xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ โต้เกี้ยเซี้ย สปช. ยันแก้หลักการ รธน.ไม่ได้ ปัดปูทางฟอกผิด “แม้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” โต้ กมธ.ยกร่างฯ เกี้ยเซี้ย สปช. คุยนอกรอบแค่ทำความเข้าใจ โยน “เลิศรัตน์-สุจิต” แจงเลือกตั้ง-ภาพรวมการเมือง พร้อมให้เวลาคณะแปรญัตติ แจงครึ่งวัน ปัดให้ สปช.ร่วมร่าง กม.ลูก อ้างทำเลือกตั้งช้า ลั่นอำนาจร่าง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ในภาค 4 ไม่ได้ปูทาง “ทักษิณ” กลับไทยอย่างเท่ๆ “สุจิต” ย้ำแก้หลักการ รธน.ไม่ได้ หวั่นกระทบจนเกิดปัญหา หวัง สปช.เห็นชอบ

วันนี้ (10 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพบกันระหว่างคณะกรรมาธิการฯกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เป็นการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างกรรมาธิการฯ กับ สปช.เพราะหากมองเช่นนั้นก็เป็นการหมิ่นเกียรติ สปช.มากเกินไป ตนเชื่อว่าทุกคนมีความเห็นเป็นของตัวเองไม่มีใครเกี้ยเซี๊ยะ หรือขอร้องได้ เป็นความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเท่านั้น เพราะ สปช.เรียกร้องว่าอยากคุยนอกรอบกับ กรรมาธิการยกร่างฯจึงดำเนินการตามประสงค์ของ สปช. ไม่ได้มีการแทรกแซงสิทธิในการตัดสินใจของ สปช.แต่อย่างใด

สำหรับประเด็นที่ สปช.ถามมาก็ได้มีการชี้แจงในบางประเด็น เพราะส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นมากกว่า ส่วนที่ สปช.ติดใจภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี-สถาบันการเมืองกันมากนั้น ก็ยังคงเป็นประเด็นเดิมที่มีการวิจารณ์กันก่อนหน้านี้ ซึ่ง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการฯ จะเป็นตัวหลักในการชี้แจงระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และนายสุจิต บุญบงการ รองประธานกรรมาธิการฯ จะดูแลภาพรวมส่วนการเมืองทั้งหมด

ส่วนถ้ามีการแปรญัตติตามที่มีการวิจารณ์ในขณะนี้ กรรมาธิการฯจะทบทวนหรือยืนตามแนวทางเดิมของกรรมาธิการที่ร่างไว้นั้น นายคำนูณกล่าวว่า ต้องดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้งจากของ สปช. คณะรัฐมนตรีและ คสช.ก่อน เพราะยังไม่ได้หารือกัน เนื่องจากหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ก็จะให้เจ้าหน้าที่รวบรวมคำขอแปรญัตติมาจัดทำเป็นตารางจากนั้นจะเชิญผู้ขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมดมาชี้แจงคณะละ 3-4 ท่าน ให้เวลาคณะละครึ่งวัน จากนั้นก็จะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่

นายคำนูณยังกล่าวถึงกรณีที่ สปช.บางส่วนติดใจประเด็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปและคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 ว่า กรรมาธิการฯจะชี้แจงตามหลักการที่แถลงมาโดยตลอดว่า รัฐธรรมนูญนี้แตกต่างจากฉบับอื่นเพราะจะมีความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศที่ริเริ่มโดย สปช. แม้จะมีรัฐบาลตามปกติแต่การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจะเดินหน้าต่อไป ส่วนองค์ประกอบที่มาของกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จะกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะรับฟังความคิดเห็นต่อไป

สำหรับกรณีที่ สปช.ต้องการมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า คงไม่สามารถทำได้ เพราะในบทเฉพาะกาลระบุให้เป็นการกระทำของคณะกรรมาธิการฯและส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเลย เพื่อความรวดเร็ว เพราะหากต้องส่งให้ สปช.พิจารณาแก้ไขเพื่มเติมจะต้องบวกวันเวลาเพิ่มเข้าไป เนื่องจากเดิมที่กำหนดไว้คือหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้และนับตั้งแต่ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สนช.แล้วจะมีการเลือกตั้งภายใน 180 วัน ถ้าต้องเพิ่มขั้นตอนการพิจารณาของ สปช.อีกจะทำให้ระยะเวลาการเลือกตั้งเนิ่นนานออกไป

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการส่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้ สปช.ได้พิจารณาโดยสรุป 1 วัน ก่อนที่จะส่งให้ สนช.แต่ไม่ได้ให้มีการแปรญัตติแก้ไข เป็นการรายงานให้ทราบเท่านั้น แต่ถ้าจะเพิ่มขั้นตอน สปช.เข้าไปอีกก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เนื่องจาก สปช.ไม่ได้ทำหน้าที่รัฐสภาจึงไม่เคยตั้งกรรมาธิการไปพิจารณาร่างกฎหมายหรือแก้ไขเพิ่มเติมมาก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สปช.เป็นห่วงว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญค่อนข้างกว้าง บทบังคับต่างๆ จะไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงอยากมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผ่านการพิจารณาของ สนช.อยู่แล้ว จึงต้องให้เกียรติและไว้วางใจ สนช.ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนรัฐสภาด้วย แต่ถ้าจะให้มีความรอบคอบขึ้นแล้วเห็นว่าต้องผ่าน สปช.ก่อน ก็จะดูว่าจะผ่านในรูปแบบอย่างใด เช่น ให้ สปช.พิจารณา1 วัน แล้ว กรรมาธิการฯมาพิจารณาปรับแก้ภายใน 7 วัน คล้ายกับร่างกฎหมายฉบับอื่นที่ผ่าน สปช.ไป แต่คงต้องหารือกันก่อน

เมื่อถามว่า เป็นการมัดมือชก สปช.หรือไม่ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการลงมติแล้ว สปช.กลับไม่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่อ้างมาตลอดว่าเป็นแม่น้ำที่ต้องไหลไปด้วยกัน นายคำนูณกล่าวว่า อย่าคิดอย่างนั้น สาเหตุที่กรรมาธิการฯเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพราะกรรมาธิการฯอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก จึงมีการตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญคู่ขนานไปด้วยเพื่อให้เกิดความรวดเร็วมีผลบังคับใช้ได้ทันหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ โดยก่อนหน้านี้ก็มีการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอยู่แล้ว รวมทั้ง สปช.ด้วย

สำหรับกรณีที่มีการทบทวนถ้อยคำในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในมาตรา 1 โดยตัดศาลออกจากความผูกพันในภาคนี้และเปลี่ยนคำว่า “ก่อให้เกิดหน้าที่” เป็น “ก่อให้เกิดความรับผิดชอบ” จะมีการทบทวนอำนาจของคณะกรรมการปรองดองที่สามารถร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขกรณีให้ความจริงหรือสำนึกผิดต่อกรรมการปรองดองหรือไม่นั้น นายคำนูณกล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาแต่ถ้ามีการขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาก็พร้อมพิจารณาอยู่แล้ว ทั้งนี้ความจำเป็นที่กรรมการปรองดองต้องมีอำนาจในการร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นความจริงก็แค่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเท่านั้น หากไม่มีอำนาจเลยก็จะทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร แต่อำนาจในการตัดสินใจเป็นเรื่องของ ครม.และส่วนที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวถามแย้งว่า กรณีคณะกรรมการปรองดองไม่มีบทบัญญัติรองรับว่าหาก ครม.ไม่ปฏิบัติตาม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้รายงานต่อสภาและสุดท้ายให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำประชามติ ในขณะที่คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจกว้างขวางโดยไม่ได้มีการจำกัดให้ ครม.ตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้ นายคำนูณกล่าวว่า ในส่วนของภาค 4 อาจจะไม่ออกมาตามร่างแรกทั้งหมด เพราะต้องดูปฏิกิริยาของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ ครม. คสช.และ สปช.ที่จะเสนอแก้ไข รวมทั้งความเห็นประชาชนและผู้สื่อข่าวว่ามีประเด็นใดที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจหรือไม่สมบูรณ์ก็จะนำมาพิจารณาในทุกประเด็นเพื่อความรอบคอบ

นายคำนูณยืนยันว่า ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรมในร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่ร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษเป็นขั้นตอนที่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นก็มีระยะเวลาและหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการปรองดองจะพิจารณา ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เขียนไว้ต้องเกิดขึ้นอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

เมื่อถามว่า อำนาจของคณะกรรมการปรองดองจะกลายเป็นประตูเปิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศไทยโดยไม่มีความผิดหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า คงไม่ใช่แน่นอนเพราะไม่ได้มีจุดมุ่งหมายออกกฎหมายอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ การระบุให้เป็นอำนาจของกรรมการปรองดองอภัยโทษกับคนที่สำนึกผิดหรือให้ข้อเท็จจริงกับกรรมการนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อสำนึกผิดแล้วจะได้รับการอภัยโทษทุกราย เช่น มาสิบรายอาจได้รับการอภัยโทษเพียงแค่สองถึงสามรายเท่านั้น ทั้งหมดอยู่ที่เงื่อนไขการที่มีคณะกรรมการปรองดองเพื่อเปิดเวทีแก้ปัญหาส่วนจะแก้ได้หรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองทำงานไป หากยังคงร่างเดิม แต่ถ้ามีการปรับแก้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการแปรญัตติและการพิจารณาของกรรมาธิการฯ

นายคำนูณยังยืนยันว่า อำนาจในการให้อภัยโทษของคณะกรรมการปรองดอง ไม่ถือว่าเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เพราะแค่เสนอส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้เกณฑ์ในการกำหนดการอภัยโทษจะไม่เหมือนหลักเกณฑ์ปกติเพราะขึ้นอยู่กับกรรมการปรองดองนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น แต่ต้องรอให้เกิดคณะกรรมการปรองดองก่อน ซึ่งสาธารณชนจะตรวจสอบได้ จึงอยากให้รอดูร่างสุดท้ายก่อน โดยหลังสงกรานต์ก็คงไม่มีความคืบหน้าอะไรเพิ่มเติม เพราะในวันที่ 17เมษายนจะส่งร่างอย่างเป็นทางการให้ สปช.รับไปศึกษาอย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมอภิปรายในวันที่ 20-26 เมษายน ส่วนการเผยแพร่ต่อสาธารณะน่าจะเป็นหลังวันที่ 20 เมษายน

ด้านนายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแสดงความเห็นว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการในร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นความเห็นส่วนตัวไม่ใช่มติของที่ประชุม เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลักการ การแก้ไขหลักการเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนกรรมาธิการฯ คิดอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตนเห็นว่าเมื่อมีหลักการแล้วถ้าจะใช้หลักใหม่เข้ามาก็เกรงว่าจะมีปัญหา โดยหลักการที่ต้องคงไว้ เช่น การปกครองในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบเลือกตั้ง การบริหารงานก็ต้องให้สอดคล้องกับระบบรัฐสภา

เมื่อถามว่า กรณีที่มานายกที่มีการโต้แย้งมากถือเป็นหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ นายสุจิตกล่าวว่า ถ้าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการปกครองในระบบรัฐสภาก็สามารถคุยกันได้ เพราะบางมาตราที่ไปกระทบต่อหลักใหญ่ที่ทำให้การทำงานลำบากก็ต้องมาพิจารณา ทั้งนี้ส่วนตัวมีความหวังว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านการเห็นชอบของ สปช.


กำลังโหลดความคิดเห็น