กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แจง สนช. คกก.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่อยู่เพื่อสานต่อการปฏิรูปให้เสร็จสมบูรณ์ เผยโปรแกรมหลัง รธน.ประกาศใช้ สนช.ต้องอยู่ต่อเพื่อคลอดกฎหมายอีกกว่า 20 ฉบับ ป้องกันนักการเมืองเบี้ยวไม่ออกฎหมายตาม รธน.ใหม่กำหนด ด้าน สนช.ค้านให้ประชาชนถอดถอนนักการเมือง เชื่อไร้ผลในทางปฏิบัติ แนะให้ศาลฎีกาดำเนินการจะดีกว่า
นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงกรณีข้อวิพากษ์วิจารณ์การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจว่า ขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการต่องานปฏิรูปเฉพาะที่เป็นภาคสุดท้ายเท่านั้น เป็นงานที่กระทำได้ยากในระบบการเมืองปกติ เพราะทราบดีว่านโยบายที่มีความสำคัญและมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่สามารถที่จะผ่านระบบรัฐสภาในสถานการณ์ปกติได้ เพราะจะต้องอาศัยเสียงจากนักการเมือง ก็จะมีประเด็นที่ต้องระวังเรื่องคะแนนเสียงหรือคะแนนนิยมที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จึงเป็นการยากที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปได้ เช่นเรื่องภาษีมรดกที่รัฐบาลชุดที่แล้วพยายามจะดำเนินการ แต่ถ้าคำนึงถึงคะแนนนิยมในทางการเมืองจากการเลือกตั้งจากปกติธรรมดายากที่จะผ่านได้
“ที่กำหนดให้มี สปช.ร่วมด้วย 60 คน ก็เพื่อให้มีการต่อเนื่อง เพราะทิศทางการปฏิรูปที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเป็นแนวคิดที่มาจากคณะกรรมาธิการ 18 คณะ ของ สปช. และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 36 วาระการปฏิรูปกับ 7 วาระการพัฒนา ซึ่งได้สรุปโดยสังเขปนำมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 21 มาตรา ขอย้ำว่ากลไกในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศจะดำเนินไปเป็นเพียงเนื้อหาที่ระบุไว้ในมาตราว่าด้วยการปฏิรูปเท่านั้น ไม่ใช่นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ”
นายคำนูณยังกล่าวถึงตารางเวลาการประกาศใช้รัฐธรรมนูญว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว สนช.จะต้องทำหน้าที่พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 12 ฉบับ โดย 3 ฉบับที่เป็นแก้วสามประการในการจัดการเลือกตั้ง คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่ สนช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ได้รับร่าง ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 9 ฉบับ สนช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับร่าง
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.ที่มีความจำเป็นต้องให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอีกจำนวนหนึ่ง จะส่งให้ สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จตามบทเฉพาะกาลภายใน 120 วันนับแต่วันได้รับร่างด้วย เท่าที่สำรวจประมาณ 21 ฉบับ ถือว่าเป็นภารกิจที่หนักมากของ สนช. จึงเป็นเหตุผลที่ สนช.จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยเบ็ดเสร็จประมาณ 240 วัน หรือ 8 เดือน ขณะที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ และสปช.จะไปตั้งแต่วันประชุมรัฐสภานัดแรกโดยกำหนด 210 วันหรือ 7 เดือน
“การอยู่ต่อเช่นนั้นไม่อาจจะเรียกว่าเป็นการสืบทอดอำนาจได้แต่เป็นการอยู่ต่อเพื่อทำงานหนักอย่างยิ่ง เพราะปกติทุกวันนี้ก็ทำงานหนักมากอยู่แล้ว แต่หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่จะมีภาระหนักขึ้น ต้องพิจารณากฎหมายถึง 27 ฉบับ เพราะเรามีประวัติจากรัฐธรรมนูญปี 2540 กับปี 2550 ว่าถ้าปล่อยให้พิจารณาเฉพาะกฎหมายลูกที่สำคัญจริงๆ เพียง 3 ฉบับ แล้วไปบัญญัติว่ากฎหมายอื่นที่จำเป็นให้ทำภายใน 1 ปี 2 ปี จะเห็นว่าไม่เคยทำได้เสร็จตามกำหนด บางฉบับเขียนให้มีบางองค์กรเพื่อช่วยเหลือการปราบปรามคอร์รัปชัน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 270 บอกให้มีผู้ไต่สวนอิสระ จนรัฐธรรมนูญเลิกใช้ไปกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ จึงเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ต้องการให้หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วกลไกต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นด้วย พวกเราจึงจำเป็นต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ตั้งอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ลูกและที่จำเป็นขึ้นมา 11 คณะ แต่ไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จโดยเร็วได้เพราะร่างรัฐธรรมนูญยังไม่นิ่ง ยังมีโอกาสได้รับการแก้ไขจนกว่าจะถึงวันที่ 23 ก.ค. 2558 และจะส่งร่างต่างๆ เหล่านี้ให้พิจารณาได้ก็ต่อเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น จึงยืนยันว่าเป็นการอยู่เพื่อทำงานและให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบรรลุผล”
ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ได้แสดงความเห็นในบางประเด็น อาทิ นายกิตติ วะสีนนท์ สนช. ขอความกระจ่างแนวความคิดเรื่องการลงประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ทำ และจะช่วยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่รับรู้มากขึ้นและมีพลังสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.แสดงความเห็นว่า เห็นด้วยต่อการปฏิรูปประเทศ เพราะประเทศนี้วิกฤตจากปัญหาจากการกระทำของนักการเมือง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอยากให้คิดถึงการปฏิรูปนักการเมืองด้วย และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ออกมาแล้วไม่มีผลบังคับใช้ เช่น การถอดถอนนักการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มอบอำนาจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปถอดถอนนักการเมืองพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. การทำเช่นนี้จะไม่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เลยแม้แต่คนเดียว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าประชาชนไม่มีความเข้าใจเรื่องการถอดถอน ว่าเป็นระบวนการทางการเมืองที่จะป้องกันผู้มีมลทินสามารถเข้ามาใช้อำนาจรัฐได้ ไม่ใช่เป็นการนำคนผิดมาลงโทษ ด้วยพฤติกรรมของผู้ถูกถอดถอนเพียง “ส่อว่า” นั้นก็ถูกถอดถอนเสียแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นั้นมาสร้างความเสียหายแก่รัฐ และเชื่อว่าเมื่อนำไปให้ประชาชนถอดถอนแล้ว ประชาชนไม่ได้มีการติดตามพฤติกรรมตลอด และระยะเวลาที่ถูกถอดถอนกับระยะเวลาผู้ไปใช้สิทธิ์มีระยะเวลานานเกินไป ทำให้ประชาชนลืมพฤติกรรมเหล่านั้น
“อีกทั้งวัฒนธรรมของคนไทยในการพิจารณาลงโทษใครหากการกระทำของบุคคลนั้นไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของตนเองก็จะพยายามหลีกเลี่ยง จนเกิดคำว่า “ปล่อยมันไป” โดยไม่คิดว่าต่อไปคนเหล่านั้นจะไปสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างไร การมอบอำนาจการถอดถอนให้กับประชาชนจะไม่มีผลในทางกฎหมาย แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มอบอำนาจถอดถอนให้กับ ส.ว. ไปดูประวัติศาสตร์ไม่เคยถอดถอนใครได้แม้แต่คนเดียว เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นว่าพฤติกรรมของคนที่ถูกถอดถอนเป็นเรื่องไกลตัว ผมจึงคิดว่าการที่บัญญัติให้ประชาชนถอดถอนไม่มีผลในทางปฏิบัติ เสนอว่ากรุณาเอาอำนาจที่มอบให้ประชาชนและ ส.ว.เอาคืนไปให้ศาลฎีกายังคิดว่าจะเกิดผลทางปฏิบัติได้มากกว่า”
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธารนนท์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า การคาดการณ์จะอยู่ 240 วัน เป็นเพียงแต่การคาดการณ์เพราะไม่รู้ว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหา 200 คนจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้น เช่นให้เป็นเหมือนปี 2550 คือครึ่งหนึ่งจากเลือกตั้ง อีกครึ่งจากสรรหาพบกันครึ่งทาง ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจจะไม่ใช่ 240 วัน ถ้าเป็นเช่นนั่นมีการเตรียมแผนสำรองไว้หรือไม่
นายคำนูณชี้แจงว่า จะรับทุกข้อสังเกตไปประกอบการพิจารณา แต่ยืนยันว่าที่พิจารณาขณะนี่เป็นเพียงร่างแรกที่เริ่มเสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ได้รับฟังทุกภาคส่วน สมาชิก สนช.สามารถส่งความเห็นมาได้ทุกทาง ส่วนการทำประชามติ หลายฝ่ายเห็นด้วย แต่สถานะทางกฎหมายต้องถือว่ายังไม่มีประชามติ หากจะมีก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน โดย ครม.เสนอให้เสร็จ ก่อน 6 ส.ค. เพราะจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก สปช. และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก่อนวันที่ 4 ก.ย.