xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"พอใจโรดแมป รธน.เสร็จเม.ย.เลือกตั้งต้นปี59

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.45 น. วานนี้ (4 ก.พ.) ที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการทำงานตามโรดแมป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางมาประชุม นายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ที่บ้านพักของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และรมว.กลาโหม ภายใน ร.1 รอ. ซึ่งเป็นมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมีพล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมด้วย ซึ่งคาดว่ามีการหารือแนวทางก่อนการประชุม จากนั้นได้เดินทางมายังสโมสรทหารบก และทันทีที่มาถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงศ์ ได้เดินเข้าห้องรับรองวีไอพี ที่บริเวณชั้นหนึ่ง โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. รอร่วมพบปะก่อนเข้าประชุมร่วมกัน
ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง โดยพล.อ.ประยุทธ์ แถลงหลังการประชุมว่า วันนี้ตนมาในฐานะเป็นหัวหน้า คสช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าโรดแมปของคสช. ซึ่งจะพูดถึงการขับเคลื่อนของรัฐบาลในปัจจุบัน เรื่องความก้าวหน้าของ สนช. ในการออกกฎหมายที่สำคัญ เร่งด่วน และเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าไปถึงไหน อย่างไร ซึ่งได้มีข้อสังเกต ข้อพิจารณากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นชอบ
"เราเป็นเหมือนกับลงเรือลำเดียวกัน คือต้องคัดท้าย และไปกันให้ราบรื่น โดยที่ไม่สวนกระแสน้ำ ไม่เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ทำให้การไปสู่จุดมุ่งหมายมันช้าจนเกินไป วันนี้ไม่ได้มีข้อบกพร่องอะไรเลย ผมขอชื่นชมทั้ง 5 คณะ คสช.ก็มีข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตมากมาย ในส่วนของรัฐบาล ก็มีข้อเสนอ ข้อสังเกตมา และในส่วนของสนช. สปช. รวมถึงคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีความก้าวหน้า วันนี้เป็นเพียงโจทย์ทุกเรื่อง และต่อไปจะต้องนำไปตกผลึกว่า จะแค่ไหน อย่างไร โดยเอาข้อสังเกตของแต่ละส่วน แต่ละฝ่ายไป วันนี้ไม่มีข้อบกพร่องใดๆ เลย ผมเป็นหัวหน้า คสช. มีความสบายใจ ที่มีความก้าวหน้าอย่างนี้ เพียงแต่เรามาจัดลำดับความเร่งด่วน ว่า อะไรที่จะทำให้เร็ว และอะไรที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกับรัฐบาล วันนี้มันต้องไปด้วยกัน ไม่มีขัดแย้งกันอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เปิดเผยข้อเสนอและข้อสังเกตของ คสช.และ รัฐบาลได้หรือไม่ ว่ามีเรื่องอะไร นายกฯ กล่าวว่า ได้ สิ่งสำคัญตนได้ย้ำหลักการเดิมของ คสช.ว่า เราจะไม่ไปสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม และทำอย่างไร จะทำให้เกิดบรรยากาศเอื้อต่อการปฏิรูปได้ ฉะนั้น อะไรที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ควรต้องหารือเพิ่มเติม สื่อคงต้องช่วยเรา ประชาชนก็อย่าเพิ่งไปเดือดร้อน รวมทั้งนักการเมือง อดีตนักการเมืองอย่าเพิ่งไปเดือดร้อน ว่ากฎหมายนี้จะออกมา อย่างโน้น อย่างนี้ อย่าเพิ่งไปวิเคราะห์ วิจารณ์เพราะยังไม่จบขั้นตอนกระบวนการ ยังเป็นแนวความคิด ฉะนั้นสิ่งที่ต้องชื่นชมพวกเราคือ การที่ไม่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ปิดกั้นแนวความคิดของกลุ่มต่างๆ ในการปฏิรูป เพียงแต่หาหนทางเจอกันได้อย่างไร สมมุติว่า 10 เรื่อง ตรงกัน 8 เรื่อง อีก 2 เรื่องไม่ตรงกัน ก็หยุดตรงนี้ไว้ก่อน เอา 8 เรื่องมาทำให้ได้ก่อน
เมื่อถามว่ามีข้อห่วงใยอะไรจากแม่น้ำ 5 สายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ข้อห่วงใยของตนเป็นห่วงว่า เวลาที่มีอยู่จำกัด ฉะนั้นประเด็นที่เป็นห่วงคืออะไรที่จะจบสิ้นภายใน 1 ปี และต้องทำให้เสร็จ อะไรเป็นเรื่องการปฏิรูป และจะปฏิรูปต่อกันไปอย่างไร ทำอย่างไรสิ่งที่วางแผนไว้ระยะสั้น ระยะยาว จะต่อเนื่อง จะมีกลไกอะไรหรือไม่ ซึ่งตนคงชี้นำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้ข้อกฎหมาย ซึ่งพวกเราไม่ค่อยถนัดเรื่องข้อกฎหมาย วันนี้เราเดินหน้าประเทศด้วยการเอาปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่วันนี้ในอดีตที่ผ่านมา มาแก้ไข ว่าทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งมิติด้านความมั่นคง ด้านสังคมวิทยา ด้านเศรษฐกิจ ที่เรากำลังส่งเสริมให้เข้มแข็ง เพื่อไปสู่การแข่งขันให้ได้ในวันข้างหน้า ทั้งหมดไม่สามารถจะทำให้ดีขึ้นในเวลาสั้นๆได้ คือ 1 ปียากที่สุด เช่น การสร้างความเข้มแข็งภาคเศรษฐกิจ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางการผลิต ความทันสมัย เทคโนโลยี การสร้างตลาด การใช้ในประเทศ และเรื่องสินค้าเกษตร เราก็ไม่อยากใช้เงินมากมายไปอุดหนุน ซึ่งตนได้อธิบายให้ สนช. สปช. เข้าใจว่า วันนี้รัฐบาลทำอะไรไปแล้วบ้างใน 9 ยุทธศาสตร์ และมีการติดตามผลงานอย่างไร เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ได้มีโอกาสพบกับนักธุรกิจญี่ปุ่น เขาบอกว่า ที่มาคุยกับเราได้ เพราะเชื่อมั่นรัฐบาล ที่วันนี้มีเสถียรภาพ สร้างบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ตนก็กังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้เขากังวลหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่กังวล และเห็นว่าเรามีความตั้งใจในการเดินหน้าประเทศ แต่เขาเป็นห่วงว่าวันข้างหน้า จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ตนได้เล่าให้ฟังว่า วันหน้าเราก็ต้องสร้างให้ต่างชาติมั่นใจในการมาลงทุน ไม่เช่นนั้นเขาไม่มาลงทุน จะทำอย่างไร เศรษฐกิจเราก็เดินหน้าไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ตนทำความเข้าใจกับ สนช. สปช. และ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ
" ผมทราบทุกท่านหวังดีหมด เท่าที่ฟังข้อสรุปมา ทุกคนมีความหวังดี เอาปัญหาทั้งหมดมาว่ากัน และอยากเห็นประเทศเดินหน้าไปอย่างไรในทุกมิติ ทุกประเด็น ที่เป็นปัญหา วันนี้เราก็ต้องมาจัดระเบียบกันว่า จะเดินเร็ว เดินช้า ตรงไหน อะไรก่อนอะไรหลัง อะไรควรจะไปอยู่ที่สนช. ทำกฎหมายออกมาให้ทัน ซึ่งเวลานี้เป็นห่วงเรื่องกฎหมายดิจิตอล ที่ต้องได้รับการยอมรับด้วยกัน รวมทั้งกฎหมายไซเบอร์ ที่ต้องดูเรื่องความมั่นคงด้วย " นายกฯ กล่าว
การประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตนพูดข้อห่วงใยในนามของรัฐบาล ว่าเราจะเดินอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ถูกมองว่า ไม่เป็นธรรม หรือกีดกันใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรม กฎหมายคงมีผลย้อนหลังไม่ได้ ฉะนั้นต้องเอากฎหมายหลักมาว่ากัน หรือจะเป็นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา ก็ว่ากันไป ใครผิดใครถูกก็ว่ากันมา อะไรที่เกิดก่อน 22 พ.ค.57 กฎหมายก็ว่าไป อะไรที่หลัง 22 พ.ค. มาแล้ว เราก็จะเดินหน้าประเทศ และไปสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีธรรมาภิบาล นักการเมืองมีคุณภาพ ประชาชนมีความพึงพอใจ ขับเคลื่อนประเทศไปข้าหน้าด้วยความสงบสุขต่อไป

**มั่นใจต้นปี 59 มีเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งร่างได้ภายในเดือนเม.ย. หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้ ก็เป็นไปตามกำหนด เผลอๆ อาจจะเร็วกว่าด้วย เพราะเขาพยายามจะทำให้เร็ว เพื่อที่จะมีเวลาปรับปรุงแก้ไขกันอีก เพราะต้องไปเสนอให้ สปช. ครม. คสช. ดูอีก ก็พยายามให้เป็นไปตามที่วางไว้
เมื่อถามว่า สรุปว่าวันนี้จะสามารถเดิน และจบได้ตามโรดแมปที่วางไว้ได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จบไม่จบ ถามตนอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องไปถามคนมีส่วนร่วมข้างนอกด้วย ว่าวันนี้ทางฝ่ายการเมืองผู้เห็นต่าง ว่าอย่างไร ที่เขาทำวันนี้เข้าใจหรือเปล่า ว่าประเทศชาติเราเจออะไรกันอยู่ ที่ผ่านต้องยอมรับว่าทุกคนก็มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้ง มันจะด้วยถูก หรือผิด อะไรตนไม่รู้ ซึ่งต้องพิสูจน์กันด้วยกระบวนการยุติธรรม และต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยต้องรับบ้าง ถ้าไม่รับเลย แล้วมันจะไปต่ออย่างไร ซึ่งตนก็ทำให้เกิดความชอบธรรม ไม่ได้ไปไล่ล่า ทั้งที่หลายฝ่ายบอกว่าตนต้องทำให้เต็มที่ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วมันจะสำเร็จหรือไม่ มันจะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ ก็ไม่ได้ ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเขาดำเนินการไป
เมื่อถามว่า กำหนดการเลือกตั้งจะเป็นต้นปี 59 หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า กำหนดการเลือกตั้ง ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นไปตามกำหนดการ แต่ก็มีเรื่องของกฎหมายลูก ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน รวมถึงการเตรียมการเลือกตั้ง ก็มีกลไกอยู่ ใครจะเป็นหัวหน้าก็แล้วแต่ ว่ามา ซึ่งการเลือกตั้งก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ มีส่วนราชการทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีใครจะเป็นหัวเท่านั้น
เมื่อถามว่า โดยสรุปการประชุมติดตามความคืบหน้าของแม่น้ำ 5 สายตามโรดแมป เป็นไปด้วยความแฮปปี้ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ดี ก็ดูหน้าสิยิ้มอยู่ วันนี้อารมณ์ดี ไม่มีอะไร เมื่อถามว่า แม่น้ำ 5 สายเป็นห่วงเรื่องอารมณ์ของนายกฯ หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ห่วงผมเรื่องอะไร ผมเป็นคนอารมณ์ดีจะตาย จริงๆ ผมเป็นคนอารมณ์ดี ผมเป็นคนตลก ไม่เห็นหรอเวลาผมตลก พวกคุณก็ตลกผมตลอด เวลาผมเสียงดัง บางทีผมก็แกล้งก็ได้ ส่วนใหญ่ผมจะแกล้งนะ เวลาหงุด
หงิด ไม่ได้หงุดหงิดจริง แต่อย่าแหย่บ่อยก็แล้วกัน ขอบคุณทุกคนนะ ต้องการให้ทุกคนยิ้ม" นายกรัฐมนตรี กล่าว

**"บิ๊กป้อม" ห่วงเรื่องเซ็นเซอร์สื่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านความมั่นคง กล่าวต่อที่ประชุม ในฐานะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเสนอต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ไปแก้ไขเรื่องการเซ็นเซอร์สื่อ ซึ่งเดิมกมธ.ยกร่างฯ ได้ยึดตามแนวทางรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ให้รัฐบาลสามารถเซ็นเซอร์ข่าวสารได้ในภาวะสงคราม และตัดถ้อยคำ "ในภาวะการรบ" ออก
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ยกเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง โดยขอให้ กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มถ้อยคำเหตุการณ์ความไม่สงบเข้าไปด้วย โดยให้รัฐบาลสามารถเซ็นเซอร์ได้ เพราะไม่เช่นนั้น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไป อาจทำให้สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ทวีความยุ่งยากยิ่งขึ้น
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า อยากให้ไปดูว่า จะสามารถมีข้อยกเว้นในการเซ็นเซอร์สื่อ ในภาวะเหตุการณ์ความไม่สงบ ได้หรือไม่ ซึ่งกมธ.ยกร่างฯบางส่วนได้ดูข้อกฎหมายแล้ว พบว่า หากรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก ทหารสามารถสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายแจกเผยแพร่สื่อได้อยู่แล้ว อีกทั้ง ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจขอความร่วมมือในเรื่องนี้ได้ เช่นกัน แต่เรื่องนี้ก็จะถูกสังคมและสื่อมองได้ว่า เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพได้

** เปิดรับฟังความเห็นถึง 23 ก.ค.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ได้รับฟังความคิดเห็นจากแม่น้ำ 5 สาย เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนที่ไปฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งนายกฯ บอกให้ไปดูความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย และฝากให้ดูว่า จะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งยุติ หลังมีการใช้รัฐธรรมนูญแล้ว
"สปช.ได้มีการตกลงกันแล้วว่า จะเดินตามโรดแมป ว่า 20 ปีข้างหน้าจะมีความมั่งคั่ง ยั่งยืน จะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง ตกลงกันไว้ 36 เรื่องใหญ่ๆ แบ่งเป็น 7 วาระการพัฒนา" นายบวรศักดิ์ กล่าว
สำหรับเรื่องการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไม่มีการพูดคุย อย่างไรก็ตาม เราเปิดกว้างรับฟังความเห็นทั้งหมด คนไม่เห็นด้วยก็ต้องดูว่ามีเหตุผลอย่างไร เช่น เรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดิน เราจะฟังไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 23 ก.ค. 58 ซึ่งเป็นร่างสุดท้ายแล้วจบ ถึงตอนนั้นก็ฟังไม่ได้แล้ว ในส่วนของการทำความเข้าใจกับต่างชาติ เราได้ทำหนังสือเชิญไปถึงสถานทูตสำคัญๆ ให้มารับฟังการดำเนินการของเรา เชิญให้มาร่วมฟังกับสื่อมวลชน
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมแม่น้ำ 5 สายลักษณะนี้ จะมีต่อเนื่องโดยเดือนมี.ค.นี้ สนช.จะเป็นเจ้าภาพ และเดือนเม.ย. ทาง สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพ

** กมธ.ยกร่างฯรับบทหนัก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไปในเดือน มี.ค.จะเป็นการตรวจการบ้าน เพราะในครั้งนี้มีการพูดคุยถึงงานที่แต่ละฝ่ายจะต้องไปดำเนินการ ทั้งนี้ ความเข้มข้นในการดำเนินการใดๆ ต่อจากนี้จะตกไปอยู่ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนได้เสีย จึงมีการฝากข้อเสนอแนะไปยัง กมธ.ยกร่างฯ มากมาย รวมไปถึงติติงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญบางประการด้วย
สำหรับการประสานงานกัน ระหว่างครม. กับ สนช. ตั้งแต่มีสนช.ขึ้นมา รัฐบาลได้ส่งร่างกฎหมายให้ สนช.พิจารณาราว 82 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายค้างเก่า แต่ขณะนี้ที่หยุด เพราะรอร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังจะเข้าไปอีกชุดใหญ่ เป็นชุดกฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณ 10 ฉบับ ร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว และอยู่ในระหว่างการทบทวนของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ราว 30 ฉบับ เร็วๆ นี้จะได้คำตอบจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสนช.ไม่ต้องถึงกับหยุดประชุม เพื่อรอร่างกฎหมายจากรัฐบาล ระหว่างนี้มีวาระพิจารณาอื่นไปก่อน
ส่วนการทำงานของ สปช. นายกฯได้เน้นย้ำเรื่องแนวทางปฏิรูปต่างๆ โดยอยากให้ สปช. นำเสนอวิธีการปฏิบัติ หรือจะเป็นรูปแบบร่างกฎหมายมาด้วย เพราะหากบอกเพียงประเด็นมา และให้รัฐบาลกำหนดวิธีการเอง อาจจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของสปช. ดังนั้น จึงต้องเน้นย้ำในเรื่องการจะทำอย่างไรด้วย
ทั้งนี้ นายกฯอยากให้ในช่วง 3 เดือนนี้ มีชุดแนวทางการปฏิรูปในเรื่องเด่นๆ ออกมา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการ 18 ชุดของสปช.จะมีแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปออกมา 36 เรื่อง หรือ กมธ.ละ 2 เรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น