xs
xsm
sm
md
lg

ระวังเกมล้มร่างรธน.!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

00 หากพิจารณากันแบบเรียงมาตรากันแล้ว การยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย ประธานกมธ.ยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นาทีนี้เริ่มมาถึงช่วงท้ายๆ แล้ว นับจากนี้ไปก็จะเริ่มพิจารณาในบทเฉพาะกาล และจัดทำรูปเล่มแบบคร่าวๆ เพื่อนำเสนอให้กับ ครม. คสช. และ สปช. พิจารณาติชม แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขอีกรอบ แล้วในขั้นตอนสุดท้ายคือ การโหวตรับหรือไม่รับของ สปช. ทุกอย่างยังถือว่าเป็นไปตามกำหนดตามโรดแมป ยังไม่ผิดเพี้ยนออกนอกวงโคจร อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตาก็คือ เนื้อหาใน ร่าง รธน. บางมาตราพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะเปิดช่องให้มีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ซึ่งก็มีทั้งพวกหวังดี รวมไปถึงพวกที่มาแบบ "หวังดีแต่ประสงค์ร้าย"
00 ประเด็นที่ต้องจับตาว่าจะร้อนแรงบานปลายขึ้นมาได้หรือไม่ เท่าที่เห็นในเวลานี้ก็คือ การเปิดช่องให้นายกฯ "คนนอก" และ ส.ว.จำนวน 200 ที่มาจากการเลือกตั้งขององค์กรและสาขาอาชีพต่างๆ หรือเรียกว่า "เลือกตั้งทางอ้อม" ความหมายก็คือ ชาวบ้านไม่ได้เลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง แน่นอนว่า กระแสแบบนี้มันมาทุกครั้ง เมื่อมีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยเฉพาะในช่วงสองสามฉบับหลัง ตั้งแต่ปี 34 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวก็ว่าได้ ฉบับล่าสุด ที่กำลังยกร่างกันอยู่ในเวลานี้ ก็มีประเด็นดังกล่าวเข้ามาอีกแล้ว แม้ว่าในภาพรวมยังมองไม่เห็นความไม่ชอบมาพากลที่ชัดเจน ยังมองในแง่บวกได้ว่า มีความตั้งใจที่จะ "เปิดกว้าง" ป้องกันวิกฤติแบบทางตัน และต้องการให้ ส.ว. มีความแตกต่างจาก ส.ส. เพื่อความหลากหลาย แต่คำถามก็คือ มันมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติแบบนั้นจริงหรือ และวิกฤติที่ผ่านมา มันเกิดเพราะอะไรกันแน่
00 อย่างไรก็ดี แม้ว่าหากมองในแงบวก ก็ยังเห็นว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการเสนอความเห็นยังไม่มีข้อยุติ อาจมีการแก้ไขตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือ การให้สิทธิ์กับประชาชนในทุกเรื่อง ผ่านทางการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่าต้องมีการออกแบบให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลมีที่มาอย่างอิสระและเข้มแข็งอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง หากไม่มีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างก็จะขับเคลื่อนไปโลดแน่นอน
00 หากพิจารณาในแง่ลบ การยกร่าง รธน. หลายมาตรา มันก็มองได้เหมือนกันว่า เหมือนกับเป็นการ "โยนหินถามทาง" โดยเฉพาะนายกฯคนนอก และการเลือกตั้ง ส.ว.แบบทางอ้อม มีการให้อำนาจกับ "กองทัพ" เข้ามามีบทบาทในการคัดเลือก ส.ว.ไม่น้อย ในฐานะสาขาอาชีพหนึ่ง ที่มาแบบนี้มันช่วยไม่ได้ ที่จะทำให้เกิดความระแวง อย่างน้อยทำให้มองไปในอนาคตข้างหน้าได้ว่า เตรียม "รองรับบิ๊ก" คนไหนหรือเปล่า พูดให้ตรงๆ ก็คือ เปิดช่องให้กับ บิ๊ก คสช.อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือแม้แต่ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือเปล่า แม้ว่าที่ผ่านมา ท่าทีของคนแรกจะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เสร็จภารกิจตอนนี้แล้วจะกลับไปอยู่บ้าน ส่วนรายหลัง "ยังไม่ค่อยชัด" แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างมันก็ยังเป็นไปได้ด้วยเหตุผล "เพื่อความเหมาะสม" และ "ความจำเป็นตามเสียงเรียกร้อง" แต่เอาเป็นว่า รอการชี้แจงเหตุผลให้ชัดจากกมธ.ยกร่างฯ เสียก่อน อาจมีการแก้ไขจนยุติในตอนท้ายก็ได้ เพียงแต่เตือนให้ระวัง จะกลายเป็นเงื่อนไขให้พวก "ประสงค์ร้าย" ขยายผลป่วนก็เป็นได้
00 ยิ่งมาเจอกับรายงานบรรยากาศข่าวลือ ถึงสาเหตุการลาออกจาก กมธ.ยกร่างของ ทิชา ณ นคร ว่ามีการขัดแย้งกันภายใน จนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ ประกอบกับข้อความปริศนาในเฟซบุ๊ก ของเจ้าตัวหลังลาออกว่า "ปลาผิดน้ำ" มันหมายความว่าอย่างไร ทำให้คาดคิดกันไปต่างๆ นานา ทำให้คิดกันมากกว่าเดิม
00 นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตากันแบบไม่ให้คลาดสายตาก็คือ "เกม" จงใจสร้างกระแสให้ล้มฉบับร่างทิ้งไป โดยการยกร่างมาตราให้เป็นเงื่อนไขต่อต้าน จนเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากภายนอก และนำไปสู่การคว่ำของ สปช.ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งตามขั้นตอนก็จะมีการคัดเลือก สปช. ชุดใหม่ มีการตั้งกมธ. ขึ้นมายกร่างรธน.กันใหม่ เมื่อสถานการณ์วุ่นวาย ก็จำเป็นต้องมีการ "ควบคุมสถานการณ์" กันต่อไป นี่คือมองแบบแง่ลบสุดๆ ซึ่งบางทีก็เหมือนกับไม่ให้เกียรติกัน แต่ก็ต้องดักคอไว้ก่อน ให้ระวังกันไว้บ้าง และหวังว่าคาดผิด ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น