xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”ลั่นยึดรธน.ชั่วคราวเมินเว้นวรรคแม่น้ำ5สาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กตู่" คว่ำข้อเสนอแม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 2 ปี ลั่นยึดตาม รธน.ชั่วคราว ตัดสิทธิ์เฉพาะ กมธ.ยกร่างฯ ขู่หากยังระแวงจะไม่คืนอำนาจ ส่วน “เทียนฉาย” เห็นด้วยให้ สปช.เว้นวรรค 2 ปี ชี้มีส่วนได้เสียร่าง รธน.ใหม่ “อลงกรณ์” เตือนวางกับดักแบบนี้ อนาคตจะลำบาก ด้าน กมธ.ยกร่างฯนัดถกลับวันนี้ อีกด้านเครือข่าย ปชช.ยื่นร้อง

วานนี้ (5 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงข้อเสนอของ นายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในโรดแมปของ คสช.ทั้งหมดห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองหลังพ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปีว่า ตนบอกไปแล้วว่า ให้ กมธ.ทำการยกร่างฯแล้วนำมาเสนอ ซึ่งก็ต้องไปดูว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร ซึ่งมีการเขียนไว้เฉพาะในส่วนของ กมธ.ยกร่างฯ ก็ยึดตามนั้น ส่วนอย่างอื่นจะเสนอมาก็ได้ แต่เท่าที่ฟังตอนนี้จะให้เหมารวมทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้มีส่วนโดยตรง ทั้งหมดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน หากเขาไม่เข้ามาก็คงไม่มีใครทำงาน จึงควรไปหามาตรการอื่น หรือค่อยไปแก้กันวันข้างหน้าดีกว่า

“ผมก็จะยึดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีบทบัญญัติไว้ นี่คือความเห็นของผม เพราะผมเป็นคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา ผมจะยึดเอาตรงนี้ ส่วนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไปว่ามา เพราะเดี๋ยวก็จะต้องมีการหารือกันอยู่แล้ว ถ้าถามผมในนามของ คสช.ในนามของคณะรัฐมนตรี ซึ่งผมเป็นหัวหน้าทั้ง 2 คณะ ผมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นจะว่าอย่างไรก็ว่ามา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการขจัดความหวาดระแวงต่อ คสช.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "จะมาหวาดระแวงอะไรผม ถ้าหวาดระแวง ผมก็ไม่คืนอำนาจให้ ก็จบแล้ว”

"เทียนฉาย" เห็นด้วยเว้นวรรค สปช.

ด้าน นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เว้นวรรค 2 ปี ก็ดี เพราะ สปช.มีส่วนได้เสียกับรัฐธรรมนูญ ในการให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ที่สำคัญเมื่อเราทำหน้าที่ตรงนี้ คงต้องพร้อมรับทุกอย่าง ส่วนแม่น้ำอีก 4 สาย ตนคงไม่สามารถไปตอบแทนได้

“อลงกรณ์” เตือนทำอนาคตลำบาก

ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สปช. กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหา เพราะตอนตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นสมาชิก สปช.ก็ไม่ได้คิดถึงอนาคตทางการเมืองอยู่แล้ว แต่อยากให้ทางคณะ กมธ.ยกร่างฯ ทำการทบทวนข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบคอบอีกครั้งด้วย เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวจะไม่เป็นธรรมแก่บุคคลที่ตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่เป็นสมาชิก สนช.และ สมาชิก สปช.เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดการจำกัดสิทธิ์ สนช.และ สปช.เอาไว้ เหมือน กมธ.ยกร่างฯที่ระบุห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปี เพื่อตัดการมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หาก กมธ.ยกร่างฯ มีจะใส่ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จำกัดสิทธิแม่น้ำ 5 สายจริงก็จะกลายเป็นการสร้างหลักการใหม่ขึ้นมา ส.ส.และ ส.ว.ต่อจากนี้ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่อาจมองได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองทั้งหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย

“ผมแปลกใจมากที่ สมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรค ออกมาสนับสนุนความคิดเห็นดังกล่าว โดยไม่คิดอย่างรอบคอบว่า มันจะมีผลกระทบต่อไปในอนาคตสำหรับการทำหน้าที่ของตน ส่วน กมธ.ยกร่างฯเองก็ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างผลประโยชน์ได้เสีย กับการสืบทอดอำนาจที่สังคมมีความห่วงกังวล เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ไปกระทบหลักการ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานและหลักปฏิบัติต่อไปสำหรับ ส.ส.และ ส.ว.ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย" นายอลงกรณ์ กล่าว

กมธ.ยกร่างฯนัดถกลับ

อีกด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมดจำนวน 315 มาตรา โดยในวันนี้ได้เริ่มในบทเฉพาะกาล ที่มีจำนวน 12 มาตรา ซึ่งได้พิจารณาไปแล้ว 7 มาตรา โดยเริ่มต้นตั้งแต่มาตรา 304 เป็นต้นไป ซึ่งมีมาตราที่น่าสนใจคือ มาตรา 307 ระว่า กมธ.ยกร่างฯต้องดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดย (1)ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งสว. ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างจาก กมธ.ยกร่างฯ เป็นหน้าที่ สนช.ที่จะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเวลา 30 วัน

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรา 308(1) ระบุไว้ว่าให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จใน 90 วันและดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 307 (1) ประกาศใช้ ดังนั้นหากคำนวณแล้ว สำหรับกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน จะต้องใช้เวลาทั้งหมด 180 วัน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะได้ ส.ส.ชุดใหม่จำนวนไม่เกิน 470 คน ขณะที่ ส.ว.ใช้เวลาไม่เกิน 240 วัน ทั้งนี้ ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯจะมีการประชุมเป็นการภายในไม่อนุญาตให้สื่อเข้าฟัง โดยจะพิจารณามาตราที่แขวนไว้ อาทิ มาตรา 306 กำหนดให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯสิ้นสุดลงก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ห้าม กมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี

“ในส่วนข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปีนั้นก็จะนำไปหารือในที่ประชุมวันที่ 6 มี.ค.นี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในการประชุม กมธ.ยกร่างฯไม่เคยมีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย” นายคำนูณ กล่าว

ร้องผู้ตรวจฯเช็คบิล สปช.ลูกเมีย

วันเดียวกัน เครือข่ายปกป้องผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของคนไทยเข้ายื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้มีการตรวจสอบจริยธรรมของ สปช.จากกรณีที่บรรจุสามี ภรรยา บุตร และเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยดำเนินงาน รวมทั้งสิ้น 5 อัตรา โดยเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไร้ยางอาย แสดงถึงความละโมบ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเข้าข่าย ต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบและดำเนินคดีอาญาและแพ่ง ตลอดจนให้ต้นสังกัดตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงสำหรับผู้ที่ยังรับราชการ และขอให้มีการคืนเงินและปลดออกจากตำแหน่งรวมทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี และหากพบว่าผิดจริง มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และถือเป็นการดำเนินการ หรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้เสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อส่งต่อ และเพื่อถอดถอนและส่งต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ปธ.สปช.อ้างตั้งญาติช่วยงานทำได้

ทางด้าน นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.กล่าวว่า ในระเบียบข้อบังคับ เป็นระเบียบเดิมที่ใช้กับ ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งในส่วนของ สปช. แม้การทำหน้าที่จะไม่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย แต่ สปช.มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ จึงอนุโลมใช้ข้อบังคับเดิมที่มีอยู่ หาก สปช. เดินไปตามคุณสมบัติ ระเบียบ และกติกาที่กำหนดไว้ ตนก็มองว่า น่าจะถูกต้องแล้ว

“แต่ส่วนตัวเห็นว่า ขณะนี้ สปช.มีวาระการทำงานไม่มาก บางครั้งการเอาญาติ หรือบุตร มาช่วยทำงาน โดยเฉพาะที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องอื่นๆ แล้วบุตรเรียนมาด้านนี้ หากเอามาช่วยงาน คงไม่เป็นไร คงเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายได้ แต่ถ้าตั้งมาแล้วไม่เคยเห็นตัว ไม่เคยเห็นหน้าเลย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นนี้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะตัว” นายเทียนฉาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น