xs
xsm
sm
md
lg

ได้รธน.ใหม่ปลายปี-กม.ลูกปี59 เสนอรัฐทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 –307อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง" โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นายสุมิตร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งนักวิชาการ จากสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. นนทบุรี ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญยกร่างคร่าวๆ เสร็จแล้ว มีทั้งหมด 315 มาตรา ขณะเดียวกัน ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยในเดือนเม.ย.นี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง จะทำการแปรญัตติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจัดให้มีการสัมมนาใน 4 ภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ภายในเดือนเม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปตามระบอบประชาธิปไตย และไม่อยากเห็นปัญหาลุกลามขึ้นมาอีก จึงอยากรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
จากนั้น นายจุรินทร์ได้กล่าวแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ยังแก้ไขได้ ก็หวังว่ากรรมาธิการฯ จะนำความเห็นเหล่านี้ จากที่ได้รับฟังจากภาคส่วนต่างๆไปประกอบการพิจารณา โดยตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเข้าลักษณะ 3 ประการ คือ ต้องมีผลพัฒนาประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ระยะยาวได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ ต่อมาอะไรที่เคยสร้างปัญหาในอดีต ไม่ควรย้อนยุคกลับมาใช้ เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง และการเขียนรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใหม่ทุกเรื่อง อะไรใหม่ แต่ไม่ดีกว่าไม่ควรจะเอา แต่อะไรเก่า แต่ดีควรเก็บไว้ โดยควรปิดช่อง ว่าง กำจัดจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ น่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯ มีเจตนาดี แต่ควรรับฟังฝ่ายปฏิบัติ และคำนึงถึงโลกความเป็นจริงด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นทฤษฎีมากเกินจริง
"รัฐธรรมนูญปี 40 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไป จนกินรวบประเทศ คอร์รัปชันอย่างมโหฬารมาแล้ว เหมือนรอบนี้ จะร่างย้อนกลับไปแบบเก่าอีก กมธ.ยกร่างฯ ต้องทบทวน เรื่องการกำหนดให้สภาต้องยุบด้วย หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะเขียนไว้เพื่อปกป้องนายกฯ ส่วนการกำหนดให้นายกฯ มีอำนาจพิเศษ เสนอพระราชบัญญัติไว้วางใจได้ ถ้าสภาไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้นายกฯ ภายใน 48 ชั่วโมง โดยถือว่ากฎหมายนั้นผ่านสภา เรื่องนี้จะยิ่งกว่าอภิมหาพระราชกำหนดอีก อาจมีผู้ที่ประสงค์วาระพิเศษ ใช้ช่องทางนี้เสนอพ.ร.บ.ที่อาจเป็นปัญหาทำให้การเมืองเดินต่อไม่ได้ในอนาคต นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง" นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนเรื่องการถอดถอนนักการเมือง ที่เดิมให้ส.ว.เป็นผู้ถอดถอน แต่ครั้งนี้ เขียนให้ 2 สภาร่วมกันถอดถอน อาจเป็นเพราะกมธ.ยกร่างฯ ไปกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ดังนั้นการถอดถอนถ้าจำนวน ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมดไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 650 เสียง เสียงถอดถอนต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่ง คือ 326 เสียง ถ้าตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่าจำนวนกึ่งหนึ่ง นายกฯและครม.จะไม่มีวันถูกถอดถอนได้เลยไม่ว่าจะคอร์รัปชันขนาดไหน เพราะมีเสียงข้างมากกันไว้ และการให้สภาผู้แทนราษฎร ถอดถอนได้ ถ้าเกี่ยวกับคนในสภา หรือครม.จะเป็นการให้แต้มต่อกับรัฐบาล อีกทั้งกรณีที่ให้กรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จัดการเลือกตั้งนั้น ตนเองไม่เข้าใจว่ากจต. ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการประจำนั้น ทำให้ปราศจากอิทธิพลนักการเมืองได้อย่างไร เพราะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลข้าราชการประจำ ก็เป็นนักการเมือง ถ้าหากมีการถ่วงดุลอำนาจกกต. ควรให้ศาลเป็นผู้ถ่วงดุลน่าจะดีกว่า
ส่วนการกำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ จะกลายเป็นให้คนเลือกคน แทนคนเลือกพรรค เกิดผลทำให้ พรรคเดียวกันแข่งกันเอง สุดท้ายระบอบการเมืองจะสับสนวุ่นวาย ทะเลาะ ทำลายพรรคการเมืองกันเอง การเมืองจะสับสน ประชาชนรับไม่ได้ ดังนั้น ตนไม่อยากเห็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก การหาทางออกคือทำให้การเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล และประชาชนเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ระยะยาว
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งส.ส. และส.ว. การเลือกตั้งแบบเขตจังหวัด ควรใช้สัดส่วน ประชากร 1 คนต่อ 1 เสียง และการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ควรใช้แบบเขตประเทศ เพราะจะสะท้อนประชาธิปไตย ส่วนการจัดการเลือกตั้งควรทำแบบประเทศญี่ปุ่น คือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จัดการการเลือกตั้งให้ทั้งหมด ส่วนเรื่องการถอดถอน วุฒิสภาไม่ควรถอดถอน เพราะวุฒิสภาไม่มีคุณภาพ ควรจะให้เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินการ วุฒิสภาเพียงแค่ยกมือ และก็ถอดถอด ทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม ไม่ตอบโจทย์ ยืนยันประเทศนี้ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับคนจนและคนรวย ไม่มีใครทะเลาะกับใคร จึงขอฝากไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ถ้าทำจริงก็จะตอบโจทย์ ถ้าทำไม่จริงก็จะไม่ตอบโจทย์ ในการปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากบรรดาตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็ก และกลุ่มประชาชน ต่อการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขอให้มีการดำเนินการยกเลิก ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57/ 2557 ที่มีเนื้อหาห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินงานทางการเมืองได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน จึงสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ต่อมาเสนอให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง สนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองของภาคประชาชน มากกว่าอุดหนุนพรรคการเมืองที่มีนายทุน หรือกลุ่มทุนดูแล รวมทั้งเสนอให้มีการออกกฎหมายให้มีการคุ้มครองพยาน ในคดีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับ อีกทั้งยังมีการเสนอให้ทางป.ป.ช. สามารถมีอำนาจยับยั้งโครงการของรัฐบาล ที่ส่อสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ และประชาชนด้วย

**ได้รธน.ใหม่ปลายปี กม.ลูกเสร็จปี 59

วานนี้ ที่รัฐสภา นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดการสัมมนา "สานพลังนักธุกิจในการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ว่า ความเห็นจากทุกภาคส่วน จะเป็นข้อมูลคู่ขนานกับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการจัดทำบันทึกเจตนารมณ์ ร่างรัฐธรรมนูญโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญที่ตรงกันต่อผู้นำไปปฏิบัติ ทั้งฝ่ายการเมือง และเมื่อเกิดการตีความ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญร่างแรก จะต้องแล้วเสร็จช่วงหลังสงกรานต์ ในวันที่ 17 เม.ย. และคาดว่า จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในปลายปี 58 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จะเสร็จในปี 59
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของ ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการสร้างฐานประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็ง เพราะที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ซึ่งยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากการเมือง แต่ต้องการให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม โดยจะมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เป็นกลไกควบคุมการเมืองให้ใสสะอาด นักการเมืองทำตามกฎหมายและมีจริยธรรมควบคู่กัน อีกทั้งต้องการกระจายพรรคการเมืองเข้าสู่สภา ไม่ใช่พรรคการเมืองเดียวเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนักการเมืองในสภา ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของพรรคการเมือง แต่เป็นความเข้มแข็งของเจ้าของพรรคการเมืองมากกว่า

** นักธุรกิจอยากเห็น 3 เรื่องหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีสัมมนาส่วนใหญ่ นักธุรกิจอยากเห็น 3 ประเด็น เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ คือ 1. ส่งเสริมและการคุ้มครองการค้าเสรี และธุรกิจเอกชน เพราะที่ผ่านมาเน้นแต่การกำกับดูแล ยังขาดการส่งเสริมจากรัฐอย่างเต็มที่ 2. บัญญัติถึงสิทธิ หน้าที่ บทบาทของภาคประชาชน ความรับผิดชอบ และการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น อย่างการชุมนุมรวมตัวของกลุ่มคน ต้องไม่กระทบกับภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชน รวมถึงออกกฎหมายกำหนดบทลงโทษผู้ที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างเข้มงวด และต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หากไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจน สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกัน และ 3. ให้คำนึงถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านทุจริต การสร้างอนาคตประเทศ และบัญญัติคุณสมบัติที่มาของนักการเมือง โดยเสนอให้มีการปฏิรูประบบเก็บภาษี ให้มีการสำรวจใหม่ และขยายฐานการเก็บภาษี ส่วนเรื่องที่กระทบต่อสิทธิประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ ต้องผ่านประชาพิจารณ์ และให้มีการทบทวนแนวทางปฏิรูปทุก 5 ปี

**กมธ.ปัดข้อเสนอดีเบตพรรคการเมือง

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาท้ากมธ.ยกร่างฯ ให้ดีเบตกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องที่จะมาดีเบต โต้เถียงกันว่าใครแพ้ ใครชนะ ใครถูก ใครผิด หากใครไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรออกมาชี้แจงผ่านสาธารณะ หรือจะทำหนังสือถึงกมธ.ยกร่างฯก็ได้ เราก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกข้อสงสัย และอย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย เรายังสามารถแก้ไข และปรับปรุงได้ หากใครเห็นว่าตรงไหนไม่ เหมาะสม ก็ส่งความเห็นมาได้เลย เราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น เราไม่ได้คิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญของเราถูกต้องทั้งหมด
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะสมบูรณ์ ไม่มีการแก้ไขก็ต่อเมื่อผ่านวันที่ 23 ก.ค.ไปแล้ว เพราะช่วงระหว่างวันที่ 25 พ.ค.- 23 ก.ค.จะเป็นช่วง 60 วัน สุดท้ายของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในช่วงนี้ จนถึงวันที่ 30 มี.ค. จะเป็นช่วงทบทวน และปรับถ้อยคำเท่านั้น หลังจากนั้นจะส่งร่างฯ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปราย และยื่นคำขอแก้ไข และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้พิจารณาด้วย พวกเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก หลังจากนั้น หากมีจุดไหนที่ สปช. ครม. และ คสช. ได้ยื่นคำขอแก้ไขปรับปรุงมา กมธ.ยกร่างฯก็จะเอามาพิจารณาร่วมกับข้อมูลความเห็นของประชาชน และปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

**เสนอต้องทำประชามติรธน.

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. และ กมธ.ปฏิรูปการเมือง แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นร่างที่ได้รับความเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ ทั้งในเชิงประเด็นและเขตพื้นที่ ทั้งนี้ตนจึงต้องการเสนอให้มีการลงประชามติ ก่อนการประกาศใช้ โดยเสนอให้เป็นรูปแบบเชิงเปรียบเทียบ กล่าวคือ เลือกระหว่างร่างฯ ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับ ระหว่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 และ 50 ว่าจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด โดยมีเหตุผลประกอบ ประการแรก คือ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มีความชอบธรรม เพราะเห็นด้วยจากประชาชน และรู้สึกเป็นเจ้าของ ผูกพัน หวงแหน เพื่อป้องกันการถูกฉีกทิ้งได้ง่าย ประการที่สอง ทำให้เกิดความผูกพันต่อองค์กรของรัฐ เป็นหลักประกันว่า การปฏิรูปประเทศหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินการต่อไป และประการสุดท้าย เป็นการเปิดมหาวิทยาลัยประชาธิปไตยเต็มแผ่นดิน เปิดโอกาสแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน ในเรื่องสาระสำคัญต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นสาธารณะ ที่จะเป็นการให้การศึกษาทางการเมืองต่อประชาชนทั่วประเทศ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยวัย ฐานะ อาชีพ และด้วยคุณสมับัติอื่นๆ
"แม้การทำประชามติ จะมีค่าใช้จ่ายและใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ภายหลังสปช. ต้องให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 6 ส.ค. แต่รับรองผลหากทำตามที่เสนอรับจะคุ้มเกินค่า" กมธ.ปฏิรูปการเมือง ระบุ
นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี เร่งตัดสินใจว่า รัฐบาลจะให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการปล่อยให้อึมครึม โดยที่นายกฯ ก็ไม่เคยแสดงท่าทีชัดเจนว่า จะจัดให้มีประชามติหรือไม่นั้น ทำให้สังคมสับสน และไม่มั่นใจว่าขั้นตอนสุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีหน้าตาอย่างไรกันแน่
ที่น่าห่วงและอาจทำให้สังคมสับสนมากคือ นายกฯ มักจะบอกว่าอย่าเถียงกันเอาเป็นเอาตาย หรือวิตกกังวลในสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากเกินไป เพราะสุดท้ายอยู่ที่คสช. และรัฐบาล ว่าจะปรับแก้อย่างไรนั้น การส่งสัญญานแบบนี้ทำให้หลายฝ่ายหรือแม้แต่ สปช. หรือคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เองก็ไม่มั่นใจ และยืนยันกับสังคมไม่ได้เหมือนกันว่า เนื้อหาสาระที่เดินสายอธิบายความ จัดเวทีรับฟังกันอยู่ในขณะนี้ หรือร่างกันเสร็จสรรพแล้ว จะปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือจะถูกบังคับใช้หรือไม่ หรือคสช.มีพิมพ์เขียวอีกฉบับหนึ่งอยู่แล้ว
แต่หากนายกฯ ประกาศ ให้ชัดเจนว่า จะจัดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจากนี้ไปกระบวนการประชาพิจารณ์ หรือการแปรญัตติ จะมีความหมาย และดึงการมีส่วนร่วมดึงความสนใจจากประชาชนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การทำประชามติ นอกจากจะเป็นเกราะกำบังให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกรื้อตามใจชอบแล้ว ยิ่งลดข้อครหาสืบทอดอำนาจได้อีกด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้ บอกตลอดเวลาว่าไม่คิดจะอยู่ต่อ ยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องถ่ายโอนการปฏิรูปมาให้สังคมและประชาชนขับเคลื่อนต่อ เพราะการลงประชามติ ถือเป็นกระบวนการปลายเปิด ให้สังคมตัดสินใจ และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจด้วยตนเอง ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นตามมา
สังคมไทยได้สร้างมาตรฐานของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมไว้สูงมากในรัฐธรรมนูฉบับปี 40 และปี50 ฉะนั้นรอบนี้มาตรฐานของการมีส่วนร่วม ก็ไม่ควรน้อยไปจากเดิม

** ชี้โอเพ่นลิสต์ ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ

นายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง ร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างฯ กำลังดำเนินการอยู่ ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ชี้แจงว่า การร่างรัฐธรรมนูญยังไม่จบเท่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ ไม่ได้เป็นไปตามร่างฯ ที่กมธ.ร่างออกมา คงต้องรอดูในช่วงนั้น เพียงแต่กระบวนการที่ทำอยู่ จะสร้างความสับสนให้ประชาชนในช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งกระบวนการกำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ขณะที่ระบบโอเพ่นลิสต์ พูดเหมือนให้อำนาจประชาชนเป็นผู้กำหนดลำดับของระบบบัญชีรายชื่อ แต่ความเป็นจริง จะเกิดปัญหาในการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะในอดีต ประชาชนไว้วางใจพรรคการเมือง แต่ปัจจุบันกลับต้องดูตัวบุคคลที่อยู่ในพรรคการเมือง ฉะนั้นจะเกิดภาคนิยม เกิดจังหวัดนิยม มากยิ่งขึ้น กลายเป็นว่า คนที่มีโอกาสอยู่ในบัญชีรายชื่อ อยู่จังหวัด หรือภาคไหน จะต้องระดมจังหวัดหรือภาคนั้นๆให้เลือกตัวเอง มากกว่าจะช่วยหาเสียงในระบบพรรค
"ระบบโอเพ่นลิสต์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายพรรคการเมือง ทำให้พรรคไม่เข้มแข็ง หวังว่าสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดไว้ว่าอย่ากังกลกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขอให้ฟังเสียงประชาชนด้วยและจะได้คำตอบเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจชะลอร่างกฎหมายภาษีที่ดิน อยากให้ใช้อำนาจตรงนี้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับที่ใช้อำนาจชะลอกฎหมายภาษีที่ดิน" นายอุดมเดช กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับกรรมาธิการฯ ที่วางกฎก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา ไม่เช่นนั้นก็จะแก้รัฐธรรมนูญง่ายเกินไป วันๆ ไม่ต้องทำอะไร แก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว จะนำไปสู่วิกฤตเหมือนที่ผ่าน นายอุดมเดช กล่าวว่า ต้องถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างมานั้นดี และเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ หากร่างฯ ดีและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ไม่ต้องกังวลกับคนที่ไปแก้ เพราะคนเป็นส.ส.ต้องฟังเสียงประชาชน ถ้าทำสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชน ก็จะสะท้อนกับสถานะความเป็นส.ส.ในสมัยต่อไป ที่เขียนให้แก้ยาก เพราะกลัวว่าเขาจะไปแก้สิ่งที่ตัวเองตั้งใจจะให้มันเกิด ใช่หรือไม่ ยิ่งเขียนให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก ยิ่งทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า มีอะไรหมกเม็ดอยู่หรือไม่
ส่วนแนวคิดที่กรรมาธิการจะทำเพลงรัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อสร้างความสนใจและกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ตนไม่ทราบ ไม่มีความเห็น

**"ปึ้ง"ขอยุติบทบาทหากรธน.ไม่เป็นปชต.

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่หลายคนบอกไว้ว่า ยังสามารถแก้ไขได้ ยังคงเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเป็นนายกฯได้ ส.ว.ยังมาจากการสรรหา ก็ถือว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตย จะเกิดความวุ่นวายตามมา เหมือนก่อนหน้านี้ ตนในฐานะที่เคยเป็นส.ส.หลายสมัย อาจตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเป็นแบบนี้ก็จะไม่มีอิสระในการทำงาน
การที่รัฐบาลวางโรดแมปให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการในเรื่องต่างๆ นั้น คิดว่าการทำงานของตัวเองดีแล้วหรือ อย่างการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สามารถแก้ได้จริงหรือไม่ รวมถึงกรณีที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะปรับโครงสร้างประเทศสร้างรถไฟความเร็วสูง แล้วถูกศาลรัฐธรรมนูญเบรกไว้เพราะกลัวจะเป็นหนี้ การที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการสร้างรถไฟทางคู่ ผลที่ออกมาจะต่างกันหรือไม่ อีกทั้งการที่เขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ได้ยาก รู้ได้อย่างไรว่า ที่เขียนไปนั้นดีที่สุดแล้ว หากวันข้างหน้าสถานการณ์เปลี่ยนไป แล้วจะทำกันอย่างไร
ส่วนการที่มีแนวคิดจะตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ขึ้นมานั้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็ให้รัฐบาลนี้ทำงานต่อให้เสร็จสิ้น โชว์ฝีมือกันให้เต็มที่ เมื่อคิดว่าแก้ไขปัญหาต่างๆ เรียบร้อยแล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้งจะดีกว่าให้มีการเลือกตั้งแล้วมาคอยควบคุมการทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น