xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้โอเพ่นลิสต์ดีแต่ปฏิบัติยุ่งยาก จี้ทบทวนให้ กจต.จัดเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร (แฟ้มภาพ)
“สมชัย” รับระบบโอเพ่นลิสต์หลักการดี แต่วิธีปฏิบัติยุ่งยาก แนะ กมธ.ยกร่างฯ คิดให้ทะลุ ทั้งรูปแบบบัตรเลือกตั้ง การนับคะแนน พร้อมจี้ทบทวนให้ กจต.จัดเลือกตั้ง ห่วงกลไกการฝ่ายการเมืองแทรกราชการได้ ระบุยังไม่เลือกตั้ง ขรก.ก็เล็งแล้วพรรคไหนจะชนะ ด้าน “นพดล” ตุลาการศาล ปค.สูงสุด บอกควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญยึดโยงประชาชน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเลือกบุคคลที่ตนเองอยากให้เป็น ส.ส.ได้ หรือ Open List ว่า พยายามดูว่าในโลกนี้มีประเทศไหนทำรูปแบบนี้บ้าง เท่าที่สืบค้นดูพบว่าไม่มี ฉะนั้นถือว่าเป็นการคิดค้นใหม่สำหรับประเทศไทย เป็นนวัตกรรม คือมีระบบบัญชีรายชื่อแต่มีการให้เลือกคนในบัญชีรายชื่ออีกที ดังนั้นเมื่อคนไทยไปใช้สิทธิจะรับบัตร 2 ใบ และเลือก 3 อย่าง

ส่วนครั้งต่อๆ ไปอาจมีเรื่องลงประชามติการถอดถอนนักการเมืองตามที่สมัชชาคุณธรรมฯ ชี้มูลความผิดจริยธรรมร้ายแรงเพิ่มเติมมาด้วย ผลของการที่ต้องเลือกหลายอย่างอาจเป็นภาระของประชาชนจริง แต่ถ้ามองในหลักสากลหลายประเทศก็ใช้วันเลือกตั้งเป็นโอกาสของการลงมติของประชาชนหลายๆ เรื่องในครั้งเดียว เช่นอเมริกา จะมีการโหวดถึง 20 อย่างก็มี เช่น ส.ส., ส.ว. กรรมการการศึกษา อัยการ กรรมการท้องถิ่น ฯลฯ จนถึงการออกเสียงประชามติทั้งระดับท้องถิ่นหรือประเทศ โดยเขาใช้เครื่องลงคะแนนอัตโนมัติ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนที่สามารถเปลี่ยนหน้าจอ ไม่มีบัตรเลือกตั้งซึ่งก็เป็นไปได้ในอนาคตของประเทศไทย

“หลักการโอเพ่นลิสต์ถือเป็นหลักการที่ดี คือเพิ่มอำนาจประชาชนในการเลือก เพราะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มองปัญหาที่ผ่านมาในอดีต ที่พรรคการเมืองจัดลำดับตามอำนาจ อิทธิพล เงินหรือบทบาทของหัวหน้าพรรค จัดคนแบบไม่เกรงใจประชาชน ตามใจหัวหน้าพรรค ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่คนมีความรู้ แต่เป็นญาติมิตรหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรค การทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกนั้นคือการเพิ่มอำนาจของประชาชน แต่จุดอ่อนคือประชาชนจะรู้หรือไม่ว่าในบัญชีรายชื่อนั้นคนไหนดีหรือน่าเลือก ซึ่งพรรคการเมืองต้องแก้ปัญหาเอาเองว่าทำอย่างไรถึงจะคัดคนที่ประชาชนรู้จัก มีประสบการณ์มีความรู้ คนในบัญชีก็ต้องสร้างตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ เป็นที่รู้จัก แต่ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของฝั่งพรรคการเมืองเอง ไม่ใช่จุดอ่อนของประชาชน”

ส่วนในด้านการบริหารจัดการของ กกต.มองว่าก็มีปัญหา เพราะหากใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ต้องถามว่าบัตรเลือกตั้งจะมีหน้าตาอย่างไร ออกแบบได้กี่แบบ แตกต่างกันยังไง เช่นถ้ามีชื่อ ส.ส.33 คนใน 1 พรรค ส่งผู้สมัคร 50 พรรค ต้องพิมพ์บัตรตามรายชื่อ 50 ใบ ทำให้จำนวนบัตรเยอะมาก หรือจะออกแบบให้ประชาชนกาในบัตรเลือกพรรคแล้วเขียนหมายเลขคนที่ต้องการเลือกในช่องว่าง แบบนี้ก็จะใช้บัตรเพียงใบเดียว แต่อาจมีปัญหาสร้างภาระประชาชนต้องจำหมายเลขก่อนว่าจะเลือกใครในพรรคที่ต้องการเลือก ทำให้ผู้สมัครเบอร์น้อยหรือเบอร์ 1 คนอาจเลือกมาก กับมีปัญหากรณีหากประชาชนเขียนหนังสือไม่ได้ หรือแบบที่ 3 มีพื้นที่และกล่องต่างๆ ตามพรรคให้ประชาชนหยิบบัตรเอง หยิบบัตรที่เป็นบัญชีรายชื่อของพรรคที่จะเลือก ซึ่งทำในยุโรป สแกนดิเนเวีย แต่ก็มีปัญหาการจัดการต้องมีพื้นที่กว้างพอ ให้การหยิบบัตรเป็นความลับได้ แต่ก็จะทำให้เวลาเลือกตั้งต่อคนเพิ่มขึ้น ขณะที่การนับคะแนน คงต้องมีเวลานับคะแนนมากขึ้น อาจทำให้ช้าไปอีกเป็นวันหรือสองวัน ยิ่งจะให้นำหีบบัตรไปเทนับรวม ไม่ได้นับที่หน่วยเลือกตั้ง ยิ่งต้องทำใจว่าอาจใช้เวลานับ รู้ผลการเลือกตั้งช้าไป 2-3 วัน

“ดังนั้น หากกรรมาธิการยกร่างฯ ยืนยันจะใช้ระบบนี้ อยากให้คิดให้ทะลุทั้งหมดว่าบัตรเป็นยังไง นับคะแนนยังไง แต่ในส่วนของการจัดการแม้จะมีปัญหายุ่งยากบ้าง แต่ กกต.เชื่อว่าจัดการได้ ”

นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่หากใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วทำได้ มี 2 แบบ แบบแรกคือเป็นคอมพิวเตอร์ทัชสกรีน ดิจิตอลร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนจอไอแพค มีเมนูแนะนำคล้ายตู้เอทีเอ็ม โดยเทคโนโลยีนี้สามารถเลือกยังไงกี่ขั้นตอนก็ได้ ราคาต่อเครื่องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท แต่หากเป็นแบบที่ 2 จะผสมแม็กคานิกไปด้วย คือแบบที่ใช้ในอินเดีย เนปาล เครื่องราคาถูกกว่าประมาณหลักพัน และ กกต.ไทยเอามาพัฒนา ซึ่งแบบนี้เลือกซับซ้อนเกินไป ดังนั้นอาจยังเอามาใช้แบบโอเพ่นลิสต์ไม่ได้ แต่ปัญหาการนำมาใช้มีอยู่ 2 ด่าน คือ ค่าใช้จ่าย และความเชื่อถือ เชื่อว่าแม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้นำเครื่องลงคะแนนมาใช้ แต่คงยังไม่เกิดขึ้นง่ายในระยะใกล้

“งบประมาณนั้นรัฐบาลต้องจัดสรร คงไม่มาเป็นล็อตใหญ่ อาจทำได้บางพื้นที่เป็นท้องถิ่น ส่วนความเชื่อถือ กกต.ต้องทำการบ้านหนักกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ลองใช้เลือกประธานนักเรียน สหกรณ์ อาจต้องเชิญพรรคการเมือง สื่อ มาตรวจพิสูจน์ ผ่าดู สุ่มตรวจเครื่องว่าผลการกดลงคะแนนตรงกับผลที่ออกมาหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งใหม่ยังไม่ได้ใช้แน่นอน แต่ต้องวางรากฐาน คงกะเวลาแบบไม่เข้าข้างตัวเองน่าจะอีก 10 ปี ถ้าไม่เริ่มทำก็จะเป็นแบบเดิมตลอดไป”

นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ซึ่งมาจากข้าราชการระดับปลัดกระทรวงจัดการเลือกตั้งแทน กกต. ว่าฝากให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคิดให้ดีๆ คิดให้นิ่งก่อน ว่ายังจะใช้ กจต.อยู่หรือไม่ เพราะการเลือกตั้งครั้งแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นฝ่ายรัฐบาลที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ยังคงเป็นรัฐบาลปัจจุบัน แต่ครั้งต่อๆ ไปก็จะเป็นฝ่ายการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ หากคิดว่าไว้ใจได้ว่าการเมืองไม่เข้าแทรกแซงข้าราชการประจำก็ดำเนินการตามที่ออกแบบต่อไป แต่หากยังห่วงว่าอาจแทรกแซงได้ ก็ต้องคำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้น และใครออกแบบก็ต้องรับผิดชอบ

“ความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับฝ่ายการเมืองเป็นเส้นแบ่งที่ไม่เคยได้ผล จะออกแบบกลไกกติกายังไง ท้ายสุดราชการที่มุ่งความก้าวหน้าก็จะวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมือง เพื่ออิงอำนาจ อย่าไปคิดว่าช่วงเลือกตั้งปลัดกระทรวงรักษาการแล้วปลัดจะอิสระปลอดการเมือง ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งก็มีข้าราชการประจำหลายคนที่เล็งแล้วว่าพรรคไหนจะชนะ ช่วงที่รักษาการก็ต้องคิดแน่ ความเกรงออกเกรงใจ การดำเนินการที่เอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่งก็อาจยังเกิดขึ้นได้ เวลานักการเมืองเดินไปไหน มีปลัดกระทรวงเดินตามกี่คน อยากให้ไปคิดทบทวน ไม่ใช่หวงอำนาจ เพราะจริงๆ กกต.ทำงานง่ายขึ้น แต่เพราะเราเราคิดบนผลประโยชน์ชาติ และการเลือกตั้งที่เป็นํธรรมเป็นหลัก”

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. ตนจะเดินทางไปตามคำเชิญจากรัฐบาลออสเตรเลียให้ไปดูเลือกตั้งนิวเซาท์เวลส์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค. เป็นการเลือกตั้งทางเลือกที่ให้ลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต หรือไอโหวต หากดูแล้วถ้าใช้ได้จริงก็อาจจะเอามาทดแทนการลงคะแนนเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ จากเดิมมอบกงสุลไปดำเนินการให้ส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ แล้วรวบรวมส่งมาทางเครื่องบิน ใช้งบประมาณกว่า 160 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นแบบไอโหวต ก็แค่เสียเงินลงทุนครั้งเดียวทำโปรแกรม 5-10 ล้านบาท ที่เหลือก็เพียงค่าบริหารจัดการหลักแสนบาทหรือหลักหมื่นบาทแค่จ้างคนทำ

“เท่าที่รู้ผู้ใช้สิทธิต้องลงทะเบียนล่วงหน้า สร้างพาสเวิร์ดแล้วส่งไปให้โหวต สำหรับประเทศไทยอาจต้องมีการพิสูจน์ตัวตนมากขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันในเวทีเสวนาหัวข้อ หลักนิติธรรมกับรัฐธรรมนูญใหม่ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่นี้ควรต้องเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจอธิปไตย เมื่อยอมรับสิทธิของประชาชนที่เคยผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทำประชามติ แล้วเหตุไฉนไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่ไปทำประชามติ ยอมเสียเวลาอีกแค่ 3 เดือน เพราะถ้าหากไม่ทำ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมีความชอบธรรมที่จะหยิบไปถามชาวบ้านภายหลัง ซึ่งหากชาวบ้านไม่เอาก็จะเป็นเรื่องยุ่งกันไปใหญ่

“สุดท้ายถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เป็นของจริงที่นำไปสู่การปฏิรูป และได้ใช้ไปยาวนาน ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ได้วางหลักไว้ ในคำร้องเรื่องการล้มล้างการปกครองที่ผ่านมา อำนาจในการแก้ไขมันเป็นอำนาจของรัฐสภาก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาจะไปแก้ยังไงก็ได้ ถ้าแก้แล้วไปกระทบหลักสำคัญ หรือการแก้ไขทั้งฉบับก็เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญไป กลายเป็นการยกเลิกอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ มันจึงต้องแยกแยะบทบัญญัติไหนเป็นหลัก”


กำลังโหลดความคิดเห็น