xs
xsm
sm
md
lg

ยันสภาขับเคลื่อนฯรธน.57ระบุชัด ปัดแผนสืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่หลายฝ่ายระบุว่า การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งการที่กรรมาธิการยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องทำหน้าที่อยู่ต่ออีก 7 เดือน หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ เป็นการสืบทอดอำนาจ ว่า เราไม่ได้สืบทอดอำนาจ หรือต่ออายุตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้กรรมาธิการยกร่างฯ และสปช. ต้องทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญอย่างน้อย 12 ฉบับ ดังนั้นกรรมาธิการยกร่างฯและสปช. จะต้องอยู่ต่อหลังจากที่รัฐธรรมนูญใช้ไปแล้ว 210 วัน หรือ 7 เดือน คือ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่ สนช. ต้องอยู่ต่อจนถึงวันที่มี ส.ว. คือราว 240 วันหรือ 8 เดือน
ส่วนการที่กรรมาธิการยกร่างฯ ออกแบบให้มีสภาขับเคลื่อน และกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยมี สนช.และ สปช. เป็นสมาชิกด้วยนั้น เพราะเห็นว่าสปช. เป็นผู้ริเริ่มงานด้านการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีผลงานมาจากคณะกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ และได้นำบางส่วนลงในรายมาตรา ในรัฐธรรมนูญ ภาคที่ 4 มีอยู่ประมาณ 10 กว่ามาตราเท่านั้น จึงให้สานต่อ ส่วนการวิจารณ์ว่า ควรให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่นั้นก็ดี แต่ต้องยอมรับว่า จะให้คนใหม่เข้ามาทำโดยสานงานต่อจากที่คนอื่นทำไว้ อาจจะไม่เข้าใจดีพอ เราจึงเปิดช่องให้ทั้ง สปช. และ สนช. และผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูป ร่วมเป็นสมาชิกของสภาดังกล่าว ซึ่งเป็นการออกแบบที่บริสุทธิ์ใจ โดยให้แยกออกจากการบริหารของฝ่ายบริหาร แต่ทิศทางในการปฏิรูป ให้เป็นช่องทางพิเศษ เพราะต้องยอมรับว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บางครั้งก็ต้องคำนึงถึงฐานเสียงของพรรคการเมือง จึงยากที่จะดำเนินการตามทิศทางของการปฏิรูปให้สำเร็จ และยืนยันว่าสภาขับเคลื่อน กับกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่สามารถครอบงำการบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะต้องใช้เสียง 3ใน 4 อีกทั้งต้องทำประชามติ รับฟังความเห็นของคนทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

** มีเวลา60วัน ทบทวนแก้ไข ร่างรธน.

ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีคณะทำงานติดตามการปฏิรูปของ คสช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่สร้างปัญหาต่อสังคมอย่างน้อย 6 ข้อ นายคำนูณ กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ เคารพและรับฟังความเห็นของทุกส่วนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีเหตุผลสามารถชี้แจงได้ในทุกข้อท้วงติง แต่จะระบุว่า ใครถูกหมดหรือผิดหมด คงไม่ได้ ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นแค่ร่างแรกที่ยังสามารถแก้ไขได้ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมสปช. นัดแรกก่อนวันที่ 17 เม.ย. 58 ซึ่งกรรมาธิการยกร่างฯ จะเริ่มทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในต้นสัปดาห์หน้า
"เรายืนยันว่า รับฟังจากทุกกลุ่มตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุไว้ว่า เรารับฟัง แต่ไม่ใช่ต้องเชื่อฟัง นอกจากนี้ ยังช่วงเวลาทอง คือระหว่าง 25 พ.ค. ถึง 23 ก.ค. เป็นเวลา 60 วัน ที่จะพิจารณาทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงในรายมาตรา หากข้อเสนอนั้นมีความหนักแน่น และชี้ถึงปัญหาต่างๆ เราก็จะทบทวนในแต่ละภาคส่วน หมวด มาตรา ให้เหมาะสม และสังคมประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด" โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าว
เมื่อถามว่า หลายพรรคการเมืองท้วงติงถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ที่จะใช้ระบบสัดส่วนผสม จะสร้างความสับสนหรือไม่ นายคำนูณกล่าวยอมรับว่า ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้พรรคใหญ่ไม่ได้ ส.ส.มากเท่าเดิม แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคเล็ก และขนาดกลาง มีโอกาสมากขึ้นจึงมีพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น คัดค้าน ขณะที่พรรคเล็ก ขนาดกลาง รวมถึงกลุ่มการเมือง ไม่คัดค้านเลย แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่น ถือมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องมีหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้มากที่สุด

**หนุนสภาขับเคลื่อนฯ-คกก.ยุทธศาสตร์ฯ

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า โดยหลักการแล้วตนเห็นด้วย ที่จะให้มีสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ และคณะกรรมยุทธศาตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และคิดว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดกลไกไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของกระบวนการปฎิรูปประเทศ ไม่ให้ขาดช่วง หรือถูกเว้นวรรคเพียงเพราะการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเหมือนที่ผ่านๆมา
ทั้งนี้ สังคมควรพิจารณา เพื่อให้กระบวนการปฏิรูปมีลมหายใจที่ยืนยาว และไม่ถูกบิดเบือน หลักการนี้เป็นทั้งหัวใจ และเป็นหลักการสำคัญของการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการปฏิรูปไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ต้องทำตลอดเวลา และมีความต่อเนื่องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพียงแต่ที่มาของกลไกทั้ง 2 กลไกนี้ จะต้องยึดโยงกับสังคมวงกว้าง และมีที่มาที่หลากหลายกว่านี้ สัดส่วนของ สนช. กับ สปช. รวมกัน ไม่ควรเกินกึ่งหนึ่งเพราะอาจกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีว่า สืบทอดอำนาจ เหมือนที่กำลังมีการตั้งข้อสังเกตุของหลายฝ่ายอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับ ส.ส. และ ส.ว. ควรกำหนดเขตอำนาจหน้าที่ให้ชัดกว่านี้ มีความเป็นอิสระจากการเมือง ถูกกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบโดยสังคม ไม่ใช่เป็นสภาของนักการเมืองสอบตก หรือเป็นสุสานข้าราชการประจำ ที่เกษียณอายุแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การปฏิรูปล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่จริงจัง คิดแต่นโยบายเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง วิสัยทัศน์ปฏิรูปแม้มีอยู่บ้าง แต่ก็ขาดแรงสนับสนุน ขาดกลไกรองรับ ทำกันตามกระแสเท่านั้น เหมือนกรณีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีอดีต นายกฯ อานันท์ ปันยารขุน กับ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ก็ไม่มีฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาลใดรับข้อเสนอไปทำเป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนบรรดานักการเมืองที่ออกมาค้านเรื่องนี้ ก็ต้องตอบสังคมเหมือนกันว่า ในยุคที่ตนเองมีอำนาจเป็นรัฐบาล ได้ปฏิรูปอะไรกันบ้าง กฎหมายดีๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมีบ้างไหม กฎหมายลูกที่ต้องออกตามรัฐธรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ถูกดองไว้ จนประชาชนเสียโอกาส ที่เห็นกันก็มีแต่จะแก้ จะรื้อรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองทั้งนั้น

**โวยสภาขับเคลื่อนก้าวก่ายฝ่ายบริหาร

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพราะการตั้งองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาตรวจสอบควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร จะไปก้าวก่ายการทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย รวมไปถึงการปฏิบัติสั่งการ สุดท้ายรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้เลย ความจริงก็มีองค์กรตรวจสอบมีอยู่มากมายแล้ว ทั้ง ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็มี กรรมาธิการ ส.ว.ก็มีเช่นเดียวกัน ฉะนั้น จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อยากให้ทบทวนตรงนี้ และในส่วนของการแต่งตั้งนายกฯ นั้น ก็ควรมาจากการเลือกตั้ง ถ้ามีวิกฤติ ต้องเอาคนนอกจริงๆ ถึงอย่างไร ก็ควรต้องผ่าน ส.ส. ให้ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนประชาชน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นคนเลือก แบบนั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย

**ปม"นายกฯคนนอก"ต้องเขียนให้ชัด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะสรุปรายละเอียดลงในรายมาตรา ว่า ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะให้ความเห็นเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ อีกครั้งในภาพรวมของรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด หลังจากส่งร่างมาให้พรรคการเมืองดู ตามที่รับปากไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคได้เคยให้ความเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ให้ความเห็นภาพรวม ในนามส่วนตัว และครั้งที่สอง ตนเป็นตัวแทนพรรคไปให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมือง และในครั้งหน้า จะเป็นการเสนอความเห็นในภาพรวมเพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับปรุง ในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อให้การเมืองระบบรัฐสภาสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ให้สมดุลย์ในการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด ตกอยู่กับส่วนรวม
สำหรับประเด็นที่จะเสนอแนะ เช่น การทำให้ฝ่ายตรวจสอบสามารถถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ศาล รัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการกำหนดเงื่อนเวลาในกระบวนการตรวจสอบเรื่องที่สำคัญ เช่น คดีที่มีการตรวจสอบที่ต้องผ่านรัฐสภา และองค์กรตรวจสอบ เช่น กรณีการถอดถอน หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งต้องเกี่ยวกับคดีอาญา ว่า ควรต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สามารถระงับยับยั้งได้ทันการ ซึ่งเท่าที่ติดตามกรรมาธิการยกร่างฯยังไม่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา แต่อย่างใด
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือ การช่วยทำให้กลไกที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย มีความเข้มแข็ง คือ พรรคการเมือง ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์พรรคการเมือง แต่เป็นหลักประชาธิปไตยทั่วโลก เพราะพรรคการเมืองเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน แต่ทิศทางของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลับสวนทางที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยในระยะยาว
สำหรับกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น พรรคเคยให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวแล้วว่า คนที่จะมาเป็นนายกฯควรต้องมาจากส.ส. ที่รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่าจะเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นได้ ก็ต้องบัญญัติเป็นข้อยกเว้น ว่าเป็นกรณีใดบ้าง หรือกรณีเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งต้องมีการเขียนระบุให้ชัดเจน ว่า นิยาม และความหมายในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น