xs
xsm
sm
md
lg

ระวังเกมล้มร่างรธน.!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เกาะกระแส

00 หากพิจารณากันแบบเรียงมาตรากันแล้วสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดยประธานกมธ.ยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็นาทีนี้เริ่มมาถึงช่วงท้ายๆเข้ามาทุกทีแล้ว นับจากนี้ไปก็จะเริ่มพิจารณาในบทเฉพาะกาล และจัดทำรูปเล่มแบบคร่าวๆ เพื่อนำเสนอให้กับ ครม.คสช.และ สปช.พิจารณาติชม แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขอีกรอบแล้วในขั้นตอนสุดท้ายคือการโหวตรับหรือไม่รับของ สปช. ทุกอย่างยังถือว่าเป็นไปตามกำหนดตามโรดแมป ยังไม่ผิดเพี้ยนออกนอกวงโคจร อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือ เนื้อหาในร่าง รธน.บางมาตราพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะเปิดช่องให้มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ซึ่งก็มีทั้งพวกหวังดี รวมไปถึงพวกที่มาแบบ"หวังดีแต่ประสงค์ร้าย"

00 ประเด็นที่ต้องจับตาว่าจะร้อนแรงบานปลายขึ้นมาได้หรือไม่เท่าที่เห็นในเวลานี้ก็คือ การเปิดช่องให้นายกฯคนนอก และ สว.จำนวน 200 ที่มาจากการเลือกตั้งขององค์กรและสาขาอาชีพต่างๆ หรือเรียกว่า"เลือกตั้งทางอ้อม" ความหมายก็คือชาวบ้านไม่ได้เลือกตั้ง สว.โดยตรง แน่นอนว่ากระแสแบบนี้มันมาทุกครั้งเมื่อมีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ทุกครั้งโดยเฉพาะในช่วงสองสามฉบับหลังตั้งแต่ปี 34 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวก็ว่าได้ ฉบับล่าสุดที่กำลังยกร่างกันอยู่ในเวลานี้ก็มีประเด็นดังกล่าวเข้ามาอีกแล้ว แม้ว่าในภาพรวมยังมองไม่เห็นความไม่ชอบมาพากลที่ชัดเจน ยังมองในแง่บวกได้ว่ามีความตั้งใจที่จะ"เปิดกว้าง"ป้องกันวิกฤติแบบทางตันและต้องการให้ สว.มีความแตกต่างจาก สส.เพื่อความหลากหลาย แต่คำถามก็คือมันมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติแบบนั้นจริงหรือ และวิกฤติที่ผ่านมามันเกิดเพราะอะไรกันแน่

00 อย่างไรก็ดีแม้ว่าหากมองในแงบวกก็ยังเห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการเสนอความเห็นยังไม่มีข้อยุติ อาจมีการแก้ไขตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือการให้สิทธิ์กับประชาชนในทุกเรื่อง ผ่านทางการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าต้องมีการออกแบบให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลมีที่มาอย่างอิสระและเข้มแข็งอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง หากไม่มีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างก็จะขับเคลื่อนไปโลดแน่นอน

00 แน่นอนว่าหากพิจารณาในแง่ลบการยกร่าง รธน.หลายมาตรามันก็มองได้เหมือนกันว่าเหมือนกับเป็นการ"โยนหินถามทาง"โดยเฉพาะนายกฯคนนอก และการเลือกตั้ง สว.แบบทางอ้อม มีการให้อำนาจกับ"กองทัพ"เข้ามามีบทบาทในการคัดเลือก สว.ไม่น้อย ในฐานะสาขาอาชีพหนึ่ง ที่มาแบบนี้มันช่วยไม่ได้ที่จะทำให้เกิดความระแวง อย่างน้อยทำให้มองไปในอนาคตข้างหน้าได้ว่าเตรียม"รองรับบิ๊ก"คนไหนหรือเปล่า พูดให้ตรงๆก็คือ เปิดช่องให้กับ บิ๊ก คสช.อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้แต่ "พี่ใหญ่"อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือเปล่า แม้ว่าที่ผ่านมาท่าทีของคนแรกจะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเสร็จภารกิจตอนนี้แล้วจะกลับไปอยู่บ้าน ส่วนรายหลัง"ยังไม่ค่อยชัด"แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างมันก็ยังเป็นไปได้ด้วยเหตุผล "เพื่อความเหมาะสม"และ"ความจำเป็นตามเสียงเรียกร้อง" แต่เอาเป็นว่ารอการชี้แจงเหตุผลให้ชัดจากกมธฯยกร่างเสียก่อน อาจมีการแก้ไขจนยุติในตอนท้ายก็ได้ เพียงแต่เตือนให้ระวังจะกลายเป็นเงื่อนไขให้พวก"ประสงค์ร้าย"ขยายผลป่วนก็เป็นได้

00 ยิ่งมาเจอกับรายงานบรรยากาศข่าวลือถึงสาเหตุการลาออกจาก กมธ.ยกร่างของ ทิชา ณ นคร ว่ามีการขัดแย้งกันภายในจนถึงขั้นร้องห่มร้องให้ ประกอบกับข้อความปริศนาในเฟซบุ๊กของเจ้าตัวหลังลาออกว่า "ปลาผิดน้ำ"มันหมายความว่าอย่างไร ทำให้คาดคิดกันไปต่างๆนานา ทำให้คิดกันมากกว่าเดิม

00 นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตากันแบบไม่ให้คลาดสายตาก็คือ "เกม"จงใจสร้างกระแสให้ล้มฉบับร่างทิ้งไป โดยการยกร่างมาตราให้เป็นเงื่อนไขต่อต้าน จนเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากภายนอก และนำไปสู่การคว่ำของ สปช.ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งตามขั้นตอนก็จะมีการคัดเลือก สปช.ชุดใหม่ มีการตั้งกมธ.ขึ้นมายกร่างรธน.กันใหม่ เมื่อสถานการณ์วุ่นวายก็จำเป็นต้องมีการ "ควบคุมสถานการณ์"กันต่อไป นี่คือมองแบบแง่ลบสุดๆ ซึ่งบางทีก็เหมือนกับไม่ให้เกียรติกัน แต่ก็ต้องดักคอไว้ก่อนให้ระวังกันไว้บ้าง และหวังว่าคาดผิด ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น