xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯโต้"เพื่อไทย" ปัดศาลรธน.อำนาจล้นฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการทบทวน ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตราว่า ล่าสุด กมธ.ทบทวนไปแล้วทั้งสิ้น 64 มาตรา โดยไม่มีการแก้ไขหลักการ มีเพียงการปรับแก้ถ้อยคำในบางมาตรา เพื่อให้มีความครอบคลุม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อาทิ มาตรา 62 มาตรา 64 ก็มีการปรับถ้อยคำให้ครอบคลุมการดำเนินโครงการ และกิจกรรมที่จะกระทบต่อสิ่งแวด้อมและสุขภาพของชุมชน โดยกมธ.คาดว่า จะทบทวนร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราได้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้
ส่วนการชี้แจงต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เพื่อให้สมาชิก สปช.ได้มีเวลา 1 เดือน สำหรับการเตรียมตัวศึกษารายละเอียดที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การนำเสนอแก้ไข เมื่อเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสปช. ต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ยังได้กำหนดประเภท และจำนวน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 14 ฉบับ ที่จะต้องเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ส่วนกมธ.ยกร่างฯ และสปช. ก็ต้องหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีกไม่เกิน 210 วัน ด้านสนช.ก็ต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีส.ว.อีกไม่เกิน 240 วัน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่มีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ร่าง และพิจารณากฎหมายลูกที่ต้องแข่งกับเวลา ซึ่งกมธ. ยกร่างฯยืนยันว่า จะสามารถเสนอร่างกฎหมายลูกได้ทันเวลาแน่นอน ส่วนการพิจารณาของ สนช.จะใช้เวลาเท่าใดนั้น ตนไม่รู้
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 12 มี.ค. กมธ.ยกร่างฯ ได้เรียนเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนษยชน (กสม.) เข้ามารับฟังคำชี้แจง และแสดงความคิดเห็นต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการควบรวมบางหน่วยงานเข้าด้วยกัน และปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่บางหน่วยงาน ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาล ก็ได้มีการกำหนดให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบจากการเลือกตั้งในครั้งถัดไปก่อน เนื่องจากการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการจัดตั้ง
เมื่อถาม ถึงผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นว่า นายกฯ ต้องเป็นส.ส. พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การตั้งคำถามของสถาบันพระปกเกล้า ไม่ได้เป็นลักษณะเปรียบเทียบ โดยจะทำการลิสต์มาว่า ประชาชนเห็นด้วยกับข้อใดบ้าง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ทั้ง 25 ประเด็น ที่นำไปถามความเห็นประชาชนในภาคต่างๆ นั้นประชาชนก็ขีดแต่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด เห็นด้วยกลางๆ แต่ไม่ได้เห็นด้วยน้อย ไม่ได้มีคำถามว่า เอานายกฯ คนนอกหรือไม่ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีแนวคิดที่จะเอานายกฯ คนนอก แนวคิดส่วนใหญ่ก็คือ เอานายกฯคนใน แต่เราไม่ได้ระบุว่า นายกฯ ต้อมาจาก ส.ส. เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นคำถามนี้ จึงเป็นคำถามยากต่อผู้ที่ตอบคำถาม
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เป็นเพราะโพลสำรวจมีปัญหาหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ประชาชนบอกเห็นด้วย ในเรื่องนายกฯ ต้องเป็นส.ส. แค่ 60 เปอร์เซ็นต์เอง อยู่ในเกณฑ์กลางๆไม่ได้หมายความว่า เขาเห็นด้วยถึง 90 เปอร์เซ็นต์
"และบางคำถามต้องยอมรับ ท่านสื่อมวลชนฟังผมแถลงมา 5 เดือนกว่าแล้ว อาจจะยังตอบไม่ได้ทุกเรื่อง แล้วถ้าไปถามประชาชนต่างจังหวัดว่า อันนั้นเป็นอย่างนี้ อันนี้เป็นอย่างนั้น เขาก็คงยากที่จะตอบ ซึ่งผลการสำรวจนี้ นางถวิลวดี ได้เสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯแล้ว" โฆษกฯกมธ.ยกร่างฯ กล่าว และว่า ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ และสถาบันพระปกเกล้า ก็จะทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่ กมธ.ยกร่างฯ นำรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้ ไปขายให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้รับทราบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอย่างไร ซึ่งตนก็เชื่อว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หลังจากได้ทราบเนื้อหารัฐธรรมนูญแล้ว จะมีประโยชน์มากกว่าครั้งแรก
ส่วนข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้ให้นโยบายแก่ กมธ.ยกร่างฯว่า หากสถาบันการเมือง หน่วยงาน แสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ให้ชี้แจงกลับไปเป็นลายลักษณ์อักษร โดย ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ กมธ.ยกร่างฯ จะนำข้อคิดเห็นของกมธ.ยกร่างฯ ที่มีต่อข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย มานำเสนอให้สื่อมวลชนได้รับทราบ ซึ่งเรื่องนี้เราเห็นว่า ถ้าพรรคการเมือง หรือใครไม่เห็นด้วย ก็ให้นำเรื่องมาเสนอกับเราโดยตรง จะดีกว่า ไม่ใช่มาเสนอผ่านสื่อ เพราะเราก็ยินดีรับฟัง เพราะบางความเห็นของพรรคเพื่อไทย ก็มีความคาดเคลื่อน เช่น การระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการแก้รัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ประการ คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2. ให้ศาลพิจารณาว่า ต้องทำประชามติหรือไม่ หากไม่ต้องทำ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ได้เลย

**คนพิการขอบรรจุ 6 ข้อในรธน.

ในวันเดียวกันนี้ (10 มี.ค.) ที่รัฐสภา สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นำโดย นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) และ นายวิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะ ได้เข้ายื่นเจตนารมย์สมัชชาคนพิการแห่งขาติ ที่ได้มีมติจากการประชุม เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่ จ.เลย ต่อนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เพื่อเสนอความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ในภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 16 การปฏิรูปด้านสังคม ต้องบรรจุจำนวน 6 เรื่อง ดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องสร้างหลักประกันให้ทุกคนรวมถึงคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสวัสดิการและสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะ
2.ให้รัฐออกกฏหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานในสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเสนอออกกฏหมายลูกต่อการเลือกปฏิบัติ
3.รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม และพลังพลเมืองอย่างยั่งยืน
4.รัฐต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกและไทยก็เคยประสบมาแล้วในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554
5.รัฐต้องดำเนินการปฏิรูปการศึกษาพิเศษ โดยปรับปรุงกฏหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการพร้อมกับเสนอให้ออกฏหมายว่าด้วยการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาศเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนใต้
6.รัฐต้องป้องกันและแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของบุคคลอันเนื่องมาจากปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฏหมายจนประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม
ขณะที่ นายวิริยะ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้เคยเสนอไปยังคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช.ไปแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเกรงว่าจะเกิดความล่าช้าต่อการเสนอไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงได้มายื่นข้อเสนอโดยตรง ทั้งนี้ อยากฝากถึงเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่รัฐพยายามผลักดันให้ส่งเสริมการทำงานเป็นรายได้ของรัฐซึ่งยังไม่มีการถามความเห็นของเครือข่ายคนพิการและภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้มีการสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบสลากรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้สังคมพลเมืองมีความเข้มแข็งมากกว่าโดยที่รายได้จะตกแก่ประชาชนแทนการเข้าสู่รัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น