xs
xsm
sm
md
lg

“ทิชา” เปิดใจไขก๊อกหมดหวังเพิ่มพื้นที่ให้สตรี ชี้ยกร่างฯ เหมือนอยู่ในห้องแล็บ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต กมธ.ยกร่างฯ เปิดใจลาออกเพราะหมดหวัง หมดศรัทธาต่อเสียงข้างมาก เพิ่มพื้นที่การเมืองให้ผู้หญิง ยันควรมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ฉะผู้ร่างฯ ต้องมองภาพรวมให้ออก โวยถูกแขวนไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ขอบคุณ “บวรศักดิ์” ช่วยขยายความ ภูมิใจ 4 เดือนได้สกัดอำนาจพิเศษนายกฯ ยันไม่ขัดแย้งใคร แต่สำคัญที่จุดยืน รับร่าง กม.เหมือนอยู่ในห้องแล็บ ถ้าไม่แหวกม่านจะขับเคลื่อนไม่ได้ ลั่นไม่กลับมาสภาอีก แต่อนาคตจะให้เป็นอะไรเพื่อชาติก็ยินดี



วันนี้ (3 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. นางทิชา ณ นคร อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงเปิดใจจากการลาออกในครั้งนี้ว่า ตนได้แสดงความจำนงในการลาออกจากตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงที่ตนจำเป็นต้องสื่อสารต่อสาธารณะในฐานะอดีต กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างน้อย คือ ตนหมดหวัง หมดศรัทธาที่จะสื่อสารต่อ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากในการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้แก่เพศหญิง ทั้งใน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และในสภาท้องถิ่น ที่ผู้หญิงควรจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งใน กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นผู้หญิงได้ประนีประนอมด้วยการปรับถ้อยคำจากเพศหญิงเป็นเพศตรงข้าม แต่ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเป็นผู้ชายที่คัดค้านยังไม่ยอมรับเหตุผลของตนที่เสนอว่าไม่ใช่การเชิดชูสิทธิสตรี ไม่ใช่การขัดขวางหรือการลดค่าเพศชาย แต่มุ่งหวังเปิดพื้นที่ให้เพศหญิงเข้าไปร่วมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความสมดุล แต่จากการที่เพศหญิงถูกจัดวางบทบาทให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนมาช้านาน การผลักดันให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปสู่พื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดการปรับสมดุลในสังคมร่วมกับเพศชาย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ ซึ่งคือการเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองที่ต้องอาศัยมาตรการพิเศษชั่วคราวเข้าไปหนุนช่วยให้มีหลักประกันและกำหนดสัดส่วนเพศตรงข้าม 1 ใน 3 เป็นอย่างน้อยไว้ในรัฐธรรมนูญ

นางทิชากล่าวว่า เพศหญิงบางกลุ่มที่เก่งกล้าแต่ไม่เห็นด้วยกับระบบสัดส่วนเพราะไปตีความว่าระบบสัดส่วนคือสิทธิพิเศษ แต่ผู้หญิงเก่งต้องไม่ลืมว่าผู้หญิงในท้องถิ่นและหมู่บ้านที่อยู่กับชุมชนมาตลอดชีวิตหรือผู้หญิงในเมืองที่มีความรู้สูงแต่ไม่ได้มาจากตระกูลนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ โอกาสที่จะนำประสบการณ์ที่มีอยู่เข้าไปสร้างสมดุลในพื้นที่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถนนการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติถูกคน แต่ภายใต้ภารกิจการยกร่างฯ ผู้ร่างจำเป็นต้องมองภาพรวมให้ออกและหาเครื่องมือปรับสมดุลให้ได้ และอย่ามโนว่าผู้หญิงจะไม่คอร์รัปชัน ผู้หญิงจะไม่ประพฤติตนเหลวไหล ไร้สาระ หลักการที่เคร่งครัดคือผู้หญิงและผู้ชายในสภาท้องถิ่นจนถึงสภาสูงต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเข้มแข็ง เข้มข้นในกติกาเดียวกัน ซึ่งประเด็นสัดส่วนเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทำให้บรรยากาศของการร่างรัฐธรรมนูญต้องจบลงด้วยการแขวนไว้ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

“ต้องขอขอบคุณศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่ช่วยขยายความในเชิงข้อเท็จจริงให้ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากทราบว่าวันนี้กลไกสัดส่วนผู้หญิงในพื้นที่การตัดสินใจนโยบายสาธารณะเป็นหนึ่งในภารกิจขององค์การสหประชาชาติไปแล้ว รวมถึงความพยายามในเบื้องต้นของประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่จะไม่โหวตในประเด็นดังกล่าว แต่ กมธ.ยกร่างฯ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยและยืนยันว่าต้องโหวตเพื่อยุติการอภิปราย” นางทิชากล่าว

นางทิชากล่าวต่อว่า ประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติชัดเจนและมีความเป็นห่วงคือเรื่องเอกสิทธิ์นักการเมือง กรณีที่มีการจับ ส.ส.และส.ว.ในขณะกระทำความผิดให้รายงานไปยังประธานสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกและประธานแห่งสภาอาจสั่งให้ผู้ถูกจับกุมได้ ซึ่งตนได้เสนอให้เพิ่มถ้อยคำว่า “ทั้งนี้ ให้พิจารณาควบคู่ไปกับความเป็นธรรมในทางคดีของคู่กรณีด้วย” เพราะการให้เอกสิทธิ์ผู้กระทำผิดที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.ย่อมส่งผลให้คดีนั้นล่าช้า เสียรูปคดี พยานถูกแทรกแซง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นชาวบ้าน คนจน เด็ก เยาวชน ผู้หญิงซึ่งมีสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่า และเพื่อไม่ให้การคุ้มครองเอกสิทธิ์ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดีเพื่อนำไปใช้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และเห็นว่าคณะกรรมการสรรหาของผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน ต้องมีความหลากหลายยึดโยงประชาชน และเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมไม่ควรมีบุคคลที่มาจากอดีตนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานศาล และปลัดกระทรวง ข้าราชการระดับสูง และควรมีวาระแค่ 3 ปีเท่านั้น

นายทิชากล่าวว่า ส่วนที่ กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่านายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็นส.ส.นั้น มองว่าหากนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ส.ส.ต้องกำหนดให้ชัดเจนหรือมีหลักประกันว่าเพื่อเป็นบันไดหนีไฟยามฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นช่องพิเศษรอรับนายทุนพรรคการเมืองหรืออำนาจพิเศษอื่นฉวยโอกาสเข้ามา นอกจากนั้นยังเห็นว่าเมื่อคณะทำงานปฏิรูปหลัก สปช.หมดวาระตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ต้องมีกติกาที่ให้หลักประกันว่าเป็นไปเพื่อการปฏิรูปและสามารถวัดผลได้ รวมถึงจำนวนที่สมเหตุสมผล สมภารกิจ ส่วนเรื่องสมัชชาคุณธรรมนั้น ตนเห็นว่าอาจเป็นทั้งคำตอบของแผ่นดินและสุสานของข้าราชการหลังเกษียณแต่จะเป็นอะไรนั้นก็ต้องคิดให้รอบคอบและเป็นไปเพื่อเพิ่มทางสว่างให้กับบ้านเมืองอย่างแท้จริง ส่วนประเด็นที่ศาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีแค่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ แต่ได้มีการตัดศาลฎีกาออกไปรวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไข มีข้อยกเว้นว่าเรื่องใดควรไปสู่ศาลฎีกา ส่วนตัวมองว่าควรคงไว้ทั้ง 3 ศาล เนื่องจากศาลฎีกาถือเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นางทิชากล่าวด้วยว่า ความพอใจสูงสุดในการทำงานตลอด 4 เดือนของการเป็นกมธ.ยกร่างฯ คือการได้อภิปรายยืนยันถอนมาตราโดยเฉพาะมาตราที่เขียนให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรีดำเนินการในช่วงที่เกิดสถาวะฉุกเฉิน ไม่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการตัดสินใจลาออกในครั้งนี้อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในทัศนะของคนอื่นแต่สำหรับตนเมื่อสถานการณ์บ่งชี้ว่าไม่สามารถทำในสิ่งที่ควรทำ ทั้งที่สิ่งนั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงและสมดุลใหม่ให้กับสังคมได้ ตนก็ไม่ควรทำหน้าที่นั้นต่อไปเพราะเท่ากับว่าตนได้หมดความเคารพต่อตนเองไปแล้ว

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรต่อกรณีที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าชาย-หญิงมีความเท่าเทียมกัน แม้ไม่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ นางทิชากล่าวว่า คำว่าผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกัน เราก็มีเหตุผลอ้างเสมอ ว่าเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ผู้หญิงเป็นแม่ ผู้หญิงเป็นคนคุมเงิน แต่ว่าทั้งหมดนี้เป็นการพูดในที่ที่พูดแล้วสนุก แล้วก็ขบขัน จุดที่ต้องมีอำนาจในการตัดสินในทางการเมือง ประเด็นสาธารณะ นโยบาย เสียงของผู้หญิงก็จะหายไปกับสายลม แต่ในพื้นที่ตลกโปกฮา เสียงของผู้หญิงก็เหมือนจะมีความหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนนัยยะสำคัญ ว่าเรายังเห็นประเด็นผู้หญิงเป็นเรื่องไร้สาระ

“ดิฉันไม่ได้ขัดแย้งกับใครใน กมธ.ยกร่างฯ คุยกันได้ แต่ในประเด็นที่มันเป็นจุดยืน จะต้องแสดงประเด็นที่ชัดเจน ไม่ได้ทะเลาะ เจอกันก็ยังยกมือไหว้ เจอกันก็ยังทักทายกัน แต่ว่ามนุษย์ก็ต้องมีจุดยืนของตนเอง ไม่ได้มีชีวิตเพื่อหายใจไปวันๆ หนึ่ง เพื่อผ่านพ้นไป แล้วก็สนุกสนานบันเทิงไป แต่เราต้องมีประเด็นที่เราห่วงใย และถ้าเราทำไม่ได้เราจำเป็นต้องทบทวนการเดินทางของเรา” นางทิชากล่าว

เมื่อถามว่าการลาออกจาก สปช.เป็นการเสียโอกาสในการแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นางทิชากล่าวว่า การที่ตนเดินออกมาจาที่แห่งนี้ คือสัญญาณอย่างหนึ่ง เพียงแต่อาจจะใช้ตนเองเป็นสัญญาณนั้น ภาคประชาสังคมรวมทั้งมุมมองอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกก็มีการตั้งคำถามเหมือนกัน ตนอยากให้เป็นคำถามแรก แล้วค่อยมีคำถามอื่นๆ ตามมา

“หลายเรื่องมันเกิดขึ้นภายใต้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น เหมือนห้องแล็ปทางวิทยาศาสตร์ ภายนอกดินฟ้าอากาศลมฝนมันแตกต่างจากห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์ของเราเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้มันต้องอาศัยคนข้างนอกสะท้อนเข้าไป เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ได้ใช้อยู่ในห้องปฏิบัติการด้วยซ้ำ แต่รัฐธรรมนูญ กำลังใช้กับคนส่วนมาก 60 ล้านคน และที่นั้นมีลมฟ้าอากาศที่แตกต่าง และเราต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ให้ได้ พูดในห้องประชุม บอกเสมอว่าเราไม่ได้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ดิฉันไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดา ถ้าจะลงตำแหน่งอะไรทางการเมืองก็พอจะได้ แต่ดิฉันขอให้มั่นใจว่าดิฉันจะไม่กลับมาที่นี่ เรากำลังเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อผู้หญิงจำนวนหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลด้วย ไม่ใช่การให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ประสบการณ์ความเป็นแม่ของเขา ประสบการณ์การเป็นเมียของเขามีคุณค่ากับการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะเป็นอย่างมาก” นางทิชากล่าว

นอกจากนั้น นางทิชากล่าวอีกว่า ถ้าไม่สามารถแหวกม่านประเพณีนั้นออกมาบนพื้นที่ที่มีการตัดสินใจ โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันในรัฐธรรมนูญ ประเด็นทางสังคมจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จ การเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องเขียนเพื่อคนจำนวนมาก ไม่ใช่อ้างว่าผู้หญิงคนนั้นเก่ง ก็จะสามารถเข้ามาตรงนี้ได้ แน่นอกโลกนี้มีผู้หญิงเก่งจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยลมใต้ปีกของใคร แต่ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่อยู่ภายนอก ซึ่งไม่ได้เข้ามาอยู่ในที่นี้ หากไม่มีกติกากำหนดไว้

“ณ วินาทีนี้ เท่าที่สื่อสารกับ กมธ.ยกร่างฯ บางท่าน หลักคิดในการเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ร่างเพื่อตนเอง ตัวเราอาจจะเก่ง สามารถ อาจจะกล้า อาจไม่ได้มีปัญหาที่จะเดินไปบนถนนทุกสายในประเทศนี้ เป็นเพียงผู้หญิงส่วนน้อย แต่หลักการของดิฉันเวลาเขียนอะไรซักอย่างหนึ่ง ไม่ได้เขียนว่าเราจะได้หรือเราจะเสีย แต่เราต้องคิดถึงคนมหาศาลที่ไม่มีโอกาสที่จะเดินเข้ามาในที่แห่งนี้ ว่าเขาต้องการอะไร และพร้อมที่จะให้เสียงของเขาได้ยินได้ฟัง นั่นคือนัยยะต่อจากนี้ แต่ในอนาคตถ้าดิฉันจะเป็นอะไรให้บ้านเมืองได้ก็ยินดี จุดยืนของดิฉัน การตัดสินใจผูกกับชาติบ้านเมือง” นางทิชาระบุ















กำลังโหลดความคิดเห็น