ สปช. แย้มตั้งทีมศึกษาอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นายกรัฐมนตรี” เผยยังไม่ได้รับหนังสือ กมธ.ยกร่างฯ ขอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ระบุหากได้มาแล้วจะชงเข้า ครม.อีกครั้ง บอกไม่มีความเห็น ขอฟังก่อน ถ้าพูดเขาจะเกรงใจ คาดต้องแก้ฉบับชั่วคราวก่อน 6 สิงหา แต่อย่าให้มีฟ้องร้องกันอีก แนะรอดู สปช.ลงมติก่อน ถ้าผ่านก็เข้าสู่ขั้นตอนประชาธิปไตย ไม่รู้ 3 พันล้านคุ้มหรือไม่ ไม่เข้าใจสื่อถามกลับไปกลับมา แย้มตั้งทีมดูอยู่

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งความเห็นว่าควรทำประชามติมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) เรื่องการให้ทำประชามติ ยังไม่แน่ใจว่าอยู่ในระหว่างขั้นตอนการส่ง และไม่ใช่ว่าเมื่อมีการบอกออกอากาศผ่านสื่อมาแล้วตนจะได้รับ ตอนนี้ยังไม่เห็นหนังสืออะไรทั้งสิ้น ซึ่งขั้นตอนต่อไปหากได้รับหนังสือมาอย่างเป็นทางการแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วน ครม.จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็จะส่งเรื่องไปขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

เมื่อถามว่า ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างไรต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการหารือของ ครม. ส่วนความเห็นของตนคงบอกไม่ได้ ตนจะขอฟังความเห็นของ ครม.ก่อน ฟังความเห็นของคนอื่นก่อน จากนั้นจะเสนอความเห็นของตัวเอง

“ถ้าผมบอกก่อน คนใน ครม.ก็จะไม่กล้าออกความเห็นอย่างอื่น เขาก็จะเกรงใจผม ผมกลัวเกรงใจ บอกอะไรตอนนี้ไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า เท่าที่ดูจะเข้าช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำนาจมาตรา 46 จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่าใช่ คงต้องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วทำไมจะต้องมาถามอะไรกันอีก ส่วนจะแก้มาตราไหนตนไม่รู้ แต่ต้องแก้ให้ได้ ขอเพียงว่าอย่าให้มีเรื่องฟ้องร้องกันแบบคราวก่อน ในการแก้รัฐธรรมนูญก็มีเรื่องกัน

“แต่อย่าเพิ่งไปถึงตรงนั้นเลย เพราะวันนี้ยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ต้องมาดูกันอีกที ต้องรอการลงมติของ สปช. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งไปปรับแก้กัน มีการตั้งข้อสังเกต มีการปรับแก้ ถ้า กมธ.ยกร่างฯ สามารถปรับแก้ได้หมด เมื่อออกมาก็ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. และกลายเป็นมติของ สปช.ก็จะนำสู่ขั้นตอนต่อไป ซึ่งเรียกว่าเป็นการเดินเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้าอาจจะต้องทำประชามติก็ต้องทำ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มันก็เป็นการแก้ทีละขั้นตอน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเสียเงิน 3 พันล้านบาทเพื่อทำประชามตินั้นคุ้มค่าหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนไม่รู้ อยากจะเสียเงินกันหรือไม่ แล้วถ้าไม่อยากเสียเงิน ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญกันได้หรือไม่ เรื่องนี้จะมาถามตนทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องไปถามประชาชนเพราะเป็นผู้ลงประชามติ ไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว แล้ววันนี้ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อจะต้องมาถามกลับไปกลับมา ตอนแรกก็ถามเหมือนต้องการให้ทำประชามติ แต่วันนี้กลับถามว่าเสียเงิน 3 พันล้านบาทจะคุ้มหรือไม่ เรื่องนี้ตนจะต้องเป็นคนตอบอย่างนั้นหรือ ต้องเป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะเสนอเข้ามาว่าจะทำหรือไม่ จะแก้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า จะใช้เงิน 3 พันล้านบาทคุ้มหรือไม่ วันนี้ไม่ใช่ความต้องการของตนเป็นความต้องการของทุกภาคส่วน ของแม่น้ำทุกสาย และทุกภาคส่วน ถ้าอยากทำประชามติก็ทำไป ถ้าจะต้องเสียเงินมันก็ต้องเสีย ถ้ามันจะต้องกลายเป็นความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า ใครควรจะต้องชี้แจงถึงความคุ้มค่าในการเสียเงิน 3 พันล้านบาททำประชามติถึงข้อดีและข้อเสียต่างๆ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ถ้า กมธ.เสนอเข้ามาก็ต้องนำมาหารือใน ครม. จากนั้น ครม.ก็จะเป็นคนเสนอว่าจะทำประชามติหรือไม่ จะต้องมีผู้เสนอเข้ามา และหากจะมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเสนอก่อนวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เพราะ สปช.จะลงมติพิจารณาว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 สิงหาคม ก็ต้องหารือกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร จะต้องมีการเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้าหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายก็ต้องมีการหารือกัน

เมื่อถามว่า ครม.จะลงรายละเอียดถึงรูปแบบการทำประชามติด้วยหรือไม่ว่า จะทำแค่รับหรือไม่รับ หรือมีรายละเอียดอย่างอื่นด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็คงต้องปรึกษาใน ครม.และคสช.

“ใน คสช.ของผมมันเป็นทหารทั้งหมด ไม่ใช่นักกฎหมายสักคน ดังนั้นการทำประชามติจะต้องมีการกำหนดว่าทำประชามติเรื่องอะไร แค่ไหน อย่างไร มันไม่ใช่ผมคนเดียว และไม่ใช่ คสช.เพียงฝ่ายเดียวด้วย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า เมื่อจะต้องเสียเงินสามพันล้านบาทแล้วจะมีการหารือถึงข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ที่เสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “หากใครมีข้อเสนออะไรก็ให้เสนอเข้ามา ถ้าเป็นข้อเสนอของคนส่วนใหญ่ ก็จะมีการพิจารณากัน ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ผมไม่รู้ ซึ่งจะมีคณะทำงานในเรื่องการทำประชามติดูแลอยู่ โดยมีฝ่ายกฎหมายมาร่วมด้วย เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หาก ครม.เห็นชอบก็จะนำไปสู่ผู้ที่ทำประชามติ ซึ่งเดิมเป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งทาง กกต.ก็คงต้องคิดไว้ด้วย ก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญซึ่งทาง กกต.มีการร่างกันไว้ก่อนในส่วนหน้าที่ของเขา แต่ถ้าผมพูดอะไรไปตอนนี้ ว่าต้องการจะใส่อะไรเพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นว่าผมต้องการจะอยู่ในอำนาจ ผมก็ไม่รู้ว่าในเรื่องอำนาจทำไมจึงสนใจกันนักก็ไม่รู้ วันนี้ผมใช้อำนาจอะไร ถามหน่อยซิ”

เมื่อถามว่า ถ้ามีการทำประชามติแสดงว่าโรดแมปจะต้องขยายเวลาใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไรเล่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ใช่หรือไม่ แล้วต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ที่มีการเขียนกันไว้ไปดูรายละเอียดกันเอาเอง ไม่ตอบแล้ว จำไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่า ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีไม่อยากจะอยู่ในตำแหน่งต่อใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เอ๊ะ ไอ้นี่พูดประหลาดเว้ย อยากหรือไม่อยากจะมาถามผมได้อย่างไรแบบนี้ ไม่อยากซักอย่าง ไม่อยากมายืนอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรกแล้ว เอาแล้วไง”









กำลังโหลดความคิดเห็น