xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอยุธยาแห่ร่วมเวทีเผยแพร่ รธน. กมธ.ยกร่างฯ ฉะวัวสันหลังหวะโวย กลัวถูกสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เวทีเผยแพร่ร่าง รธน. อยุธยาจัดเป็นจังหวัดที่ 3 ปชช.ร่วมกว่า 4 พันคน กมธ.ยกร่างฯ ปัดยุบองค์กรท้องถิ่น แต่ปรับให้เกิดประสิทธิภาพ ย้ำลดเหลื่อมล้ำ ชี้คอร์รัปชันต้นตอวิกฤต ต้องยกระดับ ปชช.เป็นพลเมืองคอยตรวจสอบ ฉะพวกโวยเป็นวัวสันหลังหวะ เผย พท.-ปชป.กลัว รธน. หวั่นเกษตรกรมีปากเสียงขึ้น โยน ครม.-คสช.ประชามติ พร้อมให้ ปชช.ทำแบบสอบถาม รธน.

วันนี้ (6 พ.ค.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดเวที “เผยแพร่ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน” เป็นจังหวัดที่ 3 ในทั้งหมด 12 จังหวัด 12 เวที โดยจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา มีประชาชนเข้าร่วมฟังกว่า 4,000 คนเศษ โดยมีนายประชา เตรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานจัดงาน วิทยากรประกอบด้วย นายปรีชา วัชราภัย รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ รวมทั้งนางกอบกุล พันธุ์เจริญวรกุล สปช.อยุธยา

พล.อ.เลิศรัตน์ได้แจกแจงว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกรอบจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โดยเฉพาะมาตรา 35 โดยบัญญัติให้เน้นกลไกป้องกันนักการเมืองที่ทุจริต ป้องกันนโยบายประชานิยม สร้างกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกกล่าวขวัญถึงหลายมุมมอง บางท่านก็ว่ายาวมาก มีกฎกติกาใหม่ๆ มีองค์กรใหม่หลายองค์กร เหตุผลคือเมื่อย้อนหลังไปหลายปีบ้านเมืองเกิดปัญหาความขัดแย้งจนมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและการปรองดอง ทำให้ต้องมีภาคการปฏิรูปและการปรองดอง 2 หมวด และเมื่อร่างเสร็จเราก็พบว่ามีเนื้อหาหลัก 4 ส่วนคือสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองสุจริตและสมดุล ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมสันติสุข

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการเน้นย้ำในเวทีนี้ คือ ความห่วงกังวลว่าจะมีการเข้าใจผิดว่าจะมีการยุบผู้ว่าราชการจังหวัด ยุบเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนท้องที่ หรือยุบเลิก อบต. อบจ. โดยนายปรีชา วัชราภัย รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่าเป็นการปรับรูปแบบโครงสร้างการบริหารให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ได้ไปยกเลิกหน่วยงานใดในโครงสร้างการปกครองทั้งสิ้น

นายคำนูณกล่าวถึงสาระในส่วนของการปฏิรูปและการสร้างปรองดองว่าบ้านเมืองเราตอนนี้เหมือนเรือไททานิกเจอกับภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่จากความขัดแย้งที่แบ่งเป็นกลุ่มเหล่า เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยมีรากฐานมหึมาที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำคือความเหลื่อมล้ำทางโอกาสจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ทุกกลุ่มที่ออกมาประท้วงจึงเรียกร้องตรงกันว่าจะต้องมีการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 จึงกำหนดว่าต้องเน้นลดความเหลื่อมล้ำเพราะบ้านเมืองจะกลับมาขัดแย้งจนหยิบอาวุธมาฆ่าฟันกันไม่ได้อีกแล้ว

นายประชากล่าวว่า ต้นน้ำวิกฤตของบ้านเมืองอยู่ที่การคอร์รัปชัน การทุจริตการเลือกตั้ง และปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน เราเคยให้โอกาสนักการเมืองมา 82 ปีแล้ว แต่ไม่เคยใช้อำนาจเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มีแต่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง เราจึงต้องยกระดับของประชาชนมาเป็นพลเมือง เพราะประชาชนในท้องถิ่นรู้แก้ใจดีว่าในพื้นที่ใครโกงใครสุจริต จึงได้ออกแบบให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นยามเฝ้าเหตุ เป็นสมัชชาพลเมือง เป็นองค์กรตรวจสอบภาคพลเมือง และไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น แต่ตรวจสอบไปถึงข้าราชการด้วย

“ที่ออกมาโวยวายว่ามีองค์กรตรวจสอบเยอะแยะทำไมเป็นพวกวัวสันหลังหวะ ถามว่าคนสุจริตกลัวทำไมการตรวจสอบ” นายประชากล่าว และว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปไตยสามัคคีกันมาเพราะกลัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดทางให้ชาวนาทั่วประเทศ ชาวส่วนยางทั่วประเทศจับมือกันจดทะเบียนกับ กกต. เป็นกลุ่มการเมืองได้

ในช่วงของการแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามประชาชนนั้น นายกล้าณรงค์ อาจหาญ ผู้ใหญ่บ้าน อ.ท่าเรือ สอบถามว่าร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 285 และมาตรา 82(3) เรื่องจังหวัดจัดการตนเองจะกระทบต่อผู้ว่าฯ นายอำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้หายไปในวันเดียวหรือไม่ นายปรีชาชี้แจงว่า เป็นเรื่องการปกครองท้องถิ่น ไม่เกี่ยวกับราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องที่ซึ่งยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีผู้สอบถามเรื่องการทำประชามติ โดย พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวตอบว่า เรื่องประชามติไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงไม่เกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างฯ แต่หาก ครม. หรือ คสช.เห็นควรทำก็เป็นเรื่องของท่าน แนวโน้มจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนหากต้องทำประชามติ และใช้เวลา 3 เดือนเศษให้ประชาชนศึกษาเนื้อหาก่อนลงประชามติ

นายประชากล่าวว่า ตนในฐานะคนมหาดไทยขอยืนยันว่า ระบบการปกครองของไทยมีรากเหง้า คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องให้อาณาจักรเป็นหนึ่งเดียว และตนจะไม่ทรยศต่อรากเหง้าดังกล่าว

นอกจากวิทยากรที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ จะบอกเล่าสาระสำคัญหลักๆ ของร่างรัฐธรรมนูญแล้วยังมีแบบสอบถามหนึ่งแผ่นให้ผู้เข้าร่วมกรอก โดยในส่วนของความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีคำถามที่น่าสนใจ อาทิ จุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติม เห็นชอบกับการจะมีประชามติหรือไม่ ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิหรือหน้าที่ และให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในระหว่าง 0-10 คะแนน

นายสิริพงษ์ พงษ์พานิชย์ ผอ.เลือกตั้ง กกต.อยุธยา เปิดเผยด้วยว่า นอกจากเวทีระดับจังหวัด 12 เวทีทั่วประเทศแล้ว แต่ละจังหวัดยังมีเวทีย่อยระดับอำเภอ อย่างที่ จ.พระนครศรีอยุธยาจะมี 11 เวทีใน 16 อำเภอ เชิญประชาชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเวทีละ 80-120 คน ว่าเห็นอย่างไรก็แนวทางการปฏิรูป 18 ด้าน โดยเวทีระดับอำเภอดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วม สปช.ที่มีนายประชา เตรัตน์ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน

“ที่ผ่านมาจัดไปแล้ว 5 เวที มีเสียงสะท้อนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะความต้องการให้แก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง โดยเสียงชาวบ้านบอกว่าอยากให้ กกต.มีอำนาจจัดการการทุจริตการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด เช่น ตัดสิทธิตลอดชีวิต ยึดทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งต้องการให้ทุกส่วนราชการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง นอกนั้นเป็นเรื่องความเดือดร้อนใกล้ตัว เช่น การแก้ปัญหาหนี้สินการเกษตร เป็นต้น” นายสิริพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น