xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เมินโพลนายกฯ ต้องนั่ง ส.ส. ชี้ พท.ความเห็นคลาดเคลื่อน ยันลงพื้นที่แจงได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงความคืบหน้า ทบทวนแล้ว 64 มาตรา คาดเสร็จสิ้นเดือนนี้ ยันร่าง กม.ลูกทันแน่ ปัดสืบทอดอำนาจ 12 มี.ค.เชิญ กกต.-กสม.ให้คำแนะ เตรียมโต้ พท.พรุ่งนี้ ชี้ความเห็นคาดเคลื่อน ป้องศาล รธน.ไม่มีอำนาจล้นฟ้า แนะทีหลังทำหนังสือมาอย่าจ้อผ่านสื่อ ไม่สนโพลพระปกเกล้านายกฯ ต้องนั่ง ส.ส.เปรียบ รธน.เป็นเรื่องยาก สื่อ-ปชช.อาจไม่เข้าใจ มั่นใจลงพื้นที่ได้ทำความเข้าใจกระจ่าง

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรา ว่าล่าสุด กมธ.ทบทวนไปแล้วทั้งสิ้น 64 มาตรา โดยไม่มีการแก้ไขหลักการ มีเพียงการปรับแก้ถ้อยคำในบางมาตราเพื่อให้มีความครอบคลุมชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรา 62 มาตรา 64 ก็มีการปรับถ้อยคำให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน โดย กมธ.คาดว่าจะทบทวนร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราได้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ส่วนการชี้แจงต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันนี้ก็เพื่อให้สมาชิก สปช.ได้มีเวลา 1 เดือน สำหรับการเตรียมตัวศึกษารายละเอียดที่เป็นประโยชน เพื่อนำไปสู่การนำเสนอแก้ไขเมื่อเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของ สปช.ต่อไป

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ยังได้กำหนดประเภทและจำนวนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 14 ฉบับ ที่จะต้องเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ส่วน กมธ.ยกร่างฯ และสปช. ก็ต้องหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 210 วัน ด้าน สนช.ก็ต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี ส.ว.อีกไม่เกิน 240 วัน ทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ร่างและพิจารณากฎหมายลูกที่ต้องแข่งกับเวลา กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันว่า จะสามารถเสนอร่างกฎหมายลูกได้ทันเวลาแน่นอน ส่วนการพิจารณาของ สนช.จะใช้เวลาเท่าใดนั้น ตนไม่รู้

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 12 มีนาคม กมธ.ยกร่างฯ ได้เรียนเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนษยชน (กสม.) เข้ามารับฟังคำชี้แจงและแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการควบรวมบางหน่วยงานเข้าด้วยกันและปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่บางหน่วยงาน ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลก็ได้มีการกำหนดให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบจากการเลือกตั้งในครั้งถัดไปก่อน เนื่องจาก การจัดตั้ง คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการจัดตั้ง

เมื่อถามถึงผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นว่า นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การตั้งคำถามของสถาบันพระปกเกล้าไม่ได้เป็นลักษณะเปรียบเทียบ โดยจะทำการลิสต์มาว่าประชาชนเห็นด้วยกับข้อใดบ้างซึ่งก็จะเห็นได้ว่าทั้ง 25 ประเด็นที่นำไปถามความเห็นประชาชนในภาคต่างๆนั้นประชาชนก็ขีดแต่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด เห็นด้วยกลางๆ แต่ไม่ได้เห็นด้วยน้อย ไม่ได้มีคำถามว่า เอานายกฯ คนนอกหรือไม่ เราก็ไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอานายกฯคนนอก แนวคิดส่วนใหญ่ก็คือเอานายกฯ คนใน แต่เราไม่ได้ระบุว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคำถามนี้จึงเป็นคำถามยากต่อผู้ที่ตอบคำถาม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าโพลสำรวจอาจมีปัญหา พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ประชาชนบอกเห็นด้วย ในเรื่องนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. แค่ 60 เปอร์เซ็นต์เอง อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยถึง 90 เปอร์เซ็นต์

“บางคำถามต้องยอมรับ ท่านสื่อมวลชนฟังผมแถลงมา 5 เดือนกว่าแล้ว อาจจะยังตอบไม่ได้ทุกเรื่อง แล้วถ้าไปถามประชาชนต่างจังหวัดว่า อันนั้นเป็นอย่างนี้อันนี้เป็นอย่างนั้น เขาก็คงยากที่จะตอบ ซึ่งผลการสำรวจนี้ นางถวิลวดี ได้เสนอต่อกมธ.ยกร่างฯแล้ว” โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวและว่า ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ และสถาบันพระปกเกล้าก็จะทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง หลักจากที่ กมธ.ยกร่างฯ นำรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้ ไปขายให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศให้รับทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร ซึ่งตนก็เชื่อว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลังจากได้ทราบเนื้อหารัฐธรรมนูญแล้ว จะมีประโยชน์มากกว่าครั้งแรก

ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้ให้นโยบายแก่ กมธ.ยกร่างฯว่า หากสถาบันการเมือง หน่วยงาน แสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรก็ใช้ชี้แจงกลับไปเป็นลายลักษณ์อักษร โดย ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะนำข้อคิดเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่มีต่อข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มานำเสนอให้สื่อมวลชนได้รับทราบ ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองหรือใครไม่เห็นด้วย ก็ให้นำเรื่องมาเสนอกับเราโดยตรงจะดีกว่า ไม่ใช่มาเสนอผ่านสื่อ เพราะเราก็ยินดีรับฟัง เพราะบางความเห็นของพรรคเพื่อไทยก็มีความคาดเคลื่อน เช่น การระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ประการ คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. ให้ศาลพิจารณาว่าต้องทำประชามติหรือไม่ หากไม่ต้องทำก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประกาศใช้ได้เลย

กำลังโหลดความคิดเห็น