xs
xsm
sm
md
lg

อ้างปรองดองเพื่อ"อภัยโทษ"ระวัง!! ละเมิดพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ความคืบหน้าการพิจารณา ร่าง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ว่า สัปดาห์นี้ ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มการพิจารณา ร่างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใน ภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง โดยที่ประชุมตั้งใจจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 20 ก.พ.นี้ โดยหมวดการปฏิรูป เนื้อหาบางส่วนนั้นทางกมธ.ยกร่างฯ ได้มีการขอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 18 คณะ ได้เสนอความเห็นว่า มีความต้องการให้ประเด็นใดถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีกมธ.การปฏิรูปของสปช. ส่งความเห็นกลับมายังกมธ.ยกร่างฯ ประมาณ 9 คณะแล้ว
ส่วนภาพรวมของกระบวนการยกร่างฯนั้น หลังจากนี้ จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะว่าด้วยเรื่องการปฏิรูป และการปรองดอง ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญของหมวดนี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาก่อน การที่จะมีเรื่องปฏิรูป และปรองดองเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เขียนไว้เฉยๆ แต่ต้องปฏิบัติได้ โดยผ่านกลไกที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องในช่วงที่มีรัฐบาล และรัฐสภา ในสถานการณ์ที่ปกติต่อเนื่องไปประมาณ 4-5 ปี ข้อสรุปทั้งหมดจากสปช. จะถูกส่งทอดไปสู่กลไกที่ขับเคลื่อนนอกเหนือจากระบบบริหารราชการปกติ เมื่อขับเคลื่อนไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสลายตัวไป ยกเว้นหากจะให้อยู่ต่อเนื่องไปก็จะต้องมีการทำประชามติ
นายคำนูณ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เตรียมที่จะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบว่า เบื้องต้นทางกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่เห็นรายละเอียด เข้าใจว่าเป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งไว้ เพื่อเตรียมพิจารณา ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร คงต้องรอผลการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ อีกครั้ง ทั้งนี้คาดว่าหากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ก็น่าจะทราบความชัดเจนได้ภายในวันศุกร์ที่จะถึงนี้

**คกก.ปรองดองต้องไม่ฝักใฝ่การเมือง

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบหมวดการปรองดอง กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ เตรียมจะตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน มีคุณสมบัติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สังคมยอมรับ มีประสบการณ์ในการสร้างสันติสุข ส่วนฝ่ายคู่ขัดแย้งจำนวน 5 คนนั้น ทางผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 9 คน จะเป็นผู้ทำหน้าที่คัดเลือกอีกครั้ง โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวนี้ จะทำหน้าที่สร้างความปรองดองในระยะยาว แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ความขัดแย้งเป็นประชาธิปไตย สันติวิธี ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้แตกแยก หักล้าง และบาดหมางกัน เบื้องต้นแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงตัวร่างบทบัญญัติ ที่เตรียมจะเสนอเข้าที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณา แต่อย่างใด
ส่วนกระบวนการปรองดองให้เกิดความสำเร็จนั้น มองว่า ทุกคนต้องหันหน้าคุยกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนานสูงสุดของบ้านเมือง ต้องเชิญทุกฝ่ายมาคุยกัน เนื่องจากทุกคนเชื่อถือและมั่นใจว่า มีอำนาจที่จะทำให้ความขัดแย้ง ทุเลาคลี่คลายไปสู่สันติวิธี และสันติสุขได้ อีกทั้งเท่าที่ฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ก็พร้อมที่จะเดินหน้า เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ที่มีอำนาจของบ้านเมืองก็จะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณา ดังนั้นอยากเสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อให้โอกาสกับบ้านเมืองกลับสู่สันติสุข เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หากบ้านเมืองปกครองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ขัดแย้งกัน แต่สถานการณ์พิเศษตอนนี้มีฝ่ายที่สามซึ่งไม่ใช่สองฝ่ายที่ขัดแย้งมาคุมอำนาจรัฐอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดี
ทั้งนี้ อยากให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองรีบดำเนินการ และขอวิงวอนไปยังทุกฝ่าย ขอให้อดทน ใจเย็น โดยเฉพาะฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง ตนอยู่ในกมธ.ยกร่างฯ เราพยายามทำงานกันอย่างรวดเร็ว ถือว่าเร็วกว่ากำหนด บ้านเมืองปกครองระบอบอื่นไม่ได้ นอกจากระบอบประชาธิปไตย ไม่อยากให้เรื่องนี้บาดหมางกัน เห็นใจทุกฝ่าย และ อยากขอให้ผู้ที่ทำกิจกรรมการเมืองช่วงนี้ทำกิจกรรมด้วยความสุขุม และเยือกเย็นที่สุด
**ระวังละเมิดพระราชอำนาจ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ พิจารณาออกพระราชกฤษฏีกาอภัยโทษ (พ.ร.ฎ.) ว่า ตามปกติเมื่อมีวันสำคัญมหามงคล จะมีการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษเป็นกรณีทั่วไป ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้น ตนเข้าใจว่ากรณีที่ นายบวรศักด์พูด ไม่ใช่ในกรณีนี้ ซึ่งเท่าที่ตนอ่านข่าวแล้วยังไม่เข้าใจว่า จะทำอะไร เพราะกรอบการออกอภัยโทษ คือ 1. ออกเป็นพ.ร.ฏ.อภัยโทษ 2. การขออภัยโทษโดยอาศัยสิทธิ์ของเจ้าตัวที่โดนลงโทษ แต่ทั้งสองกรณีนี้ศาลต้องตัดสินจำคุก และถูกจองจำแล้ว แต่ที่พูดถึงเรื่องการสร้างความปรองดอง ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า มีความหมายอย่างอื่นหรือไม่ หรือหากจะทำ อาจไม่ใช่เรื่องอภัยโทษ เพราะหากมีความตั้งใจจะช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษไม่ได้ เพราะหากจำกันได้ ในสมัยที่ตนเป็นฝ่ายค้าน และมีข่าวรั่วมาว่าจะทำ พ.ร.ฎ.อภัยโทษในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตนได้ออกมาคัดค้านว่า ทำไม่ได้เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่เคยติดคุก
“กรณีของนายบวรศักดิ์พูด น่าจะไม่ได้หมายถึงกรณีนี้ แต่ทำไมไปใช้คำว่า ‘อภัยโทษ’ หรือมีการเข้าใจผิด หรือเอ่ยถ้อยคำผิด คงต้องติดตามดูต่อไป เพราะหากจะทำอะไรต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าจะนิรโทษกรรมไปอีกเรื่องหนึ่ง คือไม่ต้องติดคุกก็ได้ แต่ลบล้างความผิดให้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลจะอ้างในสถานการณ์ไม่ปกติ และใช้อำนาจพิเศษตั้งคณะกรรมการดังกล่าวมาดำเนินการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษเอง ได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าไม่ได้ เพราะการจะอภัยโทษ ต้องเป็นอำนาจของในหลวงเท่านั้น และก็มีกำหนดหลักเกณฑ์อยู่ไว้แล้วว่า อภัยโทษได้แค่ไหน และใครที่จะขออภัยโทษได้บ้าง แต่ถ้าจะไปร่างกฎหมายใหม่ทั้งหมด ก็อาจจะเป็นได้ แต่ที่ตนพูดอยู่บนพื้นฐานหลักกฎหมายปัจจุบัน แต่ขอเตือนว่า จะทำอะไรต้องยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นต่อไปหลักการกฎหมายจะเสียหายหมด
“ไม่ว่าคุณจะมีอำนาจล้นฟ้า จะออกกฎหมายให้ใครมีอำนาจแค่ไหน ก็ควรจะยึดหลักเกณฑ์เดิม ไม่เช่นนั้นต่อไปก็อ้างได้ว่า สมัยนั้นก็ทำ ก็จะเกิดความวุ่นวายโดยใช่เหตุ ทุกวันนี้ คสช. และรัฐบาล จะทำอะไรยึดหลักกฎหมายตลอด ถึงทำให้สหรัฐฯโจมตีได้ไม่เต็มปาก หากรัฐบาลทำเรื่องนี้ผิดพลาดขึ้นมา ก็จะเข้าทางสหรัฐฯ อีกหลายเรื่อง”
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลยังฝืนออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ตามคำแนะนำของ นายบวรศักดิ์จะถือเป็นการละเมิดอำนาจหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการออกกฎหมาย เพราะขณะนี้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และสนช. ก็เป็นองค์กรที่ทำงานมีอะไรแปลกๆ ออกมาหลายเรื่อง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการเขียนกฎหมาย เช่น ตามหลักรัฐธรรมนูญ และประเพณีไทย คือในหลวงจะเป็นผู้มีอำนาจผู้เดียว การจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ จะต้องเป็นคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง หรือญาติพี่น้อง แม้วันนี้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญหลัก แต่หลักนิติธรรม และประเพณีก็ยังต้องถือเป็นอำนาจในหลวง ซึ่งตนเชื่อว่าจะไม่มีการไปแตะในอำนาจส่วนนี้ แต่อาจจะใช้วิธีแก้ไข โดยขยายคนที่มีสิทธิ์ของพระราชทานอภัยโทษเพิ่มจากเดิม ซึ่งจะไม่เป็นการละเมิดพระราชอำนาจ เพราะยังมีพระบรมราชวินิจฉัยอยู่ ดังนั้นก็สามารถทำได้แต่ผิดหลักการประเพณีที่ทำกันมา และหากจะมีการแก้ไขไปถึงการให้อภัยโทษ กับนักโทษในคดีทุจริตด้วย ก็สามารถจะเขียนอย่างไรก็ได้ แต่ถามว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็จะเกิดปัญหาเกิดขึ้น
ต่อข้อถามว่า มีการอ้างถึงความต้องการสร้างความปรองดองในสังคมเกิดขึ้น หากมีการอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า วิธีการปรองดองไม่ได้มีหนทางนี้เท่านั้น ต่อไปใครทำอะไรผิด ก็ปรองดองได้หมด และใครประกันได้ว่าหากมีการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วความปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง และมั่นใจได้อย่างไรว่า คนอีกซีกหนึ่งจะเห็นด้วยกับวิธีการนี้ หากไม่เห็นด้วย จะเกิดความปรองดองได้อย่างไร และใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่ตามมา
“ดังนั้นจะต้องหาจุดกึ่งกลางจากทั้งสองฝ่าย ที่ยอมรับได้ ไม่ใช่แค่ยอมเขาอย่างเดียว หรือทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสบายใจ แล้วคิดว่าจะปรองดองได้ แม้เวลานี้อีกฝ่ายยังไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำอะไรให้เขาไม่สบายใจขึ้นมา ก็มีปัญหาอยู่ดี เมื่อใดกติกาสังคมไม่ถูกต้องไม่ว่าใครเป็นผู้ปกครอง ก็เกิดเรื่องขึ้นมาอีก ปัญหาไม่มีวันจบ ใครจะทำอะไรต้องอยู่บนความถูกต้องเหมาะสม พอดี เป็นธรรม ทุกฝ่ายที่อยู่ตรงกลางรับได้ ถูกต้องเกินกว่านี้ไม่มีทางปรองดองได้อย่างแน่นอน รวมถึงแนวคิดการนิรโทษกรรม ด้วย ถ้าขืนทำไป จะยิ่งมีปัญหารุนแรงมากขึ้น ”นายพีระพันธุ์ กล่าว

**กมธ.ต้องตีโจทย์ปรองดองให้ชัด

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยแนวคิดให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองในประเทศว่า การสร้างความปรองดอง คือการทำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย
อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ปัญหาที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งเพราะมีคนทำผิดกฎหมาย ถ้าเราจะบอกว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกับโจรมาปรองดองกัน ตนคิดว่าเป็นหลักคิดที่ผิด
ดังนั้นหากทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะดำเนินการเรื่องนี้ ควรจะต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนว่าความขัดแย้งในประเทศเกิดจากสาเหตุใด และใครที่เป็นคู่ขัดแย้งที่แท้จริง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร การที่กรรมาธิการฯ เคยระบุว่าจะเชิญผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้งมาพูดคุยนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ยินดีมาเป็นผู้ให้ข้อมูล เนื่องจาก เหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมาพรรคต้องออกมาประท้วงคัดค้าน เพราะมีคนทำผิดกฎหมายในบ้านเมือง อย่างไรก็ตามเรื่องการนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคไม่ได้ทำผิดกฎหมาย
"ความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือสร้างความปรองดองถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งโจทย์ หรือนิยามของความขัดแย้งที่คิดว่าเกิดขึ้นมานั้น สาเหตุของมันคืออะไร ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายหนึ่งปฏิบัติละเมิดกฎหมาย เราต้องการให้ทุกคนเดินตามกฎหมาย ดังนั้นถ้าใครทำผิดกฎหมาย เราต้องออกมาต่อต้าน เขาจึงต้องมาตอบเรา ก่อนว่ามีใครทำผิดกฎหมายในตอนนั้นหรือไม่ ถ้าคิดว่าในตอนนั้นไม่มีใครทำผิดเลย แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดผิด และเมื่อเป็นอย่างนั้นจะนิรโทษกรรมให้กับใคร เพราะการนิรโทษกรรมนั้นคือการยอมรับว่ามีความผิดเกิดขึ้นแสดงว่าที่ผ่านมามีคนทำผิดกฎหมาย เราไม่ได้ขัดขวางการนิรโทษกรรม เพราะคนเราทำผิดกันได้ หรือถูกชักจูงให้ไปกระทำ ความผิดก็ได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีความซับซ้อน รวมถึงมีมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน ทุกฝ่ายจึงควรเข้ามาพูดคุยกันให้ชัดเจน กรรมาธิการฯ ต้องอย่าหลงประเด็น" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

**อย่าอ้างปรองดองเพื่ออภัยโทษ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังหารือให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเสนอร่างกฎหมายอภัยโทษ ว่า จุดยืนเรื่อง การปรองดองของ กปปส. ตั้งแต่ต้นคือ หากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วมคลีคลายสถานการณ์นั้น ทำได้ แต่ต้องยึดหลักนิติรัฐ ซึ่งครั้งนี้กมธ.ยกร่างฯ ต้องชี้ให้ชัดว่า การกำหนดความหมายของคำว่าอภัยโทษ มีความครอบคลุมแค่ไหน เพราะหลักกฎหมายเดิมยังมีอยู่ คือ คนที่จะได้รับการอภัยโทษ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้น สุดกระบวนการ รับผิด และรับโทษก่อน จากนั้นเมื่อสำนึกผิด ก็จะได้รับการอภัยโทษ นี่คือหลักการนิติรัฐ ซึ่งไม่ใช่การเอาคำว่า ปรองดองมาอ้าง เพื่อขออภัยโทษโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะต่อไปบ้านเมืองจะวุ่นวาย เพราะจะมีเเต่คนมาขออภัยโทษ จึงขอแนะนำว่า การหาทางเพื่อไปสู่การปรองดองในชาติเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ฝืนหลักนิติรัฐด้วย
ทั้งนี้ กปปส. ขอดูรายละเอียดก่อนจะบอกว่า สนับสนุนแนวคิดนี้หรือไม่
ด้านนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนห่วงว่าการปรองดองคงเกิดยาก เนื่องจากมีการหยิบคดีที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า มาบีบให้อีกฝ่ายเข้าตาจน ทั้งการดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าว และ คดีสลายสลายการชุมนุมในปี 2551 ของนายสมชาย วงสวัสดิ์ อดีตนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น รัฐบาลกำลังหลงกล ยุทธศาสตร์และแผนของพรรคเพื่อไทย จนวันนี้ความนิยมในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ พุ่งสูงขึ้นจากวันที่ถูกยึดอำนาจ เพราะคะเเนนความสงสาร อีกทั้งพรรคเพื่อไทย ยังวางเกมไว้ให้ประชมคมโลกเห็นว่า เเม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นผู้หญิง แต่ก็กำลังต่อสู้กับการ ถูกจำกัดเสรีภาพ จากรัฐบาลทหาร เหมือนกับกรณี นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศพม่า โดยมีสหรัฐอเมริกา เล่นบทพระเอกเคียงข้างเรียกเสรีภาพคืนให้อดีตนายกฯ ของไทย ใครก็รู้ว่า สหรัฐอเมริกา เคยก็เล่นบทแบบนี้มาแล้ว จึงเตือนว่าอย่าไปเปิดศึกภายนอกประเทศ เพราะจะกระทบการส่งออกกว่าปีละหมื่นล้าน ที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ให้ยอมทุกอย่าง แต่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า เราจะต่อสู้ หรือแข่งขั้นทางการค้าบนเวทีโลกลำบากขึ้น
"นายบวรศักดิ์ ควรอยู่กับความเป็นจริงว่า เรื่องใดทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งบางครั้งบุคคลในสองสภาที่ตั้งขึ้น เป็นพวกเพ้อฝันเกินไป พอถึงเวลาแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูด ก็ตอบสังคมยาก เพราะเอาเเต่พูดเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งก่อนจะทำเรื่องอื่น จะตอบคำถามได้ไหมว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจถึงวันนี้ การปฏิรูปในโหมดการเมือง เรื่องใดที่เป็นรูปธรรมบ้าง นอกจากหลีกไปทำเรื่องภาษีมรดก หรือกฎหมายที่ดิน" อดีต ส.ส.ปชป. กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการไปร่วมสัมมนาในวันนี้ (16 ก.พ.) ตามหนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การไปให้ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในครั้งนี้ ตนไปในนามส่วนตัว โดยจะแนะนำตามกรอบในหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่อง "หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" อย่างไรก็ตาม ตนเป็นกังวลในเรื่องของเวลา ที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้แต่ละตัวแทนพรรคได้แสดงความคิดเห็นในเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น และเบื้องต้นเท่าที่ทราบ จะมีตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมถึง 30-40 พรรค ดังนั้นหากประเมินจากเวลา ที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนด คาดว่าแต่ละพรรคจะมีเวลาพูดเพียง 3 นาที ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอย่างน้อย ตนก็คงไม่มีโอกาสได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญที่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ รับฟัง เพื่อเพื่อไปประกอบการพิจารณาได้อย่างครบถ้วน
"ในข้อเสนอที่ผมได้เตรียมมาหารือ จะมีหลายประเด็นที่คิดว่า กมธ.ยกร่างฯ ควรจะต้องรับฟังข้อมูลอีกด้านอย่างครบถ้วน อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ในฐานะ ผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง เช่น เรื่องของการมีผลกระทบที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอลง แทนที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะในทึกประเทศทั่วโลกที่เขาใช้ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเสริมสร้างให้พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความสามารถ ความคิดเห็นที่เหมือนกัน เพื่อนำไปพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ นอกจากนี้ เรื่องของระบบที่ให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้น แทนที่จะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น" นายจุรินทร์
กล่าว

**ไม่มั่นใจคู่ขัดแย้งคุยปัญหาจบ

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะรองประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (คศป.) กล่าวถึงกรณี นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เสนอให้นายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางเรียกถกแกนนำทุกฝ่ายพูดคุยเรื่องการปรองดอง พร้อมหนุนนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ยกเว้นแกนนำว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่ทราบว่าแกนนำในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากจากเกิดเหตุการณ์ วันที่ 22 พ.ค. 57 บรรดาแกนนำ หรือผู้นำ ยังมีจุดยืน หรือมีทัศนะในประเด็นเรื่องการปรองดองว่าอย่างไร เพราะตอนที่เกิดวิกฤติ กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ตอนนั้นนปช.ก็ชุมนุมที่ ถนนอักษะ จนเกิดประเด็นว่า จะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือจะเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นก็ประกาศกฎอัยการศึก แล้วให้คู่ขัดแย้งมาหารือกัน เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.57 ว่าจะเลือกตั้ง หรือจะปฏิรูปก่อนกัน ณ เวลานั้น แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเป็นที่มาของการเข้าควบคุมอำนาจในที่สุด
"แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปของกปปส. ได้รับการตอบรับจากการยึดอำนาจ ดังนั้นผมจึงไม่ทราบว่า เมื่อให้คู่ขัดแย้งมาพูดคุยกันอีกในเวลานี้ จะรู้เรื่องหรือไม่" นายบุญเลิศ กล่าว
รองประธาน คศป. กล่าวต่อว่า ตนมีความเห็นว่าในเวลานี้ เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความปรองดองเบื้องต้นควรเร่งดำเนินการใน 3ข้อ คือ 1. ให้ความสำคัญกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และ ขณะนี้มีมาตรการเยียวยาไปถึงไหนแล้ว 2. ในส่วนของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอยู่นั้น ควรจะเป็นผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม แต่กลับไม่มีการพูดถึง 3. อยากให้ตัวแทนแต่ละฝ่าย เสนอกันออกมาว่า บ้านเมืองจะเกิดความปรองดองจะต้องทำอย่างไรบ้าง

** นายกฯต้องคุยกับทักษิณ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เรื่องการปรองดอง ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะนำมาเขียนไว้ในกฎหมายกี่ฉบับ หรือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่สำเร็จ เพราะจะต้องเริ่มจากการปฏิบัติจริง และคนที่จะปฏิบัติได้ดีที่สุดในสถานการณ์ และในเวลาเช่นนี้คือ นายกรัฐมนตรี
"การปรองดอง ไม่ใช่การนำเอาทหาร ตำรวจออกมาร้องรำทำเพลง หรือไปเล่นมโหรีตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่การลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ในตำบลต่างๆ ก็ยังไม่ใช่วิธีการปรองดอง เพราะการที่บ้านเมืองจะปรองดองได้นั้น อยู่ที่ตัวนักการเมือง แกนนำกลุ่มต่างๆ และพรรคการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำมาแล้วให้มีการพูดคุยกัน และหลังการปฏิวัติ วันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นมา ก็ยังไม่ได้มีการทำต่อ ดังนั้นจะต้องมีการนำแกนนำมาพูดคุยกัน ตรงนี้ถือเป็นศิลปะที่ผู้นำประเทศต้องทำ"
นายวันชัย กล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับสู่ความปรองดองโดยเร็ว คือ ต้องคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขอให้นัดเลย จะเจอกันที่ไหน แต่จะต้องมีคนร่วมการพูดคุยด้วย ไม่ใช่คุยกันแค่ 2 คน เพราะอาจถูกมองว่าไปเกี้ยเซียะกันหรือไม่ จากนั้น ก็ต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า อะไรที่ทำได้ และ อะไรที่ทำไม่ได้บ้าง และจะต้องคุยกับคู่ขัดแย้ง คือ แกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงคู่ขัดแย้งกลุ่มการเมือง แกนนำนปช. แกนนำกปปส. โดยจะไปพบเองหรือเข้าพบทีละคู่ เมื่อพูดคุยได้ข้อสรุปแล้วก็นำมาบอกกับประชาชนว่า อะไรที่ตกลงได้และอะไรที่ตกลงไม่ได้บ้าง ถ้ายังไม่เริ่มที่จะพูดคุยอย่างจริงจัง ตนเชื่อว่าการปรองดอง ก็จะยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่า จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาดีอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

**เบรกคสช.จับนักกิจกรรมหนุนลต.

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งชาติ (สปช.) แสดงความกังวลถึงเรื่องการดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมที่จัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ลัก" เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา และวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมกันคลี่คลายบรรยากาศตึงเครียด และมุ่งเน้นที่จะดำเนินการ เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองให้เอื้อกับการปฏิรูปประเทศด้วย
หากทุกฝ่ายเห็นปัญหาร่วมกันว่า บรรยากาศปรองดองนั้นสร้างยาก มีความซับซ้อน และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งที่ สันติ โปร่งใส เป็นธรรม สร้างสรรค์ ระบบการเมืองที่ทุกเสียงมีความหมาย มีการตรวจสอบเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต่อไป ก็ขอให้มีการเชิญทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุย ถกแถลงถึงปัญหา อุปสรรคและเสนอประเด็นเพื่อปฏิรูปประเทศ และการปรองดองที่กำลังดำเนินการผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
"ขอวิงวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมกันผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียด โดยเฉพาะ คสช. ควรเลี่ยงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของหลักนิติธรรม และต้องมุ่งเน้นที่จะดำเนินการเพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองให้เอื้อกับการปฏิรูปประเทศด้วย ส่วนผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย หากอยากให้การเลือกตั้งมีความหมาย ถามว่าหากมีการ
เลือกตั้งในทันทีโดยที่ยังไม่มีการปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน จะมีอะไรที่เปลี่ยนไปจากการเมืองแบบเดิมๆได้หรือ แล้วจะป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดซ้ำอีกได้อย่างไร" นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องเคารพหลักนิติธรรม ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการแก้ไขรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดในขณะนี้ หากใครเห็นว่ายังมีกติกาใดที่ไม่เป็นธรรมและอยากเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายและเพื่อให้การเลือกตั้งที่สันติและโปร่งใสนำพาให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก็สามารถเสนอแนะได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น