ปธ.กกต.แจง นศ.ปปร.ถึงจุดกำเนิด กกต. ชี้ให้ มท.-ศธ.จัดเลือกตั้งเท่ากับย้อนไปก่อน รธน.40 กกต.ทำงานยาก เปลี่ยนแปลงจริงต้องแจงให้ชัด กกต.ผิดอะไร เผยชงคำแนะ กมธ.ยกร่างฯ เตือนหน่วยราชการจัดเลือกตั้งเข้าทางการเมืองจุ้น กกต.คุมให้สุจริตไม่ได้ ขยายเป็น 180 วันก่อนครบอายุสภา ห้ามทำการสุ่มเสี่ยงกระทบเลือกตั้ง ค้านยุบ กกต.จว. รับยังไม่พิจารณาค่าเสียหายเลือกตั้ง 3 พันล้าน เหตุหลักฐานยังไม่เสร็จ
วันนี้ (20 ม.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ “คณะกรรมการการเลือกตั้งกับการทุจริตการเลือกตั้ง” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่น 18 ของสถาบันพระปกเกล้า ว่าสภาพปัญหาการเลือกตั้งก่อนมีกกต.ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของสมาชิกรัฐสภาสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองมากกว่าประชาชน คนมีความรู้ ความสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้น้อย ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้งให้แก่กลุ่มธุรกิจการเมืองและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และความก้าวหน้าในตำแหน่งทางการเมืองของตนเอง และสาเหตุสำคัญคือประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งเพราะมีหน้าที่เพียงออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้เองนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาจึงได้เกิดองค์กร กกต.ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยแยกการทำงานเป็นอิสระออกจากหน่วยงานราชการ
นายศุภชัยกล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนตัวมองว่าการปฏิรูปจะสัมฤทธิผลได้ดีนั้นต้องทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมการจัดการเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นการย้อนกลับไปสมัยก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอาจทำให้กกต.ต้องทำงานลำบากและยากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทาง กกต.จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะของ กกต.ต่อการควบคุมและการจัดการเลือกตั้ง เสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญคณะที่ 8 ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับข้อเสนอของ กกต.นั้นมีเนื้อหาสาระสำคัญคือเปรียบเทียบการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งและงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งระหว่างองค์กรอิสระกับหน่วยงานราชการ ซึ่งกระบวนการทำงานพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน หากให้หน่วยงานราชการจัดการเลือกตั้งอาจถูกแทรกแซงและตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้นเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งได้ ส่งผลให้ กกต.ไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสายการบังคับบัญชา การกำกับดูแล การบริหารจัดการเลือกตั้งเป็นของส่วนราชการประจำ
นายศุภชัยกล่าวว่า ขณะที่ข้อเสนอสภาพปัญหาและแนวทางการจัดการเลือกตั้ง ได้พิจารณาตั้งแต่ช่วงก่อนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งจนถึงหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งทุกกรณีโดยขยายระยะเวลาเป็น 180 วัน จากเดิมกำหนดไว้ที่ 90 วันก่อนครบอายุสภา กำหนดให้โครงการของรัฐที่สุ่มเสียงต่อการได้เปรียบในการเลือกตั้งแม้ได้รับการอนุมัติก่อนมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งไม่สามารถดำเนินการได้
“หาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนให้กระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องชี้แจงเหตุผลด้วยว่าสาเหตุที่เปลี่ยนหน่วยงานในการจัดการเลือกตั้งนั้นเพราะเหตุใด กกต.ทำงานบกพร่อง หรือมีข้อผิดพลาดอย่างไร ซึ่งต้องชี้แจงให้ได้ เพราะหากชี้แจงไม่ได้ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน อีกทั้งเห็นว่าการเสนอให้ยุบ กกต.จังหวัดเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายแต่อยู่ที่คนและผลประโยชน์มากกว่า”
นายศุภชัยยังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กกต.วันนี้จะยังไม่มีการพิจารณากรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ที่ทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ที่มีมูลค่าค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ได้ขอเลื่อนการส่งข้อมูลให้ที่ประชุม กกต. เพราะยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่แล้วเสร็จ และตนเห็นว่าเรื่องนี้ต้องค่อยๆ ทำ และต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย
เมื่อถามว่าการขอเลื่อนมีกำหนดเวลาหรือไม่ นายศุภชัยกล่าวว่า ก็จนกว่าคณะทำงานจะรวบรวมพยานหลักฐานได้ครบถ้วน