xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"วอนสปช.ผนึกกำลังสู้ หากพ่ายนักการเมืองตายหมู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"
วานนี้ (29 มี.ค.) ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จัดสัมมนา "สานพลังเครือข่าย ภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ทุกมาตราที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ดำเนินการยกร่างฯไปนั้น ได้มีการนำความเห็นจากส่วนต่างๆ มาประกอบการพิจารณา โดยเบื้องต้นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พิจารณาเสร็จแล้ว มีจำนวน 315 มาตรา แต่ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะจะต้องมีการปรับแก้ไขอีก
ดังนั้น ใครที่บอกว่ามีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือขณะนี้แล้ว ต้องระวัง เพราะอาจเป็นร่างเทียมได้ เพราะร่างที่มีอยู่ในมือตน ยังไม่นิ่งเลย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะสมบูรณ์ และนิ่งจริง ๆ คือ วันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเสนอให้ สปช.ได้พิจารณา ถ้าหากเสนอไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ กรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องถูกยุบไป
" ขอยืนยันว่า หากรัฐธรรมนูญเสร็จ เราพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะแน่นอน ไม่ได้หวง เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช.จะทำอะไรตามใจไม่ได้ มีคนจับตามองดูอยู่ เราก็ต้องทำให้ดี เพราะถ้าพลาดอาจตายหมู่ได้ ดังนั้นจึงต้องระวัง"
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบข่าวว่า เกิดปัญหาขึ้นภายใน วิปสปช. กรณีกำหนดให้ สปช.ที่จะยื่นคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 คำขอ ต่อ 25 คน เนื่องจากมี สปช.บางคนมีข้อสงสัย ว่าสรุปแล้ว 1 คำขอได้จำนวน 25 คน หรือ 26 คนกันแน่ ดังนั้นทางวิปสปช. จึงมีมติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหนังสือไปถามสำนักเลขาธิการกฤษฎีกาว่า ตกลงกฎหมายกำหนดให้มีจำนวนเท่าใด
ทั้งนี้ หลังจากสปช.ได้มีการอภิปรายและเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงระหว่าง วันที่ 20-26 เม.ย.แล้ว ทาง สปช. ครม. และ คสช. ก็ยังสามารถเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก จนถึงวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 26 พ.ค.- 23 ก.ค. รวม 60 วัน กมธ.ยกร่างฯ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหา ตั้งแต่ มาตรา 1 จนถึง มาตรา 315 โดยนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากทุกฝ่าย มาประกอบการพิจารณา ซึ่งกระบวนการนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 ก.ค. ก่อนที่จะส่งให้ สปช. ลงมติ ภายในวันที่ 6 ส.ค.
" ถ้า สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แฝดอินจัน คือ กรรมาธิการยกร่างฯ และสปช. ก็ต้องตายไปด้วยกัน ถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำ เสียชื่อวงศ์ตระกูล แต่ถ้า สปช.เห็นชอบ ทางประธาน สปช. ก็มีเวลาระหว่างวันที่ 7 ส.ค. ถึง 4 ก.ค. สามารถส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ครม. ดำเนินการตามขั้นตอน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ ในวันที่ 4 ก.ย. จากนั้นขั้นตอนไปภายใน 60 วัน ต้องดำเนินการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จ และ อีก 90 วัน ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หากกระบวนการเป็นไปตามนี้โดยไม่มีประชามติ การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือนก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค. 59 แต่ถ้า คสช. ครม. ตัดสินใจทำประชามติ ก็บวกเวลาเพิ่มอีก 3 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งก็คงเป็นช่วงเดือน มิ.ย.59
"กรรมาธิการยกร่างฯ เปรียบเสมือนเป็นคนพายเรือ สปช.เป็นลูกเรือ เรือลำนี้กำลังแข่งกับนักการเมือง ซึ่งเตรียมทีมแจวไว้อย่างดี เป็นการปรองดองครั้งแรก ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในการถล่มร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความร่วมมือของ สปช.และทุกหน่วยงาน มีความสำคัญมากในการช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสำเร็จ" นายบวรศักดิ์ กล่าว

**กมธ.เล็งทบทวนที่มานายกฯ-ส.ว.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ร่างสุดท้ายของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องรอการประชุมในสัปดาห์หน้า ว่าจะมีการทบทวนประเด็นใดบ้าง ซึ่งในเบื้องต้นก็มีความเป็นไปได้ ที่จะทบทวนประเด็นหลักๆ ที่มีการโต้แย้งมาก เช่น กรณีที่มานายกรัฐมนตรี เพราะในชั้นที่มีการอนุมัติหลักการชั้นแรกเคยมีข้อเสนอสองข้อ คือมีเงื่อนไขในกรณีที่นายกฯ ไม่ได้มาจากส.ส. ให้มีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 ปี หรือ ให้ใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด 2 ใน 3 ของสภา หากทบทวนคงนำเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาอีกครั้ง ส่วนที่มาส.ว.ประเด็นที่มีข้อเสนอมากคือ อยากให้มี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด เป็นระบบผสมผสานกับ ส.ว.สรรหา ก็อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะมีการหารือกัน รวมทั้งเรื่องอื่นๆด้วย
นายคำนูณ กล่าวว่า ทางกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ได้ประสานเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกับ สปช. เพราะถือว่ายังไม่เสร็จเรียบร้อย ถ้าทบทวน ก็คงหลักการที่สำคัญจริงๆ ว่าควรมีการปรับแก้หรือไม่ ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังมีจังหวะเวลา ฟังความเห็น สปช. และตัดสินใจช่วงแปรญัตติ ทั้งนี้การทำงานช่วง 60 วัน คือ วันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค.58 ถือว่า เวลาบีบรัด เพราะมีคำข้อแก้มาก และจำนวนมาตราก็คงมากตามไปด้วย จึงต้องวางตารางเวลาในช่วงนั้นว่า จะมีการเชิญผู้ขอแก้ไข เข้ามาให้ข้อมูลเมื่อไร ดังนั้นต้องวางตารางทำงานอย่างเต็มที่ ประชุมทุกวัน ไม่เว้นเสาร์ อาทิตย์
ส่วนเนื้อหาในบททั่วไป ภาค 4 ที่บัญญัติว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง ตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ" ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า เปรียบเสมือนให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ กับคณะกรรมการปรองดองที่จะอภัยโทษให้ใครก็ได้นั้น นายคำนูณ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำตรงส่วนนี้หรือไม่ ทั้งนี้ จะเห็นภาพรวมที่เป็นร่างสุดท้ายของกรรมาธิการฯ ในสัปดาห์หน้า
นายคำนูณ ยังอธิบายถึง กรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวปาฐกถาเปรียบเทียบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็ต้องสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือเผด็จการพ่อขุน ว่า ตนก็ได้รับฟังอยู่ จึงเข้าใจว่านายบวรศักดิ์ ไม่ได้หมายความว่า เผด็จการพ่อขุน คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพียงแต่ยกตัวอย่างให้ฟัง หลังจากมีเสียงวิจารณ์มากว่า ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน เหม็นกลิ่นนมเนยนั้น ความจริงแล้วการร่างรัฐธรรมนูญของไทย ก็นำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น เพราะเราไม่เคยมีการปกครองระบบรัฐสภา และประชาธิปไตย จึงเป็นการนำเข้า ไม่มีอะไรของไทยแท้ ทำให้ต้องมาประยุกต์แล้วก็เปรียบเทียบว่า ถ้าแบบไทยจริงๆ ก็ระบบพ่อขุน แต่ไม่ได้หมายความว่า เผด็จการพ่อขุนคือประชาธิปไตยแบบไทยๆ

**ร่างรธน.ตั้ง11องค์กรเพิ่มสิทธิพลเมือง

นายมานิจ สุขสมจิต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุ กมธ. สื่อสารกับสังคม กล่าวถึง กรอบแนวคิดในร่างรัฐธรรมนูญ ที่เน้นย้ำถึงการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ว่า จะมีองค์กรที่เกิดขึ้นในใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เพิ่มสิทธิพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหารบ้านเมือง ทั้งสิ้น 11 องค์กร ได้แก่
1. องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุไว้ในมาตรา 60 เพื่อให้มีหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานราชการ, ตรวจสอบ, กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
2. สภาตรวจสอบภาคพลเมือง จำนวน 77 จังหวัด อยู่ในมาตรา 71 มาจากตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัด
3. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ระบุไว้ใน มาตรา 74 เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับจริยธรรม คุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น หากพบการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง จะส่งเรื่องให้รัฐสภาและประชาชนลงคะแนนถอดถอน
4. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ระบุไว้ใน มาตรา 77 ทำหน้าที่ประเมินผลการวางตน การปฏิบัติงานของพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองแล้วแจ้งต่อสาธารณะเพื่อให้ช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน
5. คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม ระบุไว้ใน มาตรา 207 มีหน้าที่ พิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าปลัดกระทรวง หรือย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่งก่อนนำเสนอชื่อให้นายกฯเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง
6. สมัชชาพลเมือง ระบุใน มาตรา 215 เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองมีการรวมตัวเป็นสมัชชา เพื่อทำหน้าที่ร่วมตัดสินใจและดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น และให้ความเห็นต่อการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น
7. ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ระบุใน มาตรา 244 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคดีกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่ใช้จ่ายเงินแผ่นดินจนก่อความเสียหายแก่รัฐ
8. คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ระบุไว้ใน มาตรา 268 มีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. , สภาท้องถิ่น, ผู้บริหารท้องถิ่น และออกเสียงประชามติ ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์
9. ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ระบุไว้ใน มาตรา 275 มีหน้าที่พิทักษ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน
10. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ระบุใน มาตรา 279 โดยมีสมาชิกไม่เกิน 120 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ รวมถึงมีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูป
11. คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ระบุไว้ใน มาตรา 297 เพื่อทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในส่วนต่างๆ


**อัด"บวรศักดิ์"ร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึง กรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่าง ระบุ นักการเมืองวิจารณ์การร่างรธน. เฉพาะในส่วน อำนาจนักการเมือง พรรคการเมืองเท่านั้น ว่า ความจริงคนที่วิจารณ์รธน. มีหลากหลาย มีการทำโพลมา จะเห็นว่า ประชาชน ผู้ที่ออกเสียงในโพล ส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯ และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่นายบวรศักดิ์ ไม่ยอมฟัง ให้ไปทำโพลใหม่ สิ่งที่นักการเมือง และพรรคการเมือง วิจารณ์อยู่นั้นไม่ใช่เรื่องของอำนาจนักการเมืองเท่านั้น ประเด็นสำคัญร่าง รธน. ที่กำลังร่างอยู่นี้ อธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน ไม่ได้มีอำนาจโดยเฉพาะกำหนดการปกครอง และบริหารประเทศ ที่นายบวรศักดิ์ คุยนักคุยหนา จะเพิ่มอำนาจพลเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ความจริงเป็นเพียงการทำให้ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง กำลังจะให้อำนาจที่สำคัญๆ กลับเป็นขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ทั้งองค์กรอิสระเดิม องค์กรอิสระใหม่ๆ และ ส.ว.ลากตั้ง
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ และไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และการแข่งขัน เรื่องที่เขียนให้คนนอกเป็นนายกฯ จริงๆ แล้ว กมธ.ยกร่างฯ เขียนเพื่อเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกฯได้ นายบวรศักดิ์ รู้ดีอยู่แล้วว่าจะทำให้อำนาจนอกระบบ เข้ามาแทรกแซง จนในที่สุดคนนอกได้เป็นนายกฯ นายบวรศักดิ์ อาจจะหงุดหงิด ที่มีเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่า เพราะเห็นว่านายบวรศักดิ์ กำลังทำให้ประเทศล้าหลังไปอีก 30-40 ปี เศรษฐกิจเสียหายไม่มีวันโงหัวขึ้นได้ ใน ขณะนี้ ประชาชนเปลี่ยนไปมาก ประเทศพัฒนามากขึ้น ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่นายบวรศักดิ์ กำลังสนับสนุน ร่าง รธน.ล้าหลัง จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนจำนวนมาก และหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.นี้

** ท้าให้มีการทำประชามติ

ส่วนที่นายบวรศักดิ์ ระบุว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ ทั้งที่เป็นแนวคิดแบบเผด็จการ เป็นการปฏิรูป ที่ออกแบบโดยผู้ยึดอำนาจ จึงไม่มีความชอบธรรมในการปฏิรูป โดยเฉพาะกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดำเนินการต่อไป ในอนาคตหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้พวกของนายบวรศักดิ์ มาเป็นคนกำหนด เพราะเป็นแนวคิดล้าหลัง และไม่เป็นประชาธิปไตย
ส่วนที่บอกว่า ถ้าผ่านไปไม่ดีก็แก้ ความจริงร่าง รธน.ฉบับนี้ เขียนไว้ไม่ให้มีการแก้ไขรธน.ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยที่เกือบ 1 ใน 3 ของ ส.ว. มาจากการลากตั้ง หรือการที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือให้ลงประชามติ ฉะนั้นเป็นการหลอกประชาชน ทางที่ดีควรเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แก้ไขร่างรธน. ให้เป็นประชาธิปไตย ก่อนบังคับใช้ มิฉะนั้นจะนำไปสู่ความล้าหลัง ขัดแย้งวิกฤตกว่าเดิม ความจริงสถาบันพระปกเกล้า มีการศึกษาความขัดแย้ง วิกฤตประเทศไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่นายบวรศักดิ์ ไม่เอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ มุ่งแต่เอาใจผู้มีอำนาจ และคงหวังสร้างทางให้ตัวเองในอนาคต
"ถ้านายบวรศักดิ์ จะได้ประโยชน์จากผู้มีอำนาจในขณะนี้ แต่กลายเป็นโทษ เป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ และประชาชน นายบวรศักดิ์เป็นคนชอบทำตามกระแส เมื่อปี 40 ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรธน. ที่เป็นประชาธิปไตย ก็ตามกระแส และได้ดีจากรธน.นั้น แต่มาตอนนี้ นายบวรศักดิ์อาจหลงกระแส คิดว่าประชาชนอยากได้รธน. อย่างที่กำลังร่างอยู่ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และไม่ได้ฟังความเห็นประชาชน ถ้าจะให้ดี ว่าประชาชนเห็นด้วยกับรธน. ที่กำลังร่างอยู่นี้ สิ่งที่นายบวรศักดิ์ ควรทำคือ ผลักดันให้มีการทำประชามติ จะได้เป็นการพิสูจน์กัน ใครคือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยกันแน่" นายจาตุรนต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น