xs
xsm
sm
md
lg

สรุป43ประเด็นให้กมธ.ยกร่างฯ กกต.ขออำนาจค้น-สินบนนำจับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เมื่อวานนี้ ( 20 ม.ค.) ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขการจัดการเลือกตั้งที่ด้านบริหารงานเลือกตั้ง นำโดย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวกกต.ได้จัดทำเป็นตารางเปรียบเทียบปัญหา และแนวทางการแก้ไข ซึ่งได้มีการแบ่งสภาพปัญหาเป็นก่อน และหลัง มีพ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง โดยมีแนวทางแก้ไขการจัดการเลือกตั้ง แบ่งเป็น 10 ขั้นตอน รวม 43 ประเด็น มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย กรณีมีการยุบสภา ให้แยกการออก พ.ร.ฎ.ยุบสภา และกำหนดวันเลือกตั้งเป็นคนละฉบับ โดยครม.ออกพ.ร.ฎ.ยุบสภา และ กกต.ออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
ส่วนก่อนมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เห็นควรให้แก้ไขระยะเวลาการห้ามทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขยายเป็น 180 วัน กำหนดให้โครงการของรัฐที่สุ่มเสี่ยงต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง แม้ได้รับอนุมัติก่อนมีพ.ร.ฎ. ก็ไม่สามารถดำเนินการได้หลังจากมีพ.ร.ฎ.แล้ว และเมื่อมีพ.ร.ฎ. เลือกตั้งแล้ว การเปิดรับสมัคร ให้สามารถรับเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งทางไปรษณีย์ หรือ อินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับกรณีมีการชุมนุมปิดล้อมสถานที่รับสมัคร และให้ขยายการจัดเลือกตั้ง ส.ว.เป็น 45 วัน เท่ากับการเลือกตั้งส.ส.
การหาเสียง ให้จำกัดค่าใช้จ่ายการหาเสียงเท่าที่จำเป็น และรัฐให้การสนับสนุนในการหาเสียงอย่างเต็มที่ กำหนดข้อห้ามในหาเสียงให้ครอบคลุมพฤติกรรมการทุจริตการเลือกตั้ง นโยบายหาเสียงที่ใช้ ห้ามแสดงตัวเงินชัดเจน และห้ามผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเข้ายุ่งเกี่ยวกิจกรรมการเมืองทุกประเภท
สำหรับการลงคะแนนเลือกตั้ง กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า 2 วัน และขยายเวลาการลงคะแนนจากเดิมถึง 15.00 น. มาเป็น 08.00-16.00 น. และให้การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด มีผลเฉพาะการเลือกตั้งคราวนั้นๆ การเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร มีการนำเสนอปัญหาว่า ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง ไม่คุ้มค่าจัดการ การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว เผยแพร่ทางอินเตอร์เนต อีกทั้งผลคะแนนนอกราชอาณาจักร ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้ง
ดังนั้น หากจะคงไว้ ควรให้การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ มีผลเฉพาะการเลือกตั้งในคราวนั้นๆ และใช้รูปแบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นหลัก พร้อมพัฒนาการใช้สิทธิผ่านทางอินเตอร์เนต รวมทั้งให้นับคะแนนที่สถานทูต หรือสถานกงสุล แล้วค่อยส่งผลคะแนนกลับประเทศ
นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงคะแนน เสนอว่ากรณีมีการชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง สถานที่จัดเก็บ กระจายอุปกรณ์การจัดเลือกตั้ง นอกจาก กกต.จะดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ให้สามารประกาศเลื่อนการเลือกตั้งเฉพาะหน่วยที่มีปัญหาได้ และเปิดทางให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอัตโนมัติ ในการเลือกตั้ง ขยายเวลาลงคะแนนในวันเลือกตั้งเป็น 08.00-16.00 น. รวมทั้งเพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้สิทธิ กำหนดให้มีการให้ผลตอบแทนกับผู้มาใช้สิทธิ เช่น ลดหย่อนภาษี และให้ส่วนราชการจัดรถรับ -ส่ง หรือ จัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการลงคะแนน แก่ผู้พิการ และผู้สูงอายุ
สำหรับการสืบสวนสอบสวนกรณีทุจริตนั้น แก้ไขกฎหมายให้ กกต.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจตรวจค้น เรียกพยาน มีมาตรการคุ้มครองพยาน ใช้สำนวนกกต.เป็นสำนวนหลักในการดำเนินคดีเลือกตั้ง เพิ่มมาตรการให้เงินสินบนนำจับแก่ผู้ชี้ช่องเบาะแส จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขยายระยะเวลาสอบสวนก่อนการประกาศรับรองผลจาก 30 วัน เป็น 60 วัน แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้การสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังประกาศรับรองผล ใช้มติเสียงข้างมากทุกกรณี
ขณะที่ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนที่มีความเข้มแข็งเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง สร้างมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรเอกชน กับกกต.อย่างมีประสิทธิผล มีมาตรการคุ้มครองประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการทำงานของ กกต.

** จี้กมธ.ยกร่างฯแจงให้มท.จัดเลือกตั้ง

ในวันเดียวกันนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "คณะกรรมการการเลือกตั้งกับการทุจริตการเลือกตั้ง" ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่น 18 ของสถาบันพระปกเกล้า ว่า สภาพปัญหาการเลือกตั้งก่อนมี กกต. ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของสมาชิกรัฐสภา สะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองมากกว่าประชาชน คนมีความรู้ ความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้น้อย ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้อำนาจหน้าที่ เอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้งให้แก่กลุ่มธุรกิจการเมือง และผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และความก้าวหน้าในตำแหน่งการงานของตนเอง และสาเหตุสำคัญคือ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง เพราะมีหน้าที่เพียงออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา จึงได้เกิดองค์กร กกต.ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง โดยแยกการทำงานเป็นอิสระออกจากหน่วยงานราชการ
นายศุภชัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศ และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนตัวมองว่าการปฏิรูปจะสัมฤทธิ์ผลได้ดีนั้น ต้องทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมการจัดการเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นการย้อนกลับไปสมัยก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอาจทำให้ กกต.ต้องทำงานลำบาก และยากขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง ทางกกต.จึงได้จัดทำความเห็น และข้อเสนอแนะของกกต.ต่อการควบคุม และการจัดการเลือกตั้ง เสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้อเสนอของกกต.นั้น มีเนื้อหาสาระสำคัญคือ เปรียบเทียบการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งระหว่างองค์กรอิสระ กับหน่วยงานราชการ ซึ่งกระบวนการทำงานพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากให้หน่วยงานราชการจัดการเลือกตั้ง อาจถูกแทรกแซงและตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ ส่งผลให้กกต.ไม่สามารถตรวจสอบ และควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสายการบังคับบัญชา การกำกับดูแล การบริหารจัดการเลือกตั้งเป็นของส่วนราชการประจำ
ขณะที่ข้อเสนอสภาพปัญหา และแนวทางการจัดการเลือกตั้ง ได้พิจารณาตั้งแต่ช่วงก่อนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)เลือกตั้ง จนถึงหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งทุกกรณี โดยขยายระยะเวลาเป็น 180 วัน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 90 วัน ก่อนครบอายุสภา กำหนดให้โครงการของรัฐที่สุ่มเสียงต่อการได้เปรียบในการเลือกตั้ง แม้ได้รับการอนุมัติก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้
"หากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเปลี่ยนให้กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงศึกษาฯ จัดการเลือกตั้ง ก็ต้องชี้แจงเหตุผลด้วยว่า สาเหตุที่เปลี่ยนหน่วยงานในการจัดการเลือกตั้งนั้นเพราะเหตุใด กกต.ทำงานบกพร่อง หรือมีข้อผิดพลาดอย่างไร ซึ่งต้องชี้แจงให้ได้ เพราะหากชี้แจงไม่ได้ ก็จะทำให้ประชาชน
เกิดความสับสน อีกทั้งเห็นว่า การเสนอให้ยุบ กกต.จังหวัด เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่คน และผลประโยชน์มากกว่า " ประธานกกต. กล่าว

**เลื่อนถกฟ้องคนทำเลือกตั้งโมฆะ

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กกต. (20ม.ค.) จะยังไม่มีการพิจารณากรณีฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ ที่มีมูลค่าค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ได้ขอเลื่อนการส่งข้อมูลให้ที่ประชุม กกต. เพราะยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ และตนเห็นว่า เรื่องนี้ต้องค่อยๆ ทำ และต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย
เมื่อถามว่า การขอเลื่อนมีกำหนดเวลาหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า ก็จนกว่าคณะทำงานจะรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน
กำลังโหลดความคิดเห็น