xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ชี้ไม่เกี่ยวปัญหาเท่าเทียม "ทิชา"ลาออกเรื่องส่วนตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 มี.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง การลาออกจากตำแหน่ง สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ของ นางทิชา ณ นคร จะกระทบต่อภาพลักษณ์การทำงานของสปช. และกมธ.ยกร่างฯ ในอนาคตหรือไม่ว่า ยังไม่ขอให้ความเห็น หรือให้ข่าว เพราะวันนี้ได้ทราบเรื่องจากตามหน้าสื่อเท่านั้น อีกทั้งเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงวันหยุดราชการ จึงยังไม่ได้รับรายงาน และยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ของนางทิชา จากนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ทั้งนี้ ถ้าทราบเรื่องชัดเจน ค่อยมาพูดคุยกัน อีกครั้ง

**แจงขั้นตอนเลือกกมธ.ยกร่างฯ แทน'ทิชา'

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. กล่าวถึง กรณีที่นางทิชา ณ นคร ได้มีจดหมายลาออกจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า การพิจารณาแต่งตั้งกมธ.ยกร่างฯ คนใหม่แทน นางทิชา ต้องเป็นไปตามรธน. (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 32 วรรคสาม ที่ระบุว่า ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สมาชิกในคณะกรรมาธิการฯลาออก
โดยหลักเกณฑ์ที่ว่านั้น ต้องให้สมาชิกสปช. สมัครคัดเลือกโดยที่ประชุมสปช. และให้ผู้ที่ไดรับคะแนนสูงสุด เข้ารับตำแหน่งแทน กระบวนการเลือก สปช. เป็นกมธ.ยกร่างฯ รอบที่ผ่านมา ถือเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะเป็นกระบวนการที่ผ่านและเสร็จไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการแต่งตั้งกมธ.ยกร่างฯ อาจต้องหารือ กันอีกครั้งในที่ประชุม สปช.
ขณะที่การแต่งตั้งสมาชิก สปช.ในตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากนางทิ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสปช.ด้วยนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยคิดว่าแม้ นางทิชา จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็จะไม่มีผลในทางกฎหมาย ต่อการปฏิบัติหน้าของสมาชิก สปช. ที่เหลืออยู่

** "สุจิต"เผยเสียดาย"ทิชา"

นายสุจิต บุญบงการ รองประธานกมธ.ยกร่าง ฯ กล่าวถึงแนวทางการทำงานหลังจากที่ นางทิชา ลาออกว่า เสียดายความรู้ความสามารถ เพราะเป็นคนเอาจริง เอาจัง ความคิดความอ่านดีมากๆ ซึ่งก็คงมีเหตุผลส่วนตัว ยอมรับได้ ซึ่งไม่เป็นปัญหาในการทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ส่วนจะตั้งใครมาแทน ก็ขึ้นอยู่กับมติของสปช.
ส่วนที่มีชื่อนายนันทวัฒน์ บรมานันทน์ สมาชิก สปช. จะมาแทนนั้น ก็เป็นความเห็นของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เป็นทั้งประธาน กมธ.ยกร่างฯ และรองประธาน สปช. แต่คงต้องรอให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาก่อน ส่วนสมาชิกสปช.ขาดไปเพียงคนเดียว คงไม่เป็นปัญหาในการทำงาน
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงแนวทางการเลือกตั้งกมธ.ยกร่างฯ แทนที่นางนิชา ณ นคร ที่ลาออกว่า ในความเห็นส่วนตัว หลังจากที่พิจารณาหลายแนวทางแล้ว คิดว่าการเลือก กมธ.ยกร่างฯ คนใหม่นั้นต้องไปดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 32 ระบุว่า ในกรณีที่กมธ.ยกร่างฯ พ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกมธ.ยกร่างฯ ที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ให้ประธาน สปช.แต่งตั้งกมธ.ยกร่างฯ แทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กมธ.ยกร่างฯ พ้นจากตำแหน่ง คือไม่เกินภายในวันที่ 16 มี.ค. นี้
ดังนั้น สมาชิกสปช. ที่ประสงค์จะเป็นกมธ.ยกร่างฯ อาจเสนอชื่อเข้าสมัครอย่างน้อย 2 วัน ก่อนวันที่จะนัดประชุมเพื่อลงคะแนนคัดเลือก รวมทั้งอาจมีการแสดงวิสัยทัศน์
ส่วนกรณีที่เคยเสนอให้เอาสมาชิกสปช. ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเป็นลำดับที่ 21 ให้มาเป็น กมธ.ยกร่างฯ นั้นพล.อ.เลิศรัตน์ เห็นว่าหากทำตามแนวทางนี้คงลำบาก เพราะไม่ได้มีการวางกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ไม่เหมือนกับการเรียงลำดับของส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้กมธ.ยกร่างฯคนใหม่ ก็เชื่อว่า จะมาช่วยพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ดี เพราะขณะนี้ผ่านมาได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น ยังมีเวลาทำงานด้วยกันอย่างน้อยอีก 7-8 เดือน

** "ประยุทธ์"ชี้เป็นเรื่องส่วนตัว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับรายงานแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเมื่อครั้งเข้ามาเป็น สปช. ก็มีทั้งส่วนที่คัดเลือก และเสนอตัวเข้ามา ในเมื่อไม่ประสงค์ที่จะทำงานต่อไป ก็ลาออก ไม่มีปัญหา ที่เหลือก็ทำงานกันได้ บางครั้งคนเราก็ต้องมีเหตุผลส่วนตัวกัน คงไม่ต้องไปซักถามเหตุผล ในเมื่อไม่ประสงค์ที่จะทำก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อครั้งเข้ามา ก็ด้วยความสมัครใจ เมื่อเข้ามาแล้วทำงานไม่ได้ ต้องการจะออก ก็ออก ซึ่งตนก็ต้องขอขอบคุณในช่วงที่เข้ามา และทำงานด้วยความเข้มแข็ง ซึ่งตนไม่ได้ตำหนิใดๆ หากมีปัญหาส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีคนทำหน้าที่อีกจำนวนมาก แต่ก็ต้องดูว่าจำเป็นที่จะต้องตั้งคนขึ้นมาแทนหรือไม่ คงต้องถาม สปช. และ สนช. ก่อนว่าจะต้องตั้งเพิ่มหรือไม่ ถ้าไม่ตั้งเพิ่มจะทำงานได้หรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของทางสภา ซึ่งรับผิดชอบในภาพรวม
เมื่อถามว่า นางทิชา ระบุว่า ที่ต้องลาออก เพราะเหมือนเป็นปลาผิดน้ำ ถือว่าเกิดความขัดแย้งภายในหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่า ปลาผิดน้ำเป็นอย่างไร ในการทำงานของคนไทย จะต้องรู้จักการประนีประนอมกันบ้าง พูดจากัน ทำงานร่วมกัน แต่ถ้าทำงานร่วมกันไม่ได้จริงๆ แล้วจำเป็น ก็ต้องจำเป็น ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะคนเราต่างคนต่างคิด แต่สิ่งที่สำคัญ หลายคนกำลังมองรัฐบาลว่า เข้ามาแล้วแก้ปัญหาหรือยัง รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร เข้ามาแล้วทำงานช้า ยังไม่ได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งตนขอเรียนว่า ตนและรัฐบาลทำงานทุกวัน
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นางทิชา ลากออก เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสัดส่วนการส่งผู้หญิงลงรับสมัครเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในรายละเอียดตนไม่ทราบ แต่อยากบอกว่า วันนี้สิทธิของผู้ชาย ผู้หญิง เท่ากันแล้ว คงต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกำหนดอย่างนั้น ให้เขาพิจารณากัน ซึ่งเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ คงพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิที่เท่ากันระหว่างหญิงชาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้หญิงมีสิทธิมากกว่าเสียอีก เพราะจะใช้นาง หรือนางสาว ก็ได้ แต่ผู้ชายใช้นายได้อย่างเดียว ผู้หญิงได้เปรียบตลอดอยู่แล้ว เพราะผู้หญิงเป็นเพศมารดา

**ชี้"ทิชา"ลาออกเพราะถูกกีดกัน

วานนี้ (1 มี.ค.) ที่โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะที่ปรึกษาขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ผู้หญิงอีสานกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูป" จัดโดย ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศ (we Move) ร่วมกับ IRI คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้หญิงจัดเวทีทุกภาค ติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และมีข้อเสนอจากทุกภาคต่อกมธ.ยกร่าง ในประเด็นสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะความเสมอภาค เท่าเทียมหญิงชาย ในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในทุกมิติ ทุกระดับ ซึ่งนางทิชา ร่วมกับกรรมาธิการหญิงอีกหลายคน ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ในที่ประชุมด้วยเหตุผล และความชอบธรรมหลายละลอก แต่ถูกโต้แย้งคัดค้านจาก กมธ.ยกร่างรธน.หลายคน
" แน่ใจว่า ด้วยเหตุนี้ประกอบกับอีกหลายประเด็นที่ร่างรธน. ไม่ยึดหลักการสิทธิประชาชนที่ควรจะเป็น ทำให้ นางทิชา ลาออกจากตำแหน่ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเราต้องเคารพความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และตัดสินใจบนหลักการผลประโยชน์ของประชาชน และเครือข่ายผู้หญิงก็เคารพในการตัดสินใจ เพราะนางทิชา เป็นนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน ก่อนรับตำแหน่งเครือข่ายผู้หญิงเองก็สนับสนุนให้เข้าไปทำหน้าที่เป็นพลังเสียงของผู้หญิง บนฐานการผลักดันภายในให้เต็มที่ ประสานเครือข่ายผลักดันประสานกันอยู่ภายนอก เมื่อเห็นว่าไม่มีประโยชน์จะอยู่ต่อไป ก็ต้องตัดสินใจ" นางสุนี กล่าว

** จวก"นายกฯ" เห็นเป็นเรื่องส่วนตัว

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การลาออกของนางทิชา เป็นเรื่องส่วนตัวที่สามารถทำได้นั้น อยากย้อนถามว่า นายกฯ รู้ได้อย่างไร เพราะคนมีตำแหน่งเป็นกมธ.ยกร่างฯ ต่างมีความรับผิดชอบในหน้าที่ หากไม่เกิดการรับฟัง และมีส่วนร่วม ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ชัดเจน ต่อไปนี้สังคมคงได้รับรู้ว่า สถานการณ์การยกร่างรธน. ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอะไรจริงจัง และสังคมคงต้องตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น กับการร่างรธน.ครั้งนี้ จนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นว่ารธน.ฉบับนี้ จะมีหลักการเสมอภาคให้เกิดความเท่าเทียมหญิงชายในการตัดสินใจได้ อีกทั้งสังคมไทยขณะนี้มีความคิดที่ไม่อยากมีส่วนร่วมในรธน.มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีความคาดหวังอะไรแล้ว

**ชวนผู้หญิงร่วมแสดงพลัง 8 มี.ค.

นางสุนี กล่าวอีกว่า ขอตั้งคำถามว่า กมธ.ยกร่างฯ จำเป็นต้องทบทวนตัวเองแล้วว่า มีเหตุผลอะไรที่ชอบธรรม จึงไม่ยอมรับสัดส่วนหญิงชาย ในหลักการรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีบทบาทเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งรธน.ฉบับใหม่กำลังส่งสัญญาณถอยหลังลงคลอง เมื่อเทียบกับฉบับปี 50 ในประเด็นสัดส่วนหญิงชาย ซึ่งต้องให้ดีขึ้นกว่าเดิม หากรธน. ไม่บัญญัติการมีส่วนร่วมตัดสินใจทุกมิติ ทุกระดับของผู้หญิงให้ชัดเจน สุดท้ายแล้วจะมีปัญหาตามมา และส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเกี่ยวพันถึงสิทธิชุมชน และคุณภาพชีวิตของผู้หญิง และประชาชนทั้งหมดด้วย ซึ่งกมธ.ยกร่างรธน. จะเขียนตามใจชอบไม่ได้ หลังจากนี้ขบวนผู้หญิง จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เสียงของผู้หญิงถูกละเลย เพราะอุดมการณ์ความเสมอภาคของผู้หญิง คือ อุดมการณ์เพื่อทุกคนทั้งหญิงชาย โดยวันที่ 8 มี.ค.ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล เครือข่ายผู้หญิงจากทุกภาค ขบวนแรงงานหญิง ภาครัฐและเอกชนกว่า 1 พันคน จะออกมาส่งเสียงเพื่อแสดงพลัง ย้ำเตือนว่าผู้หญิงเป็นพลังสำคัญเพราะมีมากกว่าครึ่งประเทศ ต้องมีความเสมอภาคในบทบาททางการเมืองและการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ ผู้หญิงต้องมีสิทธิและสัดส่วนเท่าเทียมผู้ชายคือ 50:50
นางม้วน ถิ่นวิลัย ขบวนเครือข่ายผู้หญิงไทย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การลาออกจากตำแหน่งของ นางทิชา ครั้งนี้ไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่ต้องมองให้ลึกว่า ควรเปิดโอกาสรับฟังเสียงของผู้หญิงบ้าง แม้กมธ.ยกร่างรธน. จะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ความเป็นจริงแล้วผู้หญิงมีประสบการณ์มีความสามารถในการทำงานไม่ต่างจากผู้ชาย เมื่อเสนออะไรไปแล้วไม่มีการรับฟัง ก็ไม่เกิดประโยชน์ เป็นใครใครก็ต้องท้อไม่มีกำลังใจ
นอกจากนี้ที่ผ่านมาเครือข่ายผู้หญิงเคยรวมตัวกันเพื่อแสดงพลัง นำเสนอปัญหาต่างๆ ทั้ง 4 ภาค แต่สุดท้ายกลับไม่ได้หยิบยกมาพิจารณาจึงขอฝากไปยังกมธ.ยกร่างรธน.ทั้งหญิงชาย ที่พยายามสนับสนุนความเสมอภาคหญิงชายที่เหลืออยู่ต้องอดทน ให้ต่อสู้เพื่อสิทธิเสมอภาคหญิงชายต่อไป และหวังว่าจะไม่ถูกกดดันและเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น