xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.จี้ กมธ.ยกร่างฯ ให้ชัดอภัยโทษแค่ไหน ปชป.คาด พท.หวังดัน “ปู” เป็น “ซูจี” - “วันชัย” แนะ “บิ๊กตู่” คุย “แม้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. (แฟ้มภาพ)
แกนนำ กปปส. จี้ กมธ. ยกร่างฯ เอาให้ชัดอภัยโทษครอบคลุมแค่ไหน ไม่ใช่ว่าอ้างปรองดองโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมชาติวุ่นแน่ ด้านอดีต ส.ส. กระบี่ ปชป. ห่วงรัฐหลงยุทธศาสตร์เพื่อไทย หลังใช้ความสงสารหวังดัน “ยิ่งลักษณ์” เป็น “ซูจี” ถาม “บวรศักดิ์” มีเรื่องไหนเป็นรูปธรรมบ้าง “จุรินทร์” แอบเซ็งเสวนาพรุ่งนี้คงได้คุยแค่ 3 นาที ชี้ไม่ควรทำให้พรรคอ่อนแอ “นิพิฏฐ์” สวดให้ตำรวจปรองดองกับโจรถือว่าผิดหลัก ควรตั้งโจทย์ให้ชัดใครคือปม “สปช. วันชัย” ชง “ประยุทธ์” คุย “ทักษิณ” แบบสาธารณะ

วันนี้ (15 ก.พ.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ กำลังหารือให้มีคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเสนอร่างกฎหมายอภัยโทษ ว่า จุดยืนเรื่องการปรองดองของ กปปส. ตั้งแต่ต้น คือ หากจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วมคลีคลายสถานการณ์นั้นทำได้ แต่ต้องยึดหลักนิติรัฐ ซึ่งครั้งนี้ กมธ. ยกร่างฯ ต้องชี้ให้ชัดว่า การกำหนดความหมายของคำว่าอภัยโทษมีความครอบคลุมแค่ไหน เพราะหลักกฎหมายเดิมยังมีอยู่ คือ คนที่จะได้รับการอภัยโทษ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสุดกระบวนการ รับผิด และรับโทษก่อน จากนั้นเมื่อสำนึกผิดก็จะได้รับการอภัยโทษ นี่คือ หลักการนิติรัฐ ซึ่งไม่ใช่การเอาคำว่าปรองดองอ้าง เพื่อขออภัยโทษโดยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม เพราะต่อไปบ้านเมืองจะวุ่นวายเพราะจะมีเเต่คนมาขออภัยโทษ จึงขอแนะนำว่า การหาทางเพื่อไปสู่การปรองดองในชาติเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่ฝืนหลักนิติรัฐด้วย ทั้งนี้ กปปส. ขอดูรายละเอียดก่อนจะบอกว่า สนับสนุนแนวคิดนี้หรือไม่

ด้าน นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนห่วงว่าการปรองดองคงเกิดยาก เนื่องจากมีการหยิบคดีที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการเผชิญหน้า มาบีบให้อีกฝ่ายเข้าตาจนทั้งการดำเนินการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีรับจำนำข้าว และคดีสลายสลายการชุมนุมในปี 2551 ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น รัฐบาลกำลังหลงกลยุทธศาสตร์และแผนของพรรคเพื่อไทย จนวันนี้ความนิยมในตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ พุ่งสูงขึ้นจากวันที่ถูกยึดอำนาจเพราะคะเเนนความสงสาร อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังวางเกมไว้ให้ประชมคมโลกเห็นว่า เเม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นผู้หญิง แต่ก็กำลังต่อสู้กับการถูกจำกัดเสรีภาพจากรัฐบาลทหาร เหมือนกับกรณี นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศพม่า โดยมีสหรัฐอเมริกาเล่นบทพระเอกเคียงข้างเรียกเสรีภาพคืนให้อดีตนายกฯของไทย ใครก็รู้ว่า สหรัฐอเมริกาเคยก็เล่นบทแบบนี้มาแล้ว จึงเตือนว่าอย่าไปเปิดศึกภายนอกประเทศ เพราะจะกระทบการส่งออกกว่าปีละหมื่นล้าน ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ให้ยอมทุกอย่าง แต่ต้องคิดถึงภาพรวมว่า เราจะต่อสู้หรือแข่งขั้นทางการค้าบนเวทีโลกลำบากขึ้น

“นายบวรศักดิ์ ควรอยู่กับความเป็นจริงว่าเรื่องใดทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งบางครั้งบุคคลในสองสภาที่ตั้งขึ้น เป็นพวกเพ้อฝันเกินไป พอถึงเวลาแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูดก็ตอบสังคมยาก เพราะเอาเเต่พูดเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ซึ่งก่อนจะทำเรื่องอื่น จะตอบคำถามได้ไหมว่า ตั้งแต่ยึดอำนาจถึงวันนี้ การปฏิรูปในโหมดการเมือง เรื่องใดที่เป็นรูปธรรมบ้าง นอกจากหลีกไปทำเรื่องภาษีมรดกหรือกฎหมายที่ดิน” นายพิเชษฐ กล่าว

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการไปร่วมสัมมนาในวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) ตามหนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไปให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในครั้งนี้ตนไปในนามส่วนตัว โดยจะแนะนำตามกรอบในหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” อย่างไรก็ตาม ตนเป็นกังวลในเรื่องของเวลาที่กมธ.ยกร่างฯกำหนดให้แต่ละตัวแทนพรรคได้แสดงความคิดเห็นในเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น และเบื้องตนเท่าที่ทราบจะมีตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมถึง 30 - 40 พรรค ดังนั้น หากประเมิณจากเวลาที่ กมธ. ยกร่างฯ กำหนด คาดว่าแต่ละพรรคจะมีเวลาพูดเพียง 3 นาที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอย่างน้อยตนก็คงไม่มีโอกาสได้ให้ความคิดเห็นในประเด็นสำคัญที่อยากให้ กมธ. ยกร่างฯรับฟัง เพื่อเพื่อไปประกอบการพิจารณาได้อย่างครบถ้วน

“ในข้อเสนอที่ผมได้เตรียมมาหารือจะมีหลายประเด็นที่คิดว่า กมธ. ยกร่างฯ ควรจะต้องรับฟังข้อมูลอีกด้านอย่างครบถ้วน อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง เช่น เรื่องของการมีผลกระทบที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอลง แทนที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะในทุกประเทศทั่วโลกที่เขาใช้ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการเสริมสร้างให้พรรคการเมืองทำหน้าที่เป็นกลไกหลัก เป็นศูนย์รวมของคนที่มีความสามารถ ความคิดเห็นที่เหมือนกัน เพื่อนำไปพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ นอกจากนี้ เรื่องของระบบที่ให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้น แทนที่จะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น” นายจุรินทร์ กล่าว

ทางด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีแนวคิดให้มีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติว่า การสร้างความปรองดอง คือ การทำให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ปัญหาที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งเพราะมีคนทำผิดกฎหมาย ถ้าเราจะบอกว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกับโจรมาปรองดองกัน ตนคิดว่าเป็นหลักคิดที่ผิด ดังนั้นหากทางกรรมาธิการยกร่างฯ จะดำเนินการเรื่องนี้ควรจะต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนว่าความขัดแย้งในประเทศเกิดจากสาเหตุใด และใครที่เป็นคู่ขัดแย้งที่แท้จริง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถือว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร การที่กรรมาธิการฯ เคยระบุว่าจะเชิญผู้ที่เป็นคู่ขัดแย้งมาพูดคุยนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ยินดีมาเป็นผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากเหตุการณ์ช่วงที่ผ่านมาพรรคต้องออกมาประท้วงคัดค้าน เพราะมีคนทำผิดกฎหมายในบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม เรื่องการนิรโทษกรรมไม่ได้เป็นประโยชน์แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

“ความคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือสร้างความปรองดองถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งโจทย์หรือนิยามของความขัดแย้งที่คิดว่าเกิดขึ้นมานั้น สาเหตุของมันคืออะไร ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายหนึ่งปฏิบัติละเมิดกฎหมาย เราต้องการให้ทุกคนเดินตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าใครทำผิดกฎหมายเราต้องออกมาต่อต้าน เขาจึงต้องมาตอบเราก่อนว่ามีใครทำผิดกฎหมายในตอนนั้นหรือไม่ ถ้าคิดว่าในตอนนั้นไม่มีใครทำผิดเลย แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์คิดผิด และเมื่อเป็นอย่างนั้นจะนิรโทษกรรมให้กับใคร เพราะการนิรโทษกรรมนั้นคือการยอมรับว่ามีความผิดเกิดขึ้นแสดงว่าที่ผ่านมามีคนทำผิดกฎหมาย เราไม่ได้ขัดขวางการนิรโทษกรรม เพราะคนเราทำผิดกันได้ หรือถูกชักจูงให้ไปกระทำความผิดก็ได้ แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และมีความซับซ้อน รวมถึงมีมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน ทุกฝ่ายจึงควรเข้ามาพูดคุยกันให้ชัดเจน กรรมาธิการฯ ต้องอย่าหลงประเด็น” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

ทางฝั่ง นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางเรียกแกนนำทุกฝ่ายพูดคุยเรื่องการปรองดอง พร้อมหนุนนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ยกเว้นแกนนำ ว่า เรื่องการปรองดองถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะนำมาเขียนไว้ในกฎหมายกี่ฉบับ หรือเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะไม่สำเร็จ เพราะจะต้องเริ่มจากการปฏิบัติจริง และคนที่จะปฏิบัติได้ดีที่สุดในสถานการณ์และในเวลาเช่นนี้ คือ นายกรัฐมนตรี

“การปรองดองไม่ใช่การนำเอาทหาร ตำรวจ ออกมาร้องรำทำเพลง หรือไปเล่นมโหรีตามสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่การลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในตำบลต่าง ๆ ก็ยังไม่ใช่วิธีการปรองดอง เพราะการที่บ้านเมืองจะปรองดองได้นั้นอยู่ที่ตัวนักการเมือง แกนนำกลุ่มต่างๆ และพรรคการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำมาแล้วให้มีการพูดคุยกัน และหลังการปฏิวัติวันที่ 22 พ.ค. เป็นต้นมา ก็ยังไม่ได้มีการทำต่อ ดังนั้น จะต้องมีการนำแกนนำมาพูดคุยกันตรงนี้ถือเป็นศิลปะที่ผู้นำประเทศต้องทำ” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับสู่ความปรองดองโดยเร็ว คือต้องคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขอให้นัดเลยจะเจอกันที่ไหน แต่จะต้องมีคนร่วมการพูดคุยด้วย ไม่ใช่คุยกันแค่ 2 คน เพราะอาจถูกมองว่าไปเกี้ยเซี้ยกันหรือไม่ จากนั้นก็ต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง และ จะต้องคุยกับคู่ขัดแย้งคือแกนนำพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงคู่ขัดแย้งกลุ่มการเมือง แกนนำ นปช. แกนนำ กปปส. โดยจะไปพบเองหรือเข้าพบทีละคู่ เมื่อพูดคุยได้ข้อสรุปแล้วก็นำมาบอกกับประชาชนว่าอะไรที่ตกลงได้และอะไรที่ตกลงไม่ได้บ้าง ถ้ายังไม่เริ่มที่จะพูดคุยอย่างจริงจัง ตนเชื่อว่าการปรองดอง ก็จะยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่า จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาดีอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้


กำลังโหลดความคิดเห็น