xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”เมินเคลียร์“แม้ว”เรียกกลับมาสู้คดี “ถาวร”งัด ม.157ขวาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บิ๊กตู่” ปัดลดตัวคุย “นช.แม้ว” ชี้มีคดีติดตัวคุยด้วยไม่ได้ กวักมือเรียกกลับไทยค่อยว่ากัน แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน บอกไม่ปิดประตูตาย เปิดตลอดให้คนที่ทำถูกต้อง โอ่ก้าวข้ามคนชื่อ “ทักษิณ” มานานแล้ว “บิ๊กป้อม” ไม่รับงานทูตเจรจา อ้าง กม.ค้ำคอ “ถาวร” โดดขวางงัด ม.157 ขู่ “อ้ายปึ้ง” อ้างนายใหญ่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง จำศีลอยู่เมืองนอกตลอด ขณะที่ “คำนูณ” แจงรูปแบบ คกก.ปฏิรูป-ปรองดอง กำหนดกรอบ 5 ปีงานเสร็จ ส่วนอำนาจชง กม.อภัยโทษเป็นความเห็น “บวรศักดิ์” คนเดียว


วานนี้ (16 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การสร้างความปรองดองสำเร็จว่า เขามีอำนาจอะไรที่จะมาบังคับผม แล้วมีการกระทำอะไรที่ขัดต่อหลักของกฎหมายหรือไม่ อย่าลืมว่าวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมีคดีติดตัวอยู่ แล้วตนจะไปพูดด้วยได้หรือไม่ ก็ต้องคิดดูตรงนี้

นายกฯคุยกับคนทำผิดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าสถานะของนายกฯในวันนี้ไม่สามารถที่จะไปพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คำถามนี้เข้าท่า ส่วนการจะมอบหมายให้ผู้อื่นไปหารือแทนนั้น ไม่ว่าใครไปก็ผิดทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าใครอยากจะปรองดองก็กลับประเทศมาเข้ามาสู่กระบวนการ ไม่ว่าจะใครก็เป็นเหมือนกันทุกคน และเห็นมีตั้งหลายคนก็กลับเข้ามาก่อน ซึ่งไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง มันขัดแย้งกันเยอะไปหมดผิดกฎหมายกันตรงไหนก็ขอให้กลับเข้ามา เข้าสู่กลไกและกระบวนการยุติธรรม

นายกฯกล่าวด้วยว่า ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่า ถ้ายกเลิกสิ่งที่ทำผิดกฎหมายทั้งหมดแล้ว ประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป ในข้อเท็จจริง ผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันมาตามหลักฐานและต้องดูว่าการตัดสินคดีความทั้งหมดว่าอย่างไร มีผลย้อนหลังทั้งหมดหรือไม่ หรือทุกคดีจะให้นิรโทษกรรมทั้งหมดเลยหรือ เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น จะต้องตั้งหลักของเราให้ได้ก่อนแก้ปัญหาประเทศดูแลประชาชนวางรากฐานเตรียมเลือกตั้ง ส่วนการจะย้อนไปพิจารณาเลือกนิรโทษกรรมนั้นค่อยมาว่ากัน ถ้าทำได้ก็ไปว่ากันมา

“ส่วนตัวผมเองจะให้ไปพูดอะไรกับใครที่มีคดีความอยู่ มันไม่ได้ เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ยันไม่ได้ปิดประตูตาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้วิธีไปพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำเสื้อแดงที่อยู่ในไทยได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะให้คุยกับใคร แล้วคนเหล่านั้นจะคุยกับตนในเรื่องอะไร อย่าลืมว่า ตนเข้ามาครั้งนี้เพื่อหยุดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นและมาเพื่อเดินหน้าประเทศ ซึ่งมันยังเดินไม่ได้ ถือเป็นหน้าที่ของตน ส่วนเรื่องคดีความฝ่ายกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ไปว่ากันมา ถ้ากระบวนการยุติธรรมระบุว่าสามารถทำอย่างที่มีการเสนอได้ก็ต้องทำให้เป็นเรื่องราวส่งมาให้ตนเพื่อรับทราบว่าสามารถทำได้หรือเปล่าในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ จะมาตกลงกันเองมันไม่ได้ทุกอย่างจะต้องมีเหตุและผลทำงานต้องมีหลักการ

“ไม่ได้ปิดประตูตาย ประตูก็ยังเปิดอยู่สำหรับคนที่ทำถูกต้อง ผมก็เปิดทั้งหมด ถ้ายังไม่ถูกก็ต้องไปทำให้ถูก ผมยินดีเปิดรับแต่ถ้าทำไม่ถูกขั้นตอนว่าอย่างไรก็ต้องทำตามขั้นตอนนั้น" นายกฯ กล่าว

โวก้าวพ้น “ทักษิณ” นานแล้ว

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาลางสถาบันออกมาจัดกิจกรรมเชิงต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากฝากน้องๆ หลานๆ ว่าอย่าตกไปเป็นเครื่องมือใคร อย่าลืมว่าคนที่มานำเคลื่อนไหวเขาต้องการอะไร กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเพื่อให้มีการขยายความขัดแย้งกับ คสช.แล้ว ถามว่าวันนี้เลือกตั้งได้หรือยัง สมมติว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วจะเลือกตั้งได้หรือไม่ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าสถานการณ์วันนี้เบาลงหรือลดลง ใครที่ทำผิดกฎหมายก็กลับเข้ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าทำแบบนี้มันก็ไม่ทะเลาะกัน แต่ถ้าทำไม่ได้วันข้างหน้าก็ทะเลาะกันอีก ถึงจะเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมไทย เราก็ต้องมีสังคมไทยใหม่ที่ไม่มีความขัดแย้งเฉลี่ยเท่าเทียมตามสัดส่วนทั่วถึงกัน

เมื่อถามว่ามองอย่างไรที่มีการกล่าวว่าการเมืองไทยวันนี้ยังผูกติดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็อย่าไปสนใจสิ สื่อก็อย่าไปเขียนให้เขา อย่าไปเขียนอะไรที่มันผิด อย่าไปเขียนต่อ และพวกสื่อต้องก้าวให้ข้าม ส่วนผมก้าวข้ามมานานแล้ว”

“พี่ป้อม” ส่ายหน้าคุย “นช.แม้ว”

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์เจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณว่า สปช.ก็ว่าไป ว่าจะคุยอย่างไร เราพร้อมทุกอย่าง คิดว่าอดีตนายกฯทักษิณ ก็พร้อม ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำตลอดเวลาว่า ให้กลับมาคุยกัน คิดว่าเป็นเรื่องของ สปช.ทำอย่างไรให้เกิดความปรองดองก็ทำไป แต่การเดินทางไป พบ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อพูดคุยนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย ซึ่งนายกฯมีหน้าที่ดูแลกฎหมาย ถามว่าผิดหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกฯมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้เดินทางไปพูดคุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ สามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามกลับว่า แล้วมอบหมายได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็มีคดีความอยู่ ถ้า สปช. คิดอะไร และเห็นว่าอะไรสามารถทำได้ ก็ไปทำมา ส่วนหลักการจะเป็นอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ยืนยันว่าที่ผ่านมาตนก็ไม่เคยเจอกับ พ.ต.ท.ทักษิณเลย

ขู่เจรจา “แม้ว” เจอ ม.157 แน่

ทางด้าน นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทย หรือเจรจาเพื่อรับทราบความต้องการนั้นทำได้ แต่การจะไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตนไม่เห็นด้วยแน่ เพราะเป็นการกระทำที่มองข้ามกฎหมายไทยไปให้ความสำคัญกับนักโทษหนีคดี ซึ่งเจ้าพนักงานก็จะต้องมีความผิดในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 และงานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะถูกกล่าวโทษไปด้วย

นายถาวร กล่าวอีกว่า การที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) จะตั้งคณะกรรมาการปรองดองแห่งชาตินั้น ส่วนตัวมองว่า การคิดหาทางปรองดองเพื่อความสงบเรียบร้อยในชาติคือเรื่องดี แต่กระบวนการกฎหมายต้องดำเนินอย่างเคร่งครัดถูกต้อง และการดำเนินการตามกฎหมาย กับเรื่องการปรองดองก็ทำไปพร้อมกันได้ ที่สำคัญ กฎหมายต้องไม่มีการละเว้นโทษ โดยเฉพาะคดีคนโกง เผา และฆ่า

“ปึ้ง” ป้อง “นายใหญ่” ไม่ใช่ตัวปัญหา

อีกด้าน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เหตุใดต้องดึง พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ทุกวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในต่างประเทศอย่างเงียบๆ ที่ผ่านมาพวกท่านทำกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรมามากพอแล้ว จนประชาคมทั่วโลกและประชาชนรู้ขบวนการหมดแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน เพราะถ้าพูดคุยกันแล้วไม่ได้ข้อสรุปก็จะมาโยนความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณอีก และในเมื่ออาสาเข้ามาแก้ปัญหาควรทำให้ได้ ขอให้ยึดหลักความเป็นธรรม และเคารพในความคิดเห็นของคนอื่นบ้างก็พอ รวมถึงขอให้กลับไปคุยกันเองให้ได้ข้อสรุปก่อนน่าจะดีกว่า ก่อนมาพูดคุยกับพวกตนที่พูดง่ายและรู้เรื่อง

เช่นเดียวกับ นายวรชัย เหมะ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่ตัวปัญหา ไม่ได้ทะเลาะกับใคร แต่เป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา ถูกกระบวนการที่มีอำนาจกลไกของประเทศจ้องทำลาย ที่หาเรื่องมาจัดการ มาถล่มกระทืบเราอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำมาโดยตลอดคือการช่วยเหลือประชาชนเป็นนโยบายของรัฐบาล ในเมื่อไม่มีความยุติธรรมจะปรองดองได้อย่างไร ฝั่งที่มีอำนาจจะเจรจาอย่างไรในเมื่อพวกเขากำลังดำเนินคดีกับเราอยู่ และทำอย่างไม่ยุติธรรม ปรองดองก็เกิดขึ้นได้ยาก

วางกรอบ 5 ปีปฏิรูป-ปรองดอง

วันเดียวกัน นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองว่า ขณะนี้ผ่านการพิจารณาในส่วนของบทบัญญัติที่ให้หน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานและพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และความในภาคนี้ให้สิ้นผลบังคับในวันถัดจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับครบ 5 ปี เว้นแต่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน รัฐสภา หรือ ครม. เสนอให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้คงใช้บังคับอยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากออกเสียงประชามติเห็นชอบ

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เนื้อหาในมาตรานี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาประเทศทั้งเรื่องการปฏิรูปและสร้างความปรองดองในชาติ จึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบเวลาชัดเจน 5 ปี โดยภายใต้บทบัญญัติภาคนี้จะทำให้เกิดคณะกรรมการ 2 ชุดคือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการปรองดอง ซึ่งจะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน เช่น คณะกรรมการปฏิรูปมีอำนาจเสนอกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและกลไกที่จะผ่านกฎหมายในสภานิติบัญญัติจะเป็นกลไกรูปแบบพิเศษ คือไปเริ่มต้นที่วุฒิสภา 3 วาระ ก่อนที่จะกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น หากไม่เห็นชอบก็กลับสู่กระบวนอีกครั้งเพื่อยืนยันร่างกฎหมาย สำหรับคณะกรรมการปรองดอง เท่าที่เห็นยังไม่มีเรื่องการเสนอกฎหมาย แต่ที่สุดอาจมีก็ได้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีขั้นตอนเป็นกระบวนการโดยเริ่มจากการค้นหาความจริง หาสาเหตุ ยอมรับผิดก่อน ไม่ใช่เริ่มต้นที่การเสนอกฎหมาย

วอนอย่ามองไกลถึงนิรโทษฯ

ส่วนกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯระบุว่า คณะกรรมการปรองดองจะมีอำนาจในการเสนอกฎหมายอภัยโทษนั้น นายคำนูณกล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติของ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมากรรมาธิการก็ไม่ได้เห็นตามประธานทุกเรื่อง จึงไม่อยากให้มองว่ากระบวนการสร้างความปรองดองมีปลายทางอยู่ที่การนิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ทั้งนี้ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนต้องการให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญนี้แก้ไขวิกฤตประเทศได้ ส่วนจะมีการวิจารณ์ว่าตั้งโจทย์ผิดจะทำให้เกิดวิกฤตยิ่งขึ้นหรือไม่นั้น ก็เป็นสิทธิที่จะวิจารณ์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบวรศักดิ์ระบุชัดเจนว่า คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจเสนอกฎหมายอภัยโทษเท่ากับว่าเป็นการบังคับประชาชนให้ต้องยอมรับกฎหมายอภัยโทษ เพราะถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หากใครไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถคัดค้านได้ใช่หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะหากมีคนไม่เห็นด้วยหรือมีการประท้วงก็ย่อมทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม และเป็นไปไม่ได้ที่จะออกกฎหมายแล้วบังคับให้ทุกคนทั้งประเทศต้องเห็นด้วย

เมื่อถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลักการอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ และคนที่จะขออภัยโทษต้องเป็นญาติเท่านั้น เท่ากับรัฐธรรมนูญใหม่ทำลายหลักการอภัยโทษหรือไม่ เพราะเป็นการให้คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการ นายคำนูณปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยกล่าวเพียงว่า ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้

นายคำนูณ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อลดความขัดเเย้งว่า เป็นไปได้ยาก เพราะใช่ว่าปัญหาทั้งหมดจะยุติ เเต่ทั้งหมดอยู่กับผู้ที่มีอำนาจคือรัฐบาลและ คสช.ว่าตัดสินใจเช่นใด
กำลังโหลดความคิดเห็น