xs
xsm
sm
md
lg

เล็งขอแก้ม.308ทำประชามติ ปฏิรูปก่อนอีก2ปีค่อยเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12พ.ค.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงข่าว เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่าง รัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยเพิ่มข้อความ ให้ในวาระเริ่มแรก นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติ ภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศ เป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้ง หากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ทั้งนี้ ในกรณีผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ต้องเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปีนั้น เป็นเวลาที่เหมาะสม ฝ่ายที่ไม่ชอบ ก็พอทนได้ เพราะถือว่าไม่นานจนเกินไป ถ้านานกว่านี้ ประเทศก็จะเสียหาย ยืนยันว่า การเสนอแก้ไขให้มีข้อความดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับการต่ออายุ สปช. และ สนช. แต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสในประชาชนทั้งประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดทิศทางประเทศว่า จะปฏิรูปเลือกตั้งก่อนหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นประชาชน ถ้าส่วนใหญ่ให้เลือกตั้งก่อน ก็ดำเนินการไปตามโรดแมป แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยว่า ให้ปฏิรูปก่อน ก็ต้องดำเนินการไปตามที่ประชาชนต้องการ
อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะกมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถร่วมลงยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมด้วย แต่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวนี้ และจะนำไปเสนอในกมธ.ยกร่างฯ ต่อไป
ขณะที่นายวรวิทย์ กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการทำประชามติตามคำขอแก้ไขที่พวกตนเสนอ ไม่ได้เป็นผลที่จะให้ สปช.อยู่ต่อไป แต่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน พวกตนแค่คิดให้ โดยหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบ สปช.จะไม่ได้อยู่ต่อ เพราะบทบาทการปฏิรูปต่อไป จะอยู่ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ขณะนี้มีสมาชิก สปช. ที่ลงชื่อสนับสนุนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกลุ่มดังกล่าวครบแล้ว 26 คน แต่ตนกับ นายศิระ หลังจากนี้จะต้องนำคำขอแก้ไขดังกล่าวไปหารือกับสมาชิกในกลุ่มว่า มีความเห็นอย่างไร
ส่วน นายศิระ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นประชาชน พบว่าประชาชนต้องการปฏิรูปบ้านเมืองก่อน จะมีส.ส.หรือไม่ ประชาชนไม่ได้สนใจ แต่สนใจว่าบ้านเมืองจะเกิดความสามัคคีได้อย่างไร ซึ่งต้องปฏิรูปก่อน เพื่อวางกรอบให้อนาคตหลังจากมีการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะผู้นำการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกลุ่มดังกล่าว กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนำเสนอขอแก้ไขดังกล่าวเข้ามายังกลุ่ม แต่ทางกลุ่มจะเปิดให้สมาชิกทุกคน ได้นำเสนอประเด็นอย่างเป็นอิสระ ส่วนจะเป็นมติที่เห็นร่วมกันหรือไม่ จะต้องรอการประชุมหารือกันในวันที่ 18 พ.ค.นี้
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวถึงข้อเสนอ นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรณีทำประชามติ ให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปในประเด็นสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนให้มีการเลือกตั้ง ทั้งยังไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะการปฏิรูปก็เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว และตอนที่คสช. ยึดอำนาจมา ก็ไม่ได้ถามความคิดเห็นใคร ซึ่งหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยที่การปฏิรูปยังไม่สำเร็จ ประชาชนจะวิจารณ์ได้ว่า รัฐประหารมาทำครึ่งๆ กลางๆ ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง จะรัฐประหารให้เสียของไปทำไม
"แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้สปช.อยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไป เพราะสังคมจะมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ โดยคสช. และครม. สามารถทำหน้าที่ปฏิรูปด้วยตนเองได้ หรืออาจจะตั้งหน่วยงานหรือองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน สปช. แต่คราวนี้ไม่จำเป็นต้องให้มีสมาชิกมากขนาด 250 คน เอาสัก 50 - 100 คนก็พอ แล้วกำหนดให้อยู่ปฏิรูปประเทศอีก 1-2 ปี" นายวันชัย กล่าว

** "คำนูณ"ค้านสปช.ขอแก้ไข ยืดโรดแมป

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยืดระยะเวลา ซึ่งในเป็นไปตามโรดแมปที่ คสช.ได้วางไว้ ซึ่งหากประเด็นใดที่จะกระทบต่อกรอบการทำงาน ควรเป็นหน้าที่ของคสช. ที่จะไปพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ขณะที่การทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีกระแสข่าวระบุว่า ในหนึ่งกลุ่มบางประเด็นไม่ได้รับความยินยอมจาก สปช.ทุกคนในกลุ่ม แต่แบ่งเป็นเสียงข้างมาก ข้างน้อย แล้วได้ส่งประเด็นคำขอแก้ไขให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาตัดสินใจนั้น ตนมองว่าประเด็นดังกล่าวอาจถูกนำไปเป็นข้อท้วงติงว่า การเสนอคำขอนั้น ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนด และทำให้คำขอทั้งกลุ่มตกไป
อย่างไรก็ตาม มี สปช.บางคนได้เข้ามาสอบถามกับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ถึงเงื่อนไขการทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่า ในหลักการของการแปรญัตติ ต้องได้รับความเห็นร่วมกัน และประเด็นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ในลักษณะเสียงข้างมากข้างน้อย

** ยังไม่สรุปขั้นตอนการทำกม.ลูก

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษา และโฆษคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า การประชุมในวันที่ 13 พ.ค. นี้ จะเป็นการหารือในเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากทางสปช. มีความเห็นว่า ควรให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก่อน จึงค่อยดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ที่ประชุมต้องการที่จะขอฟังความเห็นของ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก่อน เพื่อที่คณะอนุกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จะได้นำความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา ว่าจะดำเนินการจัดทำต่อไป หรือจะให้มีการชะลอไว้ก่อน เพื่อรอให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมถึงความรวดเร็วในการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วย
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. กล่าวถึงความคืบหน้า การจัดกลุ่มคำขอแก้ไข 8 กลุ่ม ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่แต่ละกลุ่ม กำลังปรึกษาหารือกัน บางกลุ่มกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเขียนญัตติ เพราะสามารถตกลงประเด็นได้แล้ว และบางคณะอยู่ในขั้นตอนที่ให้ได้สมาชิกเสนอข้อแก้ไข แล้วก่อนจะนำส่งให้ทางคณะทำงานได้ประมวล หลังจากมีการประมวลครบถ้วน จึงจะนำมาเขียนญัตติต่อไป คาดอาจจะเรียบร้อยภายในสัปดาห์หน้า ส่วนประเด็นที่แต่ละกลุ่มจะกำหนดนั้น ตนไม่ทราบ เพราะถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละกลุ่ม ส่วนใหญ่คาดว่า เป็นเรื่องการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ สภาพลเมือง สมัชชาประชาชน สมัชชาคุณธรรม สภาขับเคลื่อนในการปฏิรูป และเรื่องปรองดอง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ๆ ของทั้ง 8 กลุ่ม ที่คาดว่าจะมี
กำลังโหลดความคิดเห็น