xs
xsm
sm
md
lg

มติ กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบเสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ประชุมปรับแนวทางร่วม และคุยร่างกฎหมายลูก 12 ฉบับ และ พ.ร.บ.15 ฉบับ ก่อนมีมติเห็นชอบประชามติร่างรัฐธรรมนูญ "เลิศรัตน์" เตรียมส่งข้อเสนอให้นายกฯ แก้ รธน.ชั่วคราว ม.46 วันนี้ ชู 5 เหตุผล ควรให้เจ้าของอำนาจมีส่วนร่วม แถมฉบับปี 50 ทำบรรทัดฐานไว้แล้ว หวังได้แจงเนื้อหาให้ชาวบ้านฟัง คาดโหวตได้ปลายปี "คำนูณ" ปัดกดดัน คสช. ไม่กังวลหากพรรคการเมืองรณรงค์ไม่รับร่าง ส่วนข้อเสนอ "ไพบูลย์" แก้ ม.308 ให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่ได้คุย "บวรศักดิ์" รับเซ็นแล้ว แต่ยังไม่รู้ใช้รูปแบบใด

วันนี้ (13 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 08.30 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เป็นประธานการประชุมกรรมาธิการ โดยมีวาระเพื่อหารือปรับแนวทางการทำงานร่วมกันของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนดำเนินการอย่างไร จำนวน 12 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา, คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, การออกเสียงประชามติ เป็นต้น และร่างพระราชบัญญัติที่จำเป็นต้องตราขึ้นตามร่างรัฐธรรมนูญ 15 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสมาคมการเมือง, สภาตรวจสอบภาคพลเมือง, สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ, คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ, คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม, การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรบริหารท้องถิ่น, สมัชชาพลเมือง, คณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรของรัฐ, การเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. มีความเห็นให้จัดทำกฎหมายลูกหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติเห็นชอบให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการหารือในภาพรวมถึงเหตุผลการให้มีการจัดทำประชามติ แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียดถึงวิธีการจัดทำ และคาดว่าจะมีการแถลงข่าวเป็นทางการในช่วงบ่ายวันนี้

ต่อมาภายหลังการประชุม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่กรรมาธิการมีมติร่วมกันให้ส่งข้อเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามมาตรา 46 เพื่อเปิดทางให้มีการออกเสียงประชามติ โดยจะจัดส่งข้อเสนอภายในวันนี้(13 พ.ค)

พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุเหตุผลที่ควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 5 ประการ คือ 1 ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นสัญญาประชาคม 2. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ 3. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติ จึงเห็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ใหม่ ควรจะทำประชามติเช่นกัน 4.เป็นโอกาสสำคัญที่กรรมาธิการยกร่างฯจะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและนักการเมืองได้เข้าใจ และ 5. เนื่องด้วยการบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญก็ควรมีการออกเสียงประชามติเช่นกัน

“คาดว่าการตัดสินใจและดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม และครม.และคสช. จะเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์หน้า ซึ่งหากมีการออกเสียงประชามติหลังจากสปช.มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องให้เวลาประชาชนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญในระยะเวลา 90 วัน หลังแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ จึงคาดว่าการลงคะแนนเสียงประชามติจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี”พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ด้านนายคำนูณ ย้ำว่า การส่งข้อเสนอนี้ไม่ได้เป็นการกดดัน เป็นเพียงข้อเสนอเชิงหลักการ ซึ่งการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนไปถึงรูปแบบการออกเสียงประชามติ ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจร่วมกันของ ครม.และคสช. พร้อมไม่กังวลหากมีพรรคการเมืองรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขอให้แก้ไขเนื้อหาบทเฉพาะกาลมาตรา 308 เพื่อดำเนินการประชามติว่าควรปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งจะมีผลให้ฝ่ายผู้มีอำนาจในแม่น้ำสายต่างๆ จะอยู่ในอำนาจอีก 2 ปี นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องนี้ และแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า วันนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเรื่องการตั้งอนุกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จำเป็น โดยมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จำเป็น โดยจะประสานงานกับสปช. เพื่อให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมาธิการแต่ละคณะอย่างเป็นทางการ

จากนั้น เมื่อเวลา 12.30 น.นายบวรศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า ได้ลงนามในหนังสือเสนอให้ทำประชามติเรียบร้อยแล้วในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนรูปแบบของการทำประชามติจะเป็นแบบใดนั้น ทางกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้เสนอไป เพราะเป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จะตัดสินใจเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น