รอง ปธ.คศป. แจง ไม่ทราบจุดยืนปรองดองแกนนำแต่ละกลุ่ม ชี้ แนวคิด “ขวัญชัย” ให้ “ประยุทธ์” เป็นคนกลางเรียกเคลียร์ เคยทำมาก่อนที่จะรัฐประหารแต่ไร้ผล ให้คู่ขัดแย้งคุยอีกไม่แน่ใจรู้เรื่องหรือไม่ ก่อนแนะ 3 แนวทางจุดเริ่มต้นที่ดีปรองดอง “พรเพชร” เผย นัด สนช. ประชุม 19 - 20 ก.พ. พิจารณาร่าง กม. 7 ฉ. จ่อผ่านร่างแก้ กม.ทหาร เชิญ กมธ.ยกร่างคุยความคืบหน้า
วันนี้ (15 ก.พ.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะรองประธานกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (คศป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรเสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางเรียกถกแกนนำทุกฝ่ายพูดคุยเรื่องการปรองดอง พร้อมหนุนนิรโทษกรรมให้กับประชาชนยกเว้นแกนนำ ว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ทราบว่าแกนนำในแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากจากเกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 57 บรรดาแกนนำหรือผู้นำ ยังมีจุดยืนหรือมีทัศนะในประเด็นเรื่องการปรองดองว่าอย่างไร เพราะตอนที่เกิดวิกฤต กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ตอนนั้น นปช. ก็ชุมนุมที่ถนนอักษะ จนเกิดประเด็นว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือจะเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้นก็ประกาศกฎอัยการศึก แล้วให้คู่ขัดแย้งมาหารือกันเมื่อวันที่ 21 - 22 พ.ค. 57 ว่า จะเลือกตั้งหรือจะปฏิรูปก่อนกัน ณ เวลานั้น แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้จนเป็นที่มาของการเข้าควบคุมอำนาจในที่สุด
“แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปของ กปปส. ได้รับการตอบรับจากการยึดอำนาจ ดังนั้น ผมจึงไม่ทราบว่าเมื่อให้คู่ขัดแย้งมาพูดคุยกันอีกในเวลานี้จะรู้เรื่องหรือไม่” นายบุญเลิศ กล่าว
รองประธาน คศป. กล่าวต่อว่า ตนมีความเห็นว่าในเวลานี้เพื่อเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความปรองดองเบื้องต้นควรเร่งดำเนินการใน 3 ข้อ คือ 1. ให้ความสำคัญกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และขณะนี้มีมาตรการเยียวยาไปถึงไหนแล้ว 2. ในส่วนของประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอยู่นั้นควรจะเป็นผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม แต่กลับไม่มีการพูดถึง 3. อยากให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายเสนอกันออกมาว่าบ้านเมืองจะเกิดความปรองดองจะต้องทำยังไงบ้าง
ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งนัดประชุมสมาชิก สนช. ในวันที่ 19 - 20 ก.พ. นี้ โดยมีวาระการพิจารณาร่างกฎหมาย 7 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้เสนอ และฉบับที่ประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ และ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ในวาระ 2 - 3 ด้วย
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 19 ก.พ. ระหว่าง เวลา 9.30 - 10.00 น. ทาง สนช. ยังได้เชิญให้ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้ารายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราให้สมาชิก สนช. ได้รับทราบเป็นครั้งแรกด้วย