xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ชงสูตรใหม่ แก้ร่าง รธน.ม.308 ทำประชามติ ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน (แฟ้มภาพ)
สปช.เสนอแนวทางใหม่ แนะแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ม.308 ให้ กกต.ทำประชามติใน 90 วัน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ในประเด็นควรมีการปฏิรูปประเทศ ก่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่หนุนปฏิรูป ให้ดำเนินการภายใน 2 ปีแล้วจึงจัดการเลือกตั้ง ยันไม่เกี่ยวต่ออายุ สปช. เพราะต้องสิ้นวาระหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้อยู่แล้ว เล็งถกหาข้อสรุปก่อนยื่นขอแก้ไข 18 พ.ค.



นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายศิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยให้บัญญัติเพิ่มเติมในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่ประการใช้รัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก่อนที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้ง หากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสองปี นับจากวันที่มีการออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้วจึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ ในกรณีผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากไม่ให้ความเห็นชอบ ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่ต้องเสนอให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง 2 ปีนั้น เป็นเวลาที่เหมาะสม ฝ่ายที่ไม่ชอบก็พอทนได้ เพราะถือว่าไม่นานจนเกินไป ถ้านานกว่านี้ประเทศก็จะเสียหาย ทั้งนี้ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขให้มีข้อความดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการต่ออายุ สปช., สนช.แต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดทิศทางประเทศว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือไม่ ถือว่าเป็นความเห็นของประชาชน ถ้าส่วนใหญ่ให้เลือกตั้งก่อนก็ดำเนินการไปตามโรดแม็ป แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยว่าให้ปฏิรูปก่อนก็ต้องดำเนินการไปตามที่ประชาชนต้องการ อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถร่วมลงยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมด้วย แต่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวนี้และจะนำไปเสนอใน กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป

ขณะที่นายวรวิทย์กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการทำประชามติตามคำขอแก้ไขที่พวกตนเสนอไม่ได้เป็นผลที่จะให้ สปช.อยู่ต่อไป แต่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน พวกตนได้แต่คิดให้ โดยหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบ สปช.จะไม่ได้อยู่ต่อ เพราะบทบาทการปฏิรูปต่อไปก็จะอยู่ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ขณะนี้มีสมาชิก สปช.ที่ลงชื่อสนับสนุนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกลุ่มดังกล่าวครบแล้ว 26 คน แต่ตนกับนายศิระ หลังจากนี้จะต้องนำคำขอแก้ไขดังกล่าวไปหารือกับสมาชิกในกลุ่มว่ามีความเห็นอย่างไร

ด้านนายศิระกล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนพบว่า ประชาชนต้องการปฏิรูปบ้านเมืองก่อน จะมี ส.ส.หรือไม่ ประชาชนไม่ได้สนใจ แต่สนใจว่าบ้านเมืองจะเกิดความสามัคคีได้อย่างไร ซึ่งต้องปฏิรูปก่อนเพื่อวางกรอบให้อนาคตหลังจากมีการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะผู้นำการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกลุ่มดังกล่าวกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนำเสนอขอแก้ไขดังกล่าวเข้ามายังกลุ่ม แต่ทางกลุ่มจะเปิดให้สมาชิกทุกคนได้นำเสนอประเด็นอย่างเป็นอิสระ ส่วนจะเป็นมติที่เห็นร่วมกันหรือไม่ จะต้องรอการประชุมหารือกันในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น