กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งการต่ออายุ สปช.อีก 7 เดือน ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้อยู่ต่อสานปฏิรูปประเทศ ยันครอบงำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ เผยพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสองพรรคการเมืองใหญ่ แต่แต่ไม่ใช่ต้องเชื่อฟังถ้าข้อเสนอไม่หนักแน่น ระบุมีแค่พรรคใหญ่เท่านั้นที่ค้าน เพราะระบบเลือกตั้งให้พรรคกลาง-เล็กมีที่ยืน
วันนี้ (8 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายระบุว่าการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติ และการที่กรรมาธิการยกร่างฯและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องทำหน้าที่อยู่ต่ออีก 7 เดือนหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ เป็นการสืบทอดอำนาจว่า เราไม่ได้สืบทอดอำนาจหรือต่ออายุตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. ต้องทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญอย่างน้อย 12 ฉบับ ดังนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.จะต้องอยู่ต่อหลังจากที่รัฐธรรมนูญใช้ไปแล้ว 210 วัน หรือ 7 เดือน คือก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องอยู่ต่อจนถึงวันที่มี ส.ว. คือ ราว 240 วัน หรือ 8 เดือน
ส่วนการที่กรรมาธิการยกร่างฯ ออกแบบให้มีสภาขับเคลื่อนและกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยมี สนช.และ สปช.เป็นสมาชิกด้วยนั้น เพราะเห็นว่า สปช.เป็นผู้ริเริ่มงานด้านการปฏิรูปประเทศซึ่งมีผลงานมาจากคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ และได้นำบางส่วนลงในรายมาตราในรัฐธรรมนูญภาคที่ 4 มีอยู่ประมาณ 10 กว่ามาตราเท่านั้น จึงให้สานต่อ ส่วนการวิจารณ์ว่าควรให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่นั้นก็ดี แต่ต้องยอมรับว่าจะให้คนใหม่เข้ามาทำโดยสานงานต่อจากที่คนอื่นทำไว้อาจจะไม่เข้าใจดีพอเราจึงเปิดช่องให้ทั้ง สปช.และ สนช. และผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปร่วมเป็นสมาชิกของสภาดังกล่าวซึ่งเป็นการออกแบบที่บริสุทธิ์ใจ โดยให้แยกออกจากการบริหารของฝ่ายบริหาร แต่ทิศทางในการปฏิรูปให้เป็นช่องทางพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบางครั้งก็ต้องคำนึงถึงฐานเสียงของพรรคการเมือง จึงยากที่จะดำเนินการตามทิศทางของการปฏิรูปให้สำเร็จ และยืนยันว่าสภาขับเคลื่อนกับกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่สามารถครอบงำการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะต้องใช้เสียง 3 ใน 4 อีกทั้งต้องทำประชามติรับฟังความเห็นของคนทั้งประเทศซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคณะทำงานติดตามการปฏิรูปของ คสช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ระบุว่ากรรมาธิการยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาต่อสังคมอย่างน้อย 6 ข้อ นายคำนูณกล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ เคารพและรับฟังความเห็นของทุกส่วน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีเหตุผลสามารถชี้แจงได้ในทุกข้อท้วงติง แต่จะระบุว่าใครถูกหมดหรือผิดหมดคงไม่ได้ ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นแค่ร่างแรกที่ยังสามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุม สปช.นัดแรกก่อนวันที่ 17 เม.ย. 58 ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ จะเริ่มทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในต้นสัปดาห์หน้า
“เรายืนยันว่ารับฟังจากทุกกลุ่มตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุไว้ว่าเรารับฟัง แต่ไม่ใช่ต้องเชื่อฟัง นอกจากนี้ยังช่วงเวลาทอง คือระหว่าง 25 พ.ค. ถึง 23 ก.ค. เป็นเวลา 60 วันที่จำพิจารณาทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงในรายมาตรา หากข้อเสนอนั้นมีความหนักแน่นและชี้ถึงปัญหาต่างๆ เราก็จะทบทวนในแต่ละภาคส่วน หมวด มาตราให้เหมาะสมและสังคมประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด” นายคำนูณกล่าว
เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองท้วงติงถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งที่จะใช้ระบบสัดส่วนผสมจะสร้างความสับสนหรือไม่ นายคำนูณกล่าวยอมรับว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้พรรคใหญ่ไม่ได้ ส.ส.มากเท่าเดิม แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและขนาดกลางมีโอกาสมากขึ้น จึงมีพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้นคัดค้าน ขณะที่พรรคเล็ก ขนาดกลาง รวมถึงกลุ่มการเมืองไม่คัดค้านเลย แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้มากที่สุด