นายกรัฐมนตรีเมินข้อเสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรคการเมือง 2 ปี แนะให้ไปดูรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าอย่างไร ระบุหากเขียนห้ามตั้งแต่ก่อนตั้ง สนช.-สปช. คงไม่มีใครเข้ามาทำงาน ขู่ถ้าหวาดระแวงกันนักก็ไม่คืนอำนาจให้ก็จบ ติง สปช.ถ้าพูดแล้วส่งผลกระทบ เกิดทะเลาะกันก็ไม่ควรพูด ยังไม่เคาะข้อเสนอ ป.ป.ช.ขอต่ออายุ ต้องขอดูอีกที โวรัฐบาลมีผลงานเยอะ แต่สื่อไม่สนใจสิ่งที่นายกฯ พูด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงบประมาณใหม่ ถึงข้อเสนอของนายเจษฎ์ โทณวณิก สมาชิกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่จะให้ผู้ดำรงตำแหน่งในโรดแมปของ คสช.ทั้งหมดห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองหลังพ้นจากตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี ว่าตนบอกไปแล้วว่าให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญทำการยกร่างฯ แล้วนำมาเสนอ ต้องไปดูว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร มีการเขียนไว้เฉพาะในส่วนของ กมธ.ยกร่างฯ ก็ยึดตามนั้น ตนเองก็ยึดตามนั้น ส่วนอย่างอื่นจะเสนอมาก็เสนอไป เท่าที่ฟังตอนนี้ข้อเสนอดังกล่าว จะให้เหมารวมทั้งหมด แต่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนห้ามไว้เพียง กมธ.ยกร่างฯเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
“ผมก็จะยึดตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีบทบัญญัติไว้ นี่คือความเห็นของผม เพราะผมเป็นคนผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมา มันมีความจำเป็น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็น สนช., สปช. เขาไม่ได้อะไรหรอก ถ้าเขาไม่เข้ามาก็คงไม่มีใครทำงาน ก็ให้ไปหามาตรการอื่น และดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร ส.ส., ส.ว. ก็ค่อยไปดูกันตรงนั้นดีกว่า วันนี้อย่ามานั่งย้อนกลับไปกลับมา ทั้งหมดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน ดีหรือไม่ดีค่อยไปแก้กันวันข้างหน้า”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อเป็นการขจัดความหวาดระแวงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “จะมาหวาดระแวงอะไรผม ถ้าหวาดระแวง ผมก็ไม่คืนอำนาจให้ก็จบแล้ว”
ต่อข้อถามว่า คิดว่าวันนี้ กมธ.ยกร่างฯบางคนพูดมากไปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่คิด เพราะเขารู้ตัวของเขาอยู่แล้วว่าจะพูดมากหรือพูดน้อย ถ้าพูดแล้วเกิดความขัดแย้ง พูดแล้วทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวม ส่งผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายก็ไม่สมควรพูดมากนัก พูดมากไปก็ทะเลาะกันและมีเรื่อง
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่านายกฯ จะยึดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศไว้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ใช่ เราต้องยึดหลักตรงนั้นก่อน “ผมจะยึดเอาตรงนี้ ส่วนอื่นจะว่าอย่างไรก็ไปว่ามา เพราะเดี๋ยวก็จะต้องมีการหารือกันอยู่แล้ว ถ้าถามผมในนามของ คสช. ในนามของ ครม. ซึ่งผมเป็นหัวหน้าทั้งสองคณะ ผมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นจะว่าอย่างไรก็ว่ามา”
ส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะขอต่ออายุอีก 1 ปี ในฐานะหัวหน้า คสช.เห็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงจะต้องไปพิจารณากันอีกครั้งว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าไปเริ่มสรรหาในตอนนี้จะมีปัญหากับการทำงานหรือไม่ และหากเรารอไว้จนเมื่อมีรัฐบาลใหม่ แล้วค่อยตั้ง ป.ป.ช.ใหม่จะทำได้หรือไม่ ต้องไปหารือกันมา ตนยังไม่ขอชี้ชัด เพราะเป็นไปได้ทั้งคู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมามีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมออกมาบ้างแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ให้รอฟัง กำลังให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแถลงให้มีความชัดเจน ผลงานมีเยอะแยะมากมายเป็นร้อยเรื่อง ได้มอบหมายไปแล้วว่าให้สรุปออกมาเป็นเรื่องๆ ว่ามีอะไรบ้าง อะไรที่เป็นเรื่องของกฎหมาย สิ่งที่เป็นปัญหา แม้กระทั่งสื่อบางคนก็ยังไม่รู้ ขณะที่อยู่ใกล้ชิดกับตนก็เพราะ 1. ไม่ฟังในสิ่งที่ตนพูด 2. ฟังแล้วไม่จำว่าตนพูดอะไรไปแล้วบ้าง 3. เมื่อฟังในสิ่งที่ตนพูดแล้ว ให้ไปถามกระทรวง แต่ก็ไม่ไปถาม กระทรวงต่างๆ ก็ระบุว่าสื่อไม่สนใจ จะฟังจากปากของตนอย่างเดียว จึงกลายเป็นว่าตนพูดคนเดียว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ผลงานต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการออกมา มีทั้งเว็บไซต์ โดยจะมีการสรุปปัญหาต่างๆ ออกมาว่าก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะเข้ามามีปัญหาอะไรบ้าง กฎหมายว่าอย่างไร แล้วทำไมเราจึงมีการแก้กฎหมาย พร้อมส่งเรื่องให้ สนช. และต้องปฏิรูปในด้านต่างๆ นั้นเพราะอะไร มันมีทั้งความยากง่ายในการทำงานของรัฐบาล อย่างเช่นเรื่องงบประมาณ หากผลีผลามเร็วเกินไป ปัญหาเก่าๆ ก็จะเกิดขึ้นมาอีก วันนี้ถ้าเราแก้ปัญหาแบบเร็วๆ เอาเงินแจกให้ประชาชน แล้วเราจะเอาเงินจากที่ไหน ภาษีก็ขึ้นไม่ได้ เงินไม่สามารถขุดขึ้นมาจากดินได้ เราก็ต้องดูให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องของคนรวยคนจนว่าจะเก็บมากน้อยเพียงใด ทุกคนอย่าเอาแต่สิทธิอย่างเดียว ต้องดูทั้งสิทธิเสรีภาพประกอบด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบในความเป็นพลเมืองด้วย รัฐบาลก็รับผิดชอบในนามของรัฐบาล พร้อมให้ความเป็นธรรม รัฐบาลดูแลในทุกๆ กลุ่ม
“จะพูดว่าประเทศนี้เป็นของประชาชนอย่างเดียว ประชาชนเป็นเจ้าของ ถ้าพูดอย่างนี้ก็ไม่ต้องมีรัฐบาล ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญเลย แต่เมื่อเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็ต้องมีวิธีการในการเลือกผู้แทนประชาชนเข้ามา ในการขับเคลื่อน รัฐบาลมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ภายใต้ความพึงพอใจโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เรื่องนี้ต้องทำให้ได้”