“วิษณุ” งงคนสนใจรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องนายกฯ มาจากไหน ส.ส.เลือกตั้งวิธีใด แต่ประเด็นใหม่ๆ ที่สำคัญทั้งสิทธิเสรีภาพ สมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเรือน ไม่เห็นมีใครสนใจ แนะนักการเมืองที่อยากเป็นรัฐบาลควรอ่อนแล้วเสนอแนะ ขณะเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯ ต้องชี้แจงทำความเข้าใจถึงประเด็นใหม่ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อเตรียมไว้หากต้องทำประชามติ ชี้สถานการณ์ล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่จะทำประชามติ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 5 สายที่ผ่านมาว่า ในแต่ละสายมีการเสนอความเห็นประมาณ 17 ข้อไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังรวบรวมคำตอบ ส่วนการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยก็เสนอความคิดเห็นมาได้ ที่ผ่านมายอมรับว่ามีหลายประเด็นที่ถกเถียงและไม่เห็นด้วย เพราะมีถึง 300 มาตรา และอยากเห็นตัวร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็ยังแปลกใจอย่างหนึ่งว่าสังคมเราทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา คือยังชุลมุนวุ่นวายติดใจกันอยู่ในประเด็นนายกรัฐมนตรีเป็นใคร มาจากไหน ส.ส.เลือกตั้งโดยวิธีอะไร มันเป็นวิธีที่เรียกว่าการเมืองภาคการเมือง ก็ไม่เป็นไรถ้าใครติดใจก็ยกขึ้นมาได้ แต่ความจริงในรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะตั้งคำถาม เช่น สิทธิและสีรีภาพ สมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเรือน ใหม่ๆ ยังมีอีกเยอะ ประเด็นเหล่านี้ดูแล้วไม่ค่อยจะมีการใครวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนประหนึ่งว่าไม่ได้อ่าน หรืออาจจะเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยคงต้องพูดจากัน แม้กระทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ให้ไว้เยอะ แต่ในแง่ประชาชนก็ต้องตอบเป็นเรื่องดี แต่ในแง่ของคนที่จะมาเป็นรัฐบาล ก็ควรจะอ่านหน่อย
“สำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐบาล หรือคิดจะมาเป็นรัฐบาลก็ช่วยอ่านหน่อย พวกผมไม่ได้เป็นแล้ว อีกหน่อยก็ถอยออกไป เขาจะให้กลับมาใหม่หรือไม่ก็คงไม่รู้ ไม่ได้เกี่ยวอะไร และผมก็ไม่ได้ติดใจ แต่คนที่จะเข้ามารับภาระประเทศต้องอ่าน คิดให้ดีนะว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไหม หรือเข้าใจหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาก็บอก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในตอนนี้เลย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอีกว่า คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง ตอนนี้รวมกันหมดแล้ว ใครมีอะไรก็บอก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ”
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น บางประเด็นเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต แต่บางประเด็นเป็นการมองไปข้างหน้าว่าหากเกิดปัญหาก็กันไว้ก่อน เพราะฉะนั้นจึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมา ซึ่งมันยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะอ่านกัน และช่วยตั้งเป็นข้อสังเกตด้วย ถ้าอ่านไม่หมดเดี๋ยวจะมีปัญหาไม่หมด จะมีปัญหาอีกว่าไม่เห็นรู้ ไม่เห็นบอก เพราะฉะนั้นควรอ่านให้หมด ตนเป็นห่วงใยที่บอกว่าจะไปทำประชามติ คนจะเข้าใจแบบนี้ทั้งหมดไหม ขณะตนอ่านเองยังมีเครื่องหมายคำถามเลยว่าเวลาเอาไปใช้จริงมันแปลว่าอะไร เช่น ที่บอกว่ารัฐจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ ออกกฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน ตรงนี้ตนก็เป็นห่วงว่ารัฐบาลหน้าเขาจะเข้าใจหรือไม่ว่าคำสัดส่วนต้องคำนึงถึงอะไร แล้วจะมาร้องกันที่หลังว่า ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เพราะฉะนั้นต้อนนี้มีอะไรก็ถามให้ชัดเจน เพราะจะได้ตอบ
ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำลายระบบพรรคเมืองนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ความจริงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดแข็งและจุดอ่อน ถ้าหยิบจุดอ่อนมาพูดมันก็มองได้ แต่ก็มีจุดแข็ง เพราะฉะนั้นต้องชั่งน้ำหนักเอาว่าจะเลือกเอาอะไร เพราะถ้าจะเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดโดยไม่มีจุดอ่อนเลยคงไม่ได้ ตนไม่มีปัญหาอะไรถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้ไปพิจารณาอีกที
ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายก็มีการพูดกัน มีการเสนอแนะว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญควรสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะต้องระบุว่าการเสนอแบบนี้ไปเพราะต้องการแก้ปัญหาอะไร นอกจากนี้ ต้องชี้แจงว่าการเสนอแบบนี้มันจะเกิดผลกระทบข้างเคียงอะไรหรือไม่ ก็ต้องทำความเข้าใจ และจะต้องพูดถึงถ้อยคำ และความหมายของถ้อยคำ เพราะบางคำเป็นคำใหม่ที่ไม่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญก่อนๆ ก็ต้องถามกันว่ามันแปลว่าอะไร พูดกันให้รู้เรื่องก่อน จะได้ไม่มีปัญหาเวลาเกิดคดีขึ้นภายหลัง
ดังนั้น การทำความเข้าใจถือเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลาทำความเข้าใจ ก็ต้องเตรียมไว้ก่อน เพราะเมื่อร่างเสร็จก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ยิ่งถ้าคิดเผื่อว่าจะต้องทำประชามติ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ ถ้าไปถึงขั้นนั้นการทำความเข้าใจยิ่งสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นคนก็จะไปโหวตกันโดยไม่เข้าใจอะไรเลย
ส่วนที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ระบุว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย จะเว้นวรรคการเมือง นายวิษณุตอบว่า ก็ยังไม่ได้คิดอะไร เพราะเชื่อว่ายังมีเวลาทำความเข้าใจกัน ในอดีตนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาก็เคยมีแนวคิดนี้ แต่หลังจากนั้นท่านก็ลง เมื่อถามว่าถ้ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันแบบนี้ น่าจะมีแนวโน้มที่จะทำประชามติใช่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง นายวิษณุกล่าวว่า ก็รับทราบไว้ตรงนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้จวนที่จะรู้แล้วว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่