จี้ สนช.ตั้ง “เครือญาติ-ลูก-เมีย” ช่วยงาน แสดงสปิริตคืนค่าตอบแทน หลังร้อง ป.ป.ช.ไต่สวนยกชุด “พรเพชร-เลขาฯ วุฒิสภา-สนช.” ด้าน ป.ป.ช.โยนผู้ตรวจฟันหากขัดจริยธรรม แต่เร่งสอบคำร้อง เทียบเคียงข้อกฎหมายว่ามีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ ด้าน “หมอเจตน์” โพสต์ยันให้ลูกสาวลาออกแล้ว ย้ำไม่มีข้อห้าม แต่เด็กกำลังว่างงานเพราะอยู่ในระหว่างการดูหนังสือสอบ คำนวณแล้ว สนช.ทำงาน 7 เดือน คาดต้องคืนกว่าสิบล้านบาท
วันนี้ (3 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยพร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมี พ.ต.อ.อิทธิพล กิจสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นตัวแทนรับ โดยขอให้ไต่สวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กว่า 50 คน กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและขัดแย้งต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างร้ายแรง กรณีเสนอชื่อเครือญาติต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะสำนักเลขาธิการ สนช. เข้ารับการแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช. ถือเป็นการดำเนินการหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องห้ามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 ประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 และเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับแก้ไขเพิ่มเพิ่ม
ทั้งนี้ ขอให้ไต่สวนนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ในฐานะใช้อำนาจออกประกาศคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช. และนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการ สนช. ในฐานะผู้ลงนามแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช.
นายศรีสุวรรณกล่าวภายหลังว่า สนช.ชุดนี้เป็นดรีมทีมของประชาชนในการปฏิรูปการเมืองไม่ให้กลับไปสู่วังวนน้ำเน่าเหมือนนักการเมืองในอดีต ดังนั้นควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมไทย สิ่งที่สมาคมฯ มาร้องครั้งนี้หวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขเพื่อไม่ให้เหตุกาณ์แบบนี้เกิดซ้ำอีก ซึ่งหากมีการไต่สวนแล้วพบความผิด ป.ป.ช. มีอำนาจนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อฟ้องร้องบุคคลเหล่านี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมทั้ง “เรียกคืนเงินประจำตำแหน่งของผู้เชี่ยวชาญผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวสมาชิก สนช.”
ส่วนกรณี สนช.ระบุว่าการตั้งเครือญาติไม่ขัดต่อหลักกฎหมายนั้น กฎหมายที่ตนอ้างต่อ ป.ป.ช.เขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามแต่งตั้งเครือญาติ หากมาอ้างว่าไม่ผิดจะอธิบายสังคมอย่างไร
“งงเหมือนกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดว่าไม่ผิด แปลกใจนายกฯ เข้าใจกฎหมายมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ขอให้ สนช.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมโดยเร็ว และควรมีข้อสรุปภายใน 1 เดือน เพราะยิ่งช้าผลเสียจะเกิดขึ้นกับ สนช.ทั้งหมด” นายศรีสุวรรณกล่าว
ส่วนการกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ข้ออ้างของการปฏิรูปเป็นเพียงข้ออ้างธรรมดา ไม่สะท้อนความจริงที่ปรากฎต่อสังคม เป็นการผลัดกันเกาหลัง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป เข้ามาสู่แวดวงอำนาจโดยใช้ข้ออ้างต่างๆ นานา แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองเดิมๆ ในอดีตที่ผ่านมาที่เข้ามาสู่อำนาจและทำผิดกฎหมาย การคอร์รัปชัน
ส่วนจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศได้อย่างไร นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นายกฯ และสนช.ต้องแสดงสปิริตแนะให้ภรรยา พี่น้อง และบุตรของตัวเองลาออกไปเสียเพื่อรักษาชื่อเสียงของ สนช.ให้ประชาชนได้แซ่ซ้องสรรเสริญ
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบสมาชิก สนช.กว่า 50 คน แต่งตั้งเครือญาติเข้ารับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว สนช. ว่าต้องดูในรายละเอียดว่าอยู่ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. หรือไม่ เช่นที่อ้างว่า เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ต้องดูว่าตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดไว้เพียงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้กำหนดรวมถึง ส.ส., ส.ว. และ สนช. เพราะตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่ ป.ป.ช. กำหนด จึงจะเป็นเรื่องของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์
“เมื่อพูดถึงกฎหมายว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์อย่างเดียว ยังไม่มีกฎหมาย ป.ป.ช.รองรับ แต่กฎหมายอื่นไม่ทราบ เพราะว่าเรื่องคุณธรรมจริยธรรมนั้นไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของ ป.ป.ช. แต่เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เมื่อร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช. เราจะพิจารณา ซึ่งการจะตรวจสอบคุณธรรมจริยธรรมนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการสืบสวนหาข้อมูล เมื่อพบว่าผิดจะส่งให้สภาดำเนินการถอดถอนก็เป็นไปตามกระบวนการ ฉะนั้นหน้าที่เราในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ กฎหมายเรายังไม่ได้รองรับ” นายสรรเสริญกล่าว
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ หนึ่งใน สนช.มีชื่อในกลุ่มดังกล่าวได้โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีชื่อติดกลุ่ม สนช.ที่ตั้งลูก-เมีย-ญาติเข้าไปช่วยทำงาน เพราะถูกจับรวมอยู่ในกลุ่ม 40 สว. และมีลูกสาว คือ น.ส.นันทนัช ศิรธรานนท์ เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน รับเงินเดือน 15,000 บาท โดยข่าวเริ่มจากสำนักข่าวอิศรา นำมาเผยแพร่โดยไม่ถามสักคำ จะได้อธิบายว่า น.ส.นันทนัช ศิรธรานนท์นั้นลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2558 เพราะสอบได้ผู้ช่วยผู้พิพากษา และสอบสัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2558 บรรจุตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 ประมวลจริยธรรมของตุลาการ ไม่อนุญาตให้ทำงานกับนักการเมือง
ส่วนสาเหตุทำไมถึงตั้งในช่วงก่อนนั้น และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่มีข้อห้าม เด็กกำลังว่างงานเพราะอยู่ในระหว่างการดูหนังสือสอบ ให้ช่วยดูร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาหลายฉบับ รวมทั้งอนุสัญญาต่างๆ เช่น อนุสัญญาการรับขนทางอากาศ ร่าง พ.ร.บ.ศุลการกร (การผ่านแดนและการถ่ายลำ) ร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ… ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (แก้ไขเพิ่มเติมความผิดเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์) ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ข้อมูลการบริหารสิทธิ์) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญา (แก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อาญา (การดำเนินการคดีแบบกลุ่ม)
“ดูเสร็จแล้วให้ช่วยแปรญัตติยื่นต่อคณะกรรมการ มีชนะบ้างแพ้บ้าง ถ้าคณะกรรมการไม่ยอมก็สงวนคำแปรญัตติไปสู้กันต่อในสภา และให้ช่วยเขียนประเด็นและเหตุผลในการแภิปรายให้ด้วย หลายฉบับที่แปรญัตติชนะ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การรับขนทางอากาศ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ คดีแบบกลุ่ม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง"
นพ.เจตน์กล่าวด้วยว่า การตั้งลูกสาวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับการสอบ เลือกให้ดูร่างกฎหมายที่เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญา เพราะเรียนมาโดยตรง และนับว่าได้ผล เพราะมีบางฉบับออกสอบด้วย ยืนยันว่าทำงานคุ้มค่าและในขณะนี้ไม่ได้ทำงานให้แล้ว
รายงานระบุว่า สำหรับค่าตอบแทนบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ด้วย โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นคณะทํางานทางการเมือง ดังต่อไปนี้ (1) คณะทํางานทางการเมืองของประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (2) คณะทํางานทางการเมืองของรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
คณะทำงานทางการเมืองให้มีตำแหน่ง จำนวน และอัตราค่าตอบแทน ประกอบด้วย 1. ที่ปรึกษา จำนวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 2. นักวิชาการ จำนวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 18,000 บาท 3. เลขานุการ จำนวน 2 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท
นอกจากนี้ ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคนในตําแหน่ง จํานวน และอัตราค่าตอบแทน ดังต่อไปนี้ 1. ผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 24,000 บาท 2. ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 3. ผู้ช่วยดําเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จํานวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท โดยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่ละคน ถ้ามีการแต่งตั้งครบจํานวน 5 อัตรา ในจํานวน 5 อัตราดังกล่าว ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่สมัคร หรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อย่างน้อย 1 อัตรา
รายงานระบุด้วยว่า ในส่วนของ สนช.มีการคำนวณว่า หากตั้งทีมงานครบ รัฐจะต้องจ่ายค่าตอบแทนต่อเดือน เป็นเงินถึง 22,250,000 บาท ซึ่ง สนช.ทำงานมาครบ 7 เดือน น่าจะมีการจ่ายค่าตอบแทนไปแล้ว 154 ล้านบาท แต่ สนช.50 คน ตั้งคนใกล้ชิดก็น่าจะต้องเรียกคืนประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท หรือ 13 ล้านบาทเศษ