xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ 3 ช่องโหว่ ปชช.ขาดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
“วิษณุ” ชี้ความยุติธรรมในสังคมมี 3 ช่องโหว่ที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม ระบุรบ.ยังไม่เสนอความเห็นในการยกร่าง รธน. ขอเวลาให้ กมธ.คิดสักระยะค่อยลงความเห็น แนะหากจะทำประชามติ ต้องสร้างความเข้าใจและอธิบายในทุกมาตราแก่ ปชช. หวั่นซ้ำรอยรัฐธรรมนูญปี 50

วันนี้ (22 ธ.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเวลา 09.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “เติมเต็มช่องว่าง สร้างมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรม” และปาฐกถาเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปประเทศไทย ว่างานยุติธรรมเป็นงานใหญ่กว้างขวางและสำคัญมาก ซึ่งเป็นบ่อเกิด และต้นตอของปัญหาอื่นๆอีกหลายปัญหาทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ความยุติธรรมในอรรถคดี ไม่มีสิ่งใดแล้วที่เป็นยอดปรารถนาสูงสุดของประชาชนเท่ากับความเป็นธรรม เราอาจจะไม่เดือดร้อนมากนักว่าผลสุดท้ายมันจะเป็นธรรมหรือไม่ แต่เราเดือดร้อนถ้ามันยุติลงด้วยความรู้สึกว่ามันค้างคาใจไม่เป็นธรรมอยู่ ความยุติธรรมคือ การสร้างความพอใจให้เกิดขึ้น และทำให้เกิดการยอมรับ เมื่อใดสังคมไม่ยอมรับ ก็จะนำไปสู่ความร้าวฉานในสังคม ในหลายประเทศการก่อความไม่สงบลุกลามไปถึงการแบ่งแยกดินแดน การประกาศอิสรภาพไม่เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกันก็ล้วนเกิดจากความไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องเติมเต็มช่องว่าง คำว่าเติมเต็มช่องว่างความยุติธรรมซึ่งไม่ใช่การใช้กฎหมาย ส่วนที่เป็นหลุมเป็นบ่อที่สามารถทำได้เลย แต่อาจไม่เกิดประโยชน์และไม่ตอบโจทย์ที่สังคมต้องการ สังคมวันนี้ยังมีเกิดช่องว่างอยู่มาก เช่น ระหว่างคนจน- คนรวย คนด้อยโอกาส-คนได้โอกาส ผู้อำนาจต่อรองสูง-ผู้ไม่มีอำนาจต่อรอง ผู้หาความเป็นธรรม-ผู้รักษาความเป็นธรรม ซึ่งถ้าสร้างความรู้สึกดีๆให้เกิดขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เริ่มตั้งแต่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ ทั้งหมดนี้ต้องทำงานร้อยเรียงประสานกัน ก็จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นลดลง

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสังคมยังมี 3 ช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหา คือ 1. ประชาชนทั่วไปกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่เชื่อถือ ไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เช่นไม่ยอมรับคำพิพากษา หรือคำวินิจฉัย นี้คือการเกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับกระบวนการยุติธรรม เมื่อประชาชนเกิดความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นต่อกระบวนการยุติธรรมแปลว่าเขาไม่เข้าใจ สิ่งที่ต้องเติมเต็มคือต้องอธิบายทำความเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างไร เพื่อให้เกิดผลอย่างไร 2. ช่องว่างของประชาชนที่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพื่อความยุติธรรม แต่กลับเข้าไม่ถึงเพราะถูกกีดกัน มีค่าใช้จ่ายที่แพงและใช้เวลายาวนานมากเกินกว่าที่จะรอได้ ทำให้คนล้มเลิกความคิดที่จะแสวงหาความเป็นธรรม 3. ช่องว่างระหว่างองค์กรในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันเองระหว่างตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ และทนายความ ซึ่งพูดจากันไม่รู้เรื่อง ทำงานร่วมกันไม่ได้ ยังติดขัดที่ขั้นตอนปรัชญา อุดมการณ์ กฎหมาย และอะไรอีกหลายอย่างที่บางครั้งก็สร้างช่องว่างขึ้นเองให้เป็นอุปสรรค ขัดแย้งกันเอง จำเป็นต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนองค์กร ซึ่งไม่ใช่การยุบรวม ทั้งหมดยังทำงานบนพื้นฐานความเป็นอิสระ แต่ต้องบูรณาการร่วมกันให้ได้อย่างน้อยก็พื้นฐานงานเอกสาร ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ ใครคิดก่อนทำก่อน ใครคิดใหม่ทำใหม่ ปัญหามันก็เลยเกิดขึ้น เช่น ในกรณีที่ศาลเปิดทำการแล้วตำรวจ อัยการ ราชทัณฑ์ และสถานพินิจฯยังไปไม่ถึง นี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่มีการเติมเต็มระหว่างกระบวนการยุติธรรมด้วยกันเอง ถ้าช่องว่างในสังคมมี3ช่องในสังคม บางครั้งหาก นำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาที่เคยใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้กับกระบวนการยุติธรรม อาจจะนำไปสู้การแก้ปัญหาต่างๆได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเข้ามาทำงาน 4 เดือนตามโรดแมปขั้นที่ 2 ของ คสช. โดยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกำหนดเป็นนโยบายด้านที่ 10 ซึ่งมุ่งหวังที่จะเติมเต็มช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น โชคดีที่การบริหารงานยุติธรรมในยุคนี้น่าจะมีความพร้อมหลายด้านทั้งความตั้งใจ บุคลากร และโอกาสที่สังคมเรียกร้องการปฏิรูป 4 เดือนที่ผ่านมาร่างกฎหมายหลายฉบับผ่านคณะรัฐมนตรี ส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี การจัดตั้งกองทุน ตาม พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ซึ่งหากกฎหมายสัมฤทธิผลก็จะช่วยบรรเทาความเดือนของของประชาชนได้

นายวิษณุกล่าวอีกว่า วาระแห่งชาติของงานด้านยุติธรรมทั้ง 5 เรื่องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน การพัฒนาพฤตินิสัย การลดความเหลื่อมล้ำ การแห้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ และปัญหายาเสพติด ถือเป็นดัชนีชี้วัดประเทศไทยที่สำคัญ ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและศักยภาพของคนที่จะทำ

นายวิษณุยังกล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ภาระในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน ในส่วนของรัฐบาลจะเหมือนกับองค์กรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พรรคการเมือง สามารถมีข้อเสนอต่างๆ ได้ แต่วันนี้รัฐบาลยังไม่จำเป็นที่จะต้องเสนอความเห็น ปล่อยให้ กมธ.ยกร่างฯ คิดไปสักระยะก่อน จึงค่อยเสนอว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร วันนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้ทำอะไร การที่รัฐบาลออกมาพูดตอนนี้จะถือว่าเร็วไป จึงต้องปล่อยให้เห็นหน้าตาแกงส้มอย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เคยกล่าวไว้ เพราะยังมีเวลาอีกมากพอสมควร เวลานี้ใครอยากพูดอะไรก็สามารถเสนอได้ แต่รัฐบาลเองจะพูดให้น้อยที่สุด ขณะที่หลายคนบอกว่าพวกเขาร้อนวิชา มีการออกมาแสดงความเห็นต่อการยกร่างฯ ที่หลากหลาย ที่จริงภาษาไทยยังมีอีกคำหนึ่งซึ่งเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จัก เก่ากว่าเรือแป๊ะ คือคำว่าเหาะเกินลงกา เพราะเมื่อตอนที่นางสีดาถูกจับตัวไป พระรามได้ออกตามหา แต่พระรามกลัวว่านางสีดาจะไม่รู้ จึงให้หนุมานเอาแหวนไปให้นางสีดา เมื่อเห็นแหวนจะได้จำได้ หนุมานจึงดีใจเร่าร้อนวิชา ตีลังกาเหาะเหินเดินอากาศ ปรากฎว่าเหาะจนเลยเมืองลงกา ซึ่งแปลว่าวันนี้อาจมีลักษณะแบบนี้บ้างก็ไม่ว่ากัน แต่อีกหน่อยช่วยดึงกลับมาลงเมืองลงกาให้ได้ ไม่เช่นนั้นนางสีดาจะไม่รู้ การปฏิรูปก็จะไม่สำเร็จ รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการทำประชามติว่า การทำประชามติจะสำคัญหรือไม่ อยู่ที่ว่าจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ว่าทำไปทำไม โดยการทำประชามติเพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งนำไปสู่การผูกมัดอะไรหลายอย่าง ถือเป็นข้อดี แต่เรื่องดังกล่าวก็มีจุดอ่อนเพราะจะทำให้กระบวนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญล่าช้า และต้องใช้เงินมากเท่ากับการจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม หากจะทำประชามติต้องสร้างความเข้าใจและอธิบายในทุกมาตรา ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากพอจึงเกิดปัญหาถกเถียงกันภายหลัง

กำลังโหลดความคิดเห็น