xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ-วิปสปช.เห็นพ้อง ประชามติร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 08.30 น. วานนี้ (13พ.ค.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เป็นประธานการประชุมกรรมาธิการ โดยมีวาระเพื่อหารือ ปรับแนวทางการทำงานร่วมกันของกรรมาธิการยกร่างฯ และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนดำเนินการอย่างไร จำนวน 12 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา , คณะรัฐมนตรี , คณะกรรมการการเลือกตั้ง , การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ , การออกเสียงประชามติ เป็นต้น และร่าง พ.ร.บ. ที่จำเป็นต้องตราขึ้น ตามร่างรัฐธรรมนูญ 15 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสมาคมการเมือง , สภาตรวจสอบภาคพลเมือง , สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ , คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ , คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม , การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรบริหารท้องถิ่น , สมัชชาพลเมือง , คณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรของรัฐ , การเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีความเห็นให้จัดทำกฎหมายลูก หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ ได้มีมติเห็นชอบ ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการหารือในภาพรวมถึงเหตุผลการให้มีการจัดทำประชามติ
ภายหลังการประชุม พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พร้อมด้วย นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แถลงว่า ที่กรรมาธิการมีมติร่วมกัน ให้ส่งข้อเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตามมาตรา 46 เพื่อเปิดทางให้มีการออกเสียงประชามติ โดยจะจัดส่งข้อเสนอภายในวันเดียวกันนี้ (13 พ.ค)
พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุเหตุผลที่ควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 5 ประการ คือ 1. ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบ เพื่อเป็นสัญญาประชาคม 2. เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของพลเมือง ในร่างรัฐธรรมนูญ 3. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติ จึงเห็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ใหม่ ควรจะทำประชามติเช่นกัน 4. เป็นโอกาสสำคัญ ที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนและนักการเมืองได้เข้าใจ และ 5. เนื่องด้วยการบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีการออกเสียงประชามติเช่นกัน
" คาดว่าการตัดสินใจและดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามมาตรา 46 ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่ง ครม. และ คสช. จะเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ หากมีการออกเสียงประชามติหลังจากสปช. มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องให้เวลาประชาชนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญในระยะเวลา 90 วัน หลังแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญ จึงคาดว่า การลงคะแนนเสียงประชามติจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี"
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึง กรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอแก้ มาตรา 308 ให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปีก่อนแล้วค่อยเลือกตั้งว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นข้อเสนอของนายไพบูลย์ และในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ แต่หากเสนอญัตติเข้ามา กมธ.ยกร่างฯ ก็พร้อมรับมาพิจารณา แต่เชื่อว่า เรื่องนี้ทำได้ยาก ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบจาก กมธ.ยกร่างฯ และคสช. เพราะจะกระทบต่อโรดแมป และยากที่จะนำมาปฏิบัติ จะส่งผลกระทบในหลายด้าน ส่วนที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นข้อเสนอเพื่อสืบทอดอำนาจ ตนไม่อยากให้มองแบบนั้น คิดว่าเป็นข้อเสนอที่บริสุทธิ์ใจของนายไพบูลย์ ที่อยากจะให้เกิดการปฏิรูปประเทศ
ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า การส่งข้อเสนอให้มีการทำประชามตินี้ ไม่ได้เป็นการกดดัน เป็นเพียงข้อเสนอเชิงหลักการ ซึ่งการตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว จนไปถึงรูปแบบการออกเสียงประชามติ ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจร่วมกันของ ครม. และ คสช. และไม่กังวล หากมีพรรคการเมืองรณรงค์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อเสนอของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขอให้แก้ไขเนื้อหา บทเฉพาะกาล มาตรา 308 เพื่อดำเนินการประชามติว่า ควรปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งจะมีผลให้ฝ่ายผู้มีอำนาจในแม่น้ำสายต่างๆ จะอยู่ในอำนาจอีก 2 ปี นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องนี้ และแนวคิดนี้ ไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเรื่องการตั้งอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จำเป็น โดยมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น อนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่จำเป็น โดยจะประสานงานกับ สปช. เพื่อให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมาธิการแต่ละคณะ อย่างเป็นทางการ
ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ตนได้ลงนามในหนังสือเสนอให้ทำประชามติเรียบร้อยแล้ว ในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ส่วนรูปแบบของการทำประชามติ จะเป็นแบบใดนั้น ทางกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้เสนอไป เพราะเป็นเรื่องของคสช. และครม. จะตัดสินใจเอง

** ต้องแก้รธน.57 ปลดล็อกโรดแมป

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวบรวมความเห็นหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่าในวันนี้ (14 พ.ค.) จะประชุมกับคณะทำงานเพื่อศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยขณะนี้ความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ส่งมาเกือบครบแล้ว นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น อาทิ องค์กรอิสระ ประชาชน พระ นักวิชาการ ส่งความเห็นมาด้วย ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอแนะที่ดี
"ผมรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากกมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 60 วัน ในการแก้ไข หากมีการขอแปรญัตติมาก กมธ.ยกร่างฯ จะไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ดังนั้นอาจจะต้องสอบถามว่า มีส่วนใดที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อขยายเวลาในการแปรญัตติของ กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่สามารถขยายเวลาออกไปได้มาก เพราะจะทำให้ทุกอย่างนั้นยืดเวลาออกไป" รองนายกฯ กล่าว
ส่วนจะมีการตัดเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวเกินไปหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ครม. จะส่งความเห็นเรื่องดังกล่าวไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่ร่างไปให้ เพราะถ้าหากร่างไป คนอาจจะคิดว่ามีพิมพ์เขียว โดยเราจะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เช่น ต้องการให้ตัดสมัชชา หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนออกไป เพราะจะก่อให้เกิดปัญหา และต้องการให้เขียนรัฐธรรมนูญ ให้มีความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ตนได้จัดประเด็นเป็นหมวดหมู่ ก่อนส่งไปยังกมธ.ยกร่างฯ ประกอบด้วย 1. ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ความมีชัดเจน เพราะอาจก่อให้เกิดการตีความ และทะเลาะกัน เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ 2. ควรตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป โดยนำไปใส่ในกฎหมายลูกแทน เพราะการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขลำบาก 3. มีบางหลักการในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรจะมีอยู่ เช่น การมีสภาฯ หรือสมัชชาต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งยังเปลืองงบประมาณ และ 4. ต้องเปลี่ยนใหม่ในบางเรื่อง บางประเด็น ซึ่งเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะเห็นด้วยในบางประเด็น เพราะทั้ง 36 คน ความเห็นนั้นไม่ตรงกันทั้งหมด
เมื่อถามถึงกรณี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเปิดอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะมีความเห็นเรื่องการทำประชามติด้วย จะถือเป็นการกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใครจะเสนอให้ทำประชามติ บอกมาที่รัฐบาลได้ ไม่ได้กดดัน เพราะรัฐบาลไม่สามารถออกตัวได้ว่า อยากทำ เนื่องจากคนอาจจะมองว่า อยากอยู่ต่อ อีกทั้งการทำประชามติ ยังมีต้นทุน ใช้งบประมาณสูง นอกจากนี้ยังทำให้ระยะเวลายืดออกไปอีกประมาณ 3 - 4 เดือน
นายวิษณุ ยืนยันว่า หากไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่สามารถทำประชามติได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีการล็อกเวลาไว้ ทั้งการแปรญัตติ การลงมติเห็นชอบของ สปช. รวมถึงการทูลเกล้าฯ ซึ่งหากมีการทำประชามติ เท่ากับว่าไปเปลี่ยนกำหนดเวลาของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ นอกจากกระบวนการทำ เวลาในการทำ และใครเป็นผู้กำกับดูแล และถ้าผ่านหรือไม่ผ่าน จะต้องทำอย่างไรต่อ โดยทั้งหมดต้องเขียนม้วนเดียวจบ ในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข

** เชื่อกมธ.ยกร่างฯไม่เอาแนวคิด"ไพบูลย์"

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำประชามติสอบถามประชาชนว่า ควรปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ว่า ตนไม่มีความเห็น ไม่ใช่ความคิดของรัฐบาล และยังอ่านไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ ว่าเขาพูดอะไร ยังฟังไม่ได้ศัพท์ว่าเอาอะไร อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว เขาต้องการให้เอามาเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่วันนี้เรายังไม่ไปถึงขั้นนั้น จะเขียนก็เขียนไป เสร็จแล้วถ้ามีประชามติ ก็ไปลงประชามติกัน แต่ข้อสำคัญคือ กมธ.ยกร่างฯ อาจไม่เอาด้วยก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดเวลาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอไม่ตอบ ต้องไปถามคนที่เสนอ รัฐบาลไม่ได้เป็นคนเสนออะไรทั้งสิ้น และจะไม่มีวันเสนอ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความคิดบางท่าน สปช. มีตั้ง 250 คน ก็บรรเจิดของท่านไปเรื่อย เมื่อถามว่าเป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่รู้ ไม่ใช่โยนหินแล้วดินถล่มนะ แลนด์สไลด์"
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกรณี สปช.บางส่วน จะแปรญัตติ แก้ไข มาตรา 308 หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ให้จัดทำประชามติ เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง เพราะดูแล้วมากเกินไป ทำอะไรให้จบเร็วๆไปก็ดี ถ้ายืดเยื้อมากไปจะเป็นที่ครหาได้ ดูแล้วไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาปฏิรูปมากถึง 2 ปี เพื่อไปปฏิรูปด้านต่างๆ หรือทำกฎหมายลูกให้เสร็จสมบูรณ์
" หากทำร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุดในทีเดียว เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องมาสานต่อการปฏิรูปอยู่แล้ว แต่ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาไม่เป็นที่ยอมรับ แล้วยังมายืดเวลาออกไปอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูป และออกกฎหมายลูก จะยิ่งเกิดปัญหาตามมาไม่จบ เลือกตั้งเสร็จ ก็ต้องมาขอแก้รัฐธรรมนูญกันอีก จะวุ่นวาย กลายเป็นเรื่องใหญ่" นายดิเรกกล่าว และว่า ข้อเสนอดังกล่าว ทำให้คนคิดได้หลายแง่มุม เรื่องนี้คงมีการถกเถียงกันมากพอสมควร เพราะในสปช.ก็มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย มีสปช.หลายคนก็อยากอยู่ในตำแหน่งต่อไปนานๆ

** วิปสนช.หนุนประชามติทั้งฉบับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ วิปสปช. แถลงภายหลังการประชุมวิปสปช. ว่า เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง วิปสปช. ประธานกรรมาธิการ 18 คณะ และคณะกรรมาธิการกระบวนการอีก 5 คณะ เพื่อหารือถึงเรื่องการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า
1. เห็นด้วยกับการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2. การออกเสียงประชามติดังกล่าว ควรเป็นการลงประชามติทั้งฉบับ ภายหลังสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว 3. กระบวนการออกเสียงประชามติ ต้องรอบคอบ รอบรู้ และต้องทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสาระ และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ โดย สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ พร้อมเป็น 2 หน่วยงานสำคัญ ในการให้ความรู้กับประชาน และ 4. หน่วยงานที่จะมาดำเนินการ ต้องวางกติกาและกฎเกณฑ์ให้โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีการยกตัวอย่างด้วย เช่น แนวทางการออกเสียงประชามตินั้น ควรจะต้องมีระยะเวลาให้ประชาชนได้ศึกษาก่อน ไม่น้อยกว่า 90 วัน หรือทำเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญกว่า 40 ล้านฉบับ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนลงเสียงประชามติ โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมในวันจันทร์ ถึงวันพุธ ในวาระปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แต่จะยังไม่กำหนดว่า จะมีการหารือผลการประชุมในวันนี้ในที่ประชุมสปช.ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานสปช. ที่จะเป็นผู้กำหนดเวลาในการบรรจุในระเบียบวาระ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะดำเนินการยกร่างได้ หลังวันที่ 6 ส.ค.58 โดยจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และ 2. กฎหมายปฏิรูป โดยในส่วนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะดำเนินการหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบแล้ว ขณะที่กฎหมายปฏิรูปนั้น อาจจะมีการแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของการจัดทำกฎหมายปฏิรูป โดยอาจจะเพิ่มในบทเฉพาะกาล รวมถึงในบางหมวดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เนื้อหาใน ภาค 4 เรื่องการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองของรัฐธรรมนูญนั้นสั้นลงด้วย

**แนะลดเนื้อหารธน.ไปใส่ในกม.ลูก

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานกรรมาธิปการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า การเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ จะมี 2 ส่วน ประกอบด้วย ความเห็นของสมาชิก ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และอีกส่วนจะเป็นความเห็นของประชาชน พรรคการเมือง และ นักวิชาการ ซึ่งจะเชิญมาร่วมเสนอแนะ ในวันที่ 15 พ.ค. และ 18 พ.ค. นี้ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนที่จะไปสรุปร่วมกับกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ตามกรอบเวลา
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้ปรับลด ร่าง รธน. จาก 315 มาตรา เหลือประมาณ 100 มาตรานั้น สามารถทำได้ด้วยการตัดเนื้อหาย่อยไปใส่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทน ซึ่งกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ได้มีการร่างไว้แล้ว
สำหรับข้อเสนอการทำประชามติ นายสมบัติ แสดงความเห็นว่า สามารถทำได้ 2 แบบ จะก่อนบังคับใช้ หรือหลังบังคับใช้รธน.ใหม่ ก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องแก้รธน.ชั่วคราว ให้สามารถดำเนินการได้ก่อน ส่วนกรณีการเตรียมทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็ต้องศึกษารายละเอียดในข้อกฎหมาย ขั้นตอนการดำเนินการให้ชัดเจนก่อน โดยต้องไม่ขัดกับรธน.ชั่วคราว ที่บังคับใช้อยู่ รวมถึงต้องไม่ขัดแย้งกับเนื้อหาของร่าง รธน. ฉบับใหม่ด้วย

** กกต.พร้อมทำประชามติ

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักง่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เรื่องการทำประชามติ จะต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล และ คสช.ก่อนว่าจะมีการทำประชามติ หรือไม่ หากทำ จะให้มีการดำเนินการอย่างไร แต่กกต.ในฐานะหน่วยงานผู้ปฏิบัตินั้น ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการทำประชามติไว้แล้ว ตั้งแต่ช่วงหลังจากการทำประชามติ รัฐธรรมนูญปี 50 และเรามีแผนในการทำประชามติไว้แล้ว ทั้งในเรื่องของการจัดการ การออกเสียงประชามติ และเรื่องการให้ความรู้
นอกจากนั้น ก็ยังมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการจัดเลือกตั้งไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเลือกตั้งแบบเดิม หรือเป็นการเลือกตั้งแบบโอเพนลิสต์ ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อม ส่วนเรื่องจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามตินั้น ก็ไม่มีปัญหา เพราะกกต.มีการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ และข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตลอดเวลา อยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น