xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ “บวรศักดิ์” เสนอตั้ง กก.ปรองดอง ชงอภัยโทษแค่ข้อเสนอส่วนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ระบุ “บวรศักดิ์” ดันตั้ง กก.ปรองดอง เพื่อเสนออภัยโทษเป็นความเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกัน แจงไม่เคลียร์ กก.ปฏิรูป-ปรองดอง ใหญ่เหนือ ครม.-รัฐสภา-ศาล แถมมีอำนาจครอบจักรวาล เสนอทั้ง กม.ปฏิรูป และปรองดองได้ มีวาระ 5 ปี ต่ออายุต้องทำประชามติ สร้างกลไกพิเศษ เสนอกฎหมายผ่านวุฒิสภา ส.ส.แค่ตรายาง



นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองว่า ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 2 มาตรา คือ บทบัญยัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา ครม. ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานและพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และความในภาคนี้ให้สิ้นผลบังคับในวันถัดจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับครบ 5 ปี เว้นแต่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน รัฐสภา หรือ ครม. เสนอให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก ออกเสียงประชามติเห็นชอบ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าดวยการออกเสียงประชามติ

นายคำนูณกล่าวว่า เนื้อหาในมาตรานี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาประเทศทั้งเรื่องการปฎิรูปและสร้างความปรองดองในชาติ จึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบเวลาชัดเจน 5 ปี โดยภายใต้บทบัญญัติภาคนี้จะทำให้เกิดคณะกรรมการสองชุด คือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการปรองดอง ซึ่งจะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน เช่น คณะกรรมการปฎิรูปมีอำนาจเสนอกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปและกลไกที่จะผ่านกฎหมายในสภานิติบัญญัติจะเป็นกลไกรูปแบบพิเศษ คือ ไปเริ่มต้นที่วุฒิสภา 3 วาระ ก่อนที่จะกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น หากไม่เห็นชอบก็กลับสู่กระบวนอีกครั้งเพื่อยืนยันร่างกฎหมาย

สำหรับคณะกรรมการปรองดอง เท่าที่เห็นยังไม่มีเรื่องการเสนอกฎหมาย แต่ที่สุดอาจมีก็ได้ ทั้งนี้กการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีขั้นตอนเป็นกระบวนการโดยเริ่มจากการค้นหาความจริง หาสาเหตุ ยอมรับผิดก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นที่การเสนอกฎหมาย

ส่วนความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรับธรรมนูญ ที่ปาฐกถาตอนหนึ่งว่าคณะกรรมการปรองดองจะมีอำนาจในการเสนอกฎหมายอภัยโทษนั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการฯ หลายครั้งที่ผ่านมา กรรมาธิการยกร่างฯ ก็ไม่ได้เห็นตามประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทุกเรื่อง จึงไม่อยากให้มองว่ากระบวนการสร้างความปรองดองมีปลายทางอยู่ที่การนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ทั้งนี้ยืนนว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 36 คนต้องการให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขวิกฤตประเทศได้ ส่วนจะมีการวิจารณ์ว่าตั้งโจทย์ผิดจะทำให้เกิดวิกฤตยิ่งขึ้นหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การบัญญัติไว้ว่าเนื้อหาในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา ครม.และศาล หมายถึงว่าสิ่งที่คณะกรรมการฯ สองชุดนี้เสนอทั้งรัฐสภา ครม.ศาลต้องปฏิบัติตามใช่หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ใช่ เพียงแต่ให้ทั้ง 3 องค์กรปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เมื่อถามแย้งว่า ในเมื่อคณะกรรมการทั้งสองชุดเกิดโดยรัฐธรรมนูญและมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 หน่วยงานนั้ก็ต้องปฏิบัติตามคณะกรรมการไปโดยปริยาย นายคำนูณแสดงท่าทีอึดอัดก่อนจะตอบว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ถ้ามีการเสนอกฎหมายสภานิติบัญญัติฯ ก็มีสิทธิพิจารณาถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหาร ครม.ก็พิจารณา หาก ครม.ไม่เห็นด้วยก็อาจต้องแสดงเหตุผลต่อสาธารณะที่ชัดเจน

เมื่อถามต่อว่า หากเป็นเช่นนี้ข้อเสนอของคณะกรรมการฯดังกล่าวจะมีผลผูกพันอย่างไรในเมื่อหน่วยงานปฏิบัติไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ นายคำนูณไม่ยอมตอบคำถามดังกล่าว ผู้สื่อข่าวถามต่อว่านายบวรศักดิ์ระบุชัดเจนว่า คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจเสนอกฎหมายอภัยโทษเท่ากับว่าเป็นการบังคับประชาชนให้ต้องยอมรับกฎหมายอภัยโทษ เพราะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหากใครไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถคัดค้านได้ใช่หรือไม่ เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหากมีคนไม่เห็นด้วยหรือมีการประท้วงก็ย่อมทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม และเป็นไปไม่ได้ที่จะออกกฎหมายแล้วบังคับให้ทุกคนทั้งประเทศต้องเห็นด้วย

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลังการอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ และคนที่จะขออภัยโทษต้องเป็นญาติเท่านั้น เท่ากับรัฐธรรมนูญใหม่ทำลายหลักการอภัยโทษหรือไม่เพราะเป็นการให้คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ นายคำนูณปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยกล่าวเพียงว่ายังไม่มีการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น