xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เขียนแก้ รธน.หลักพื้นฐานได้แต่ต้องทำประชามติ ใช้ครบ 5 ปี ให้สิทธิ์ดูควรแก้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ. ยกร่าง รธน. เผยที่ประชุมพิจารณาว่าด้วยเรื่องการแก้ไข แบ่งความยากง่าย 3 ประเภท ห้ามแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือรูปของรัฐ, แก้หลักการพื้นฐานได้แต่ต้องทำประชามติ และแก้ในสภา ให้สิทธิ์ประชาชน 5 หมื่นชื่อยื่น แต่เมื่อผ่าน 3 วาระต้องส่งศาล รธน. วินิจฉัยเข้าข่ายประเภท 2 หรือไม่ ก่อนทูลเกล้าฯ และให้สิทธิ์คณะผู้ทรงคุณวุฒิทบทวนแก้ไขในรอบ 5 ปี ส่วน ม.190 กำหนดนิยามหนังสือสัญญาให้แคบลง และให้แล้วเสร็จใน 60 วัน

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี - พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ได้พิจารณาบทสุดท้าย ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นชอบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีลำดับความยากง่ายสามประเภท โดยไม่กำหนดระยะเวลาการใช้รัฐธรรมนูญที่ห้ามแก้ไข โดยประเภทที่หนึ่งคือ การแก้ไขใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะทำไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับทุกรัฐธรรมนูญที่เคยใช้มา

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ประเภทที่สอง คือ บททั่วไปของรัฐธรรมนูญ ภาคพระมหากษัตริย์และประชาชน รวมทั้งหลักการพื้นฐานที่อยู่ในภาคอื่นๆ ประกอบด้วย หลักประกันคุ้มครองเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง โครงสร้างสถาบันการเมือง กลไกเพื่อรักษาวินัยการเงิน การคลังและการงบประมาณ หลักนิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง รวมทั้งหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ยกเว้นการแก้ไขที่เป็นการเพิ่มสิทธิ์ของพลเมือง หรือเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่เข้าข่ายกลุ่มนี้

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามประเภทที่สอง นอกจากผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดียวกับประเภทที่สามแล้ว ยังจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำประชามติโดยประชาชนด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สำหรับมาตราอื่นๆ ที่ไม่เข้าประเภทที่หนึ่งและสอง จะมีกระบวนการพิจารณา ประกอบด้วย การมีญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมที่มาจาก ครม. หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสองสภา หรือจากการเข้าชื่อของประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อรัฐสภาพิจารณาสามวาระ โดยในวาระรับหลักการต้องมีการขานชื่อลงมติโดยเปิดเผย และต้องได้เสียสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ส่วนการพิจารณาวาระที่สองให้พิจารณาเรียงตามมาตราและใช้มติเสียงข้างมาก และหากเป็นการเสนอของประชาชนต้องจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วให้พักไว้ 15 วัน ก่อนจะลงคะแนนเห็นชอบในวาระสาม ด้วยการขานชื่ออย่างเปิดเผยและต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไขในประเภทที่สามนี้ จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการแก้หลักการพื้นฐานหรือไม่ หากใช่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขประเภทที่สอง คือต้องนำไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ทุกรอบ 5 ปี หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ ให้ผู้แทนจากสภาผู้แทน วุฒิสภา ครม. ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จำนวนรวม 10 คนในปัจจุบัน เว้นแต่จะมีการตั้งหรือยุบองค์กรตามรัฐธรรมนูญในอนาคต หากคณะผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาว่าเห็นสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยกร่างแล้วส่งให้ ครม. หรือแต่ละสภา เพื่อพิจารณาว่าจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาแก้ไขบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยเพิ่มเติมเนื้อหาจากมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อระบุกรอบของหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านการเห็นชอบของรัฐธรรมนูญ ได้แก่สัญญาที่เกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือการใช้หรือทำให้สูญเสียสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติ หรือการอื่นที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งกำหนดว่านอกจากจัดให้ประชาชนได้รับข้อมูล และรับฟังความคิดเห็นแล้ว ในขั้นการเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้น ให้ ครม. เสนอต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา และให้พิจารณาภายใน 30 วัน และเมื่อลงนามในหนังสือสัญญาแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในหนังสือสัญญา ครม. ต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียด และให้รัฐสภาพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน จากเดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ต้องเข้าสู่รัฐบาลทั้งสองครั้ง และไม่กำหนดระยะเวลาพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น