ASTVผู้จัดการรายวัน-สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องป.ป.ช. ไต่สวน สนช. ตั้งลูกเมียเป็นคณะทำงาน "พรเพชร-เลขาฯ" โดนด้วย เหตุใช้อำนาจ-ลงนามแต่งตั้ง เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ด้านวิป สนช. แสดงสปิริต หวั่นสังคมตราหน้า! ออกคำสั่งให้สมาชิก สนช. กว่า 50 คน เลิกจ้างเครือญาติช่วยงาน มีผล 1 มี.ค. นี้ หวังสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้นทางการเมือง “สุรชัย” เผย สนช. ที่ตั้งลูก - เมีย อ้าง อยู่ไกล - ต้องทำมวลชน - มีข้อมูลลับ ต้องตั้งคนที่ไว้ใจเกรงความลับรั้วไหล ไม่หวั่นถูกฟ้อง ยันไม่ได้ทำผิดกฎหมาย อ้างที่จำเป็นต้องจ้างคนใกล้ชิด เพราะเงินเดือนน้อย เกรงว่าคนทั่วไปจะไม่ยอมมาทำงานให้
วานนี้ (3มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนกรณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 50 คน กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และขัดแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง ที่เสนอชื่อเครือญาติ ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะสำนักเลขาธิการสนช. เข้ารับการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช. ถือเป็นการดำเนินการ หรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 และเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับแก้ไขเพิ่มเพิ่ม และขอให้ไต่สวน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะใช้อำนาจ ออกประกาศคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช. และ นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการ สนช. ในฐานะผู้ลงนามแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิกสนช.
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า สนช.ชุดนี้เป็นความคาดหวังของประชาชน ในการปฏิรูปการเมืองไม่ให้กลับไปสู่วังวนน้ำเน่าเหมือนนักการเมืองในอดีต ดังนั้น ควรเป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคมไทย สิ่งที่สมาคมฯ มาร้องครั้งนี้ หวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไข เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำอีก ซึ่งหากมีการไต่สวนแล้วพบความผิด ป.ป.ช. มีอำนาจนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องบุคคลเหล่านี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งของ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช.
ส่วนกรณีที่ สนช.ระบุ การตั้งเครือญาติไม่ขัดต่อหลักกฎหมายนั้น กฎหมายที่อ้างต่อป.ป.ช.เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามแต่งตั้งเครือญาติ หากมาอ้างว่าไม่ผิด จะอธิบายสังคมอย่างไร และงงเหมือนกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดว่า ไม่ผิด แปลกใจ นายกฯเข้าใจกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ขอให้ สนช. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมโดยเร็ว และควรมีข้อสรุปภายใน 1 เดือน เพราะยิ่งช้า ผลเสียจะเกิดขึ้นกับสนช.ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า เครือญาติเหล่านี้ควรจะลาออกจากตำแหน่งผู้ชำนาญการต่างๆ เพื่อแสดงสปิริต หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นจิตสำนึกของแต่ละคนที่จะกระทำหรือไม่ เพราะรู้อยู่แล้วตัวเองเข้ามาทำงานตามวัตถุประสงค์หรือไม่ การอ้างเรื่องคนที่ไว้วางใจนั้น คิดว่าบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ หรือสนิทชิดเชื้อ น่าจะมีจำนวนมาก ไม่ใช่มีเฉพาะเครือญาติของตัวเอง
เมื่อถามว่า การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ข้ออ้างของการปฏิรูปเป็นเพียงข้ออ้างธรรมดา ไม่สะท้อนความจริงที่ปรากฏต่อสังคม เป็นการผลัดกันเกาหลัง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป เข้ามาสู่แวดวงอำนาจโดยใช้ข้ออ้างต่างๆ นานา แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองเดิมๆ ในอดีตที่ผ่านมา ที่เข้ามาสู่อำนาจ และทำผิดกฎหมาย คอร์รัปชัน
" นายกฯ และ สนช. ต้องแสดงสปิริต แนะให้ภรรยา พี่น้อง และบุตรของตัวเอง ลาออกไป เพื่อรักษาชื่อเสียงของสนช. ให้ประชาชนได้แซ่ซ้องสรรเสริญ" นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราคงต้องดูในรายละเอียดว่า เหตุที่จะยื่นนี้ อยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.หรือไม่ เช่นที่อ้างว่า เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์หรือไม่ ต้องดูว่ากฎหมายป.ป.ช. โดยหากพูดถึง มาตรา 100 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จะกำหนดไว้เพียง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และ รองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้กำหนดรวมถึง ส.ส.- ส.ว. และ สนช. เพราะตำแหน่งเหล่านี้ ต้องเป็นตำแหน่งที่ป.ป.ช.กำหนด จึงจะเป็นเรื่องของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงกฎหมายว่าด้วยการขัดกันของประโยชน์เพียงอย่างเดียว ยังไม่มีกฎหมายป.ป.ช.รองรับ แต่กฎหมายอื่นไม่ทราบ เพราะว่าเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของป.ป.ช. แต่เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เมื่อร้องเรียนเข้ามาป.ป.ช.ก็จะพิจารณา ซึ่งการจะตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรมนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการฯ ที่จะดำเนินการสืบสวนหาข้อมูล เมื่อพบว่าผิด จะส่งให้สภาฯ ดำเนินการถอดถอน ก็เป็นไปตามกระบวนการ ฉะนั้นหน้าที่เราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันของผลประโยชน์ กฎหมายเรายังไม่ได้รองรับ
**วิปสนช.สั่งสมาชิกเลิกจ้างเครือญาติ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวภายหลังประชุมวิป สนช. ว่า วิปสนช.ได้หารือถึงการแต่งตั้งคนใกล้ชิด เครือญาติ เข้ามาช่วยงานในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้ชำนาญ ที่ปรึกษาประจำตัวสนช. ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า แม้ การตั้งดังกล่าว จะไม่มีอะไรขัด หรือแย้งกับ กฎ ระเบียบ แต่เมื่อสังคมได้ทักท้วงถึงความเหมาะสม สนช.จึงเห็นว่า ควรจะเป็นสภาตัวอย่าง ซึ่ง สนช.ก็น้อมรับข้อวิจารณ์ของสังคม เพื่อไม่ให้สังคมสงสัยถึงความเหมาะสม วิปสนช. จึงได้ให้คำแนะนำว่า สมาชิกที่ได้ตั้งบุคคลใกล้ชิดและเครือญาติ มาช่วยงานในตำแหน่งดังกล่าว ให้ปรับออกทั้งหมด ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 มี.ค. 58 หวังว่าสมาชิกจะดำเนินการเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้นทางการเมือง
นายสุรชัย กล่าวว่า จากการชี้แจงของสมาชิกหลายคน ถึงเหตุผลตั้งคนในครอบครัวมาช่วยงาน เนื่องจากบางคนอยู่ต่างจังหวัด เมื่อมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็จำเป็นต้องมีคนทำงานด้านมวลชนในพื้นที่ อีกทั้งยังมีเหตุผลทางด้านการเมือง และมีข้อมูลที่เป็นความลับ จึงจำเป็นต้องตั้งคนที่ไว้ใจได้ไม่เช่นนั้นความลับจะรั่วไหล ประกอบกับเงินเดือนประจำตำแหน่งต่างๆน้อย เกรงว่าจะไม่มีใครยอมมาทำงานให้ จึงจำเป็นต้องตั้งคนใกล้ชิด
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า เมื่อสังคมตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เหมาะสม เราก็ต้องแสดงสปิริต และต่อไปในอนาคต หากมีการปฏิรูปก็ควรกำหนดเป็นระเบียบให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องเถียงกันว่า ขัดหรือไม่
เมื่อถามว่า จะแก้ไขกฎระเบียบเลยหรือไม่ นายสุรชัย ชี้แจงว่า เบื้องต้นเพื่อให้เกิดผลรวดเร็ว ก็ให้สมาชิกดำเนินการตามคำแนะนำของวิปสนช. แม้ไม่มีระเบียบ เชื่อว่าจะไม่มีใครขัดข้อง และเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขภายหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสมาชิกบางส่วนเริ่มทยอยให้คนใกล้ชิดลาออกจากตำแหน่งต่างๆไปบ้างแล้ว รวมทั้งให้เลขาธิการ สนช. ตรวจสอบข้อมูลว่า มีสมาชิกใดแต่งตั้งในลักษณะดังกล่าวอีก
เมื่อถามว่า วันนี้ (3 มี.ค.) ได้มีการร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว นายสุรชัย กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเป็นเรื่องความเหมาะสมหรือไม่ และยังไม่ได้ทำผิดกฎหมาย รวมทั้ง สนช.ได้แสดงสปิริตแล้ว จึงไม่มีอะไรต้องให้น่าวิตกกังวล