xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ร้อนวิชาเสนอ 246 ประเด็น ถกปมฉาวเลือก"นายกฯโดยตรง"

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

เทียนฉาย กีระนันทน์
ข่าวปนคน คนปนข่าว

เปิดประชุมกันตั้งแต่ช่วงเช้า 9.30 น. วันนี้ 15 ธ.ค. ไปจนถึงค่ำวันพุธที่ 17 ธ.ค. สำหรับการประชุมที่จัดไว้สามวัน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อนำเสนอข้อสรุปและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ 18 คณะ ที่จะสรุปผลข้อเสนอแนะของกมธ.ในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรธน.

งานนี้หากสปช.ไม่หมดแรงกันเสียก่อน การอภิปรายก็คงมีสีสันต่างๆ สลับกันไปเป็นระยะ โดยไฮไลต์การประชุมสมาชิกสปช. น่าจะไปอยู่ในช่วงค่ำๆ วันพุธที่ 17 ธ.ค. ที่วิปสปช. วางคิวให้กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช.ชุด สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ซึ่งเสนอโมเดลให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง เริ่มนำเสนอความเห็นกมธ. ได้ตั้งแต่ช่วง 19.00 น. เป็นต้น แต่ก็อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นก็ได้

นอกจากนี้ วิปสปช. ได้จัดคิวให้กมธ.บางคณะที่มีข้อเสนอน่าสนใจ ก็ให้อยู่ในการประชุมวันที่ 17 ธ.ค.นี้เช่นกัน เช่น คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่หลายข้อเสนอของกมธ.ชุดนี้ น่าสนใจไม่น้อย เช่น

ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติครั้งใหญ่ โดยยกเลิกระบบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ใช้กันมาหลายสิบปี แล้วสร้างระบบ "สภากิจการตำรวจแห่งชาติ" มาทำหน้าที่แทน ก.ตร. โดยบอร์ดสภากิจการฯ ดังกล่าวจะมีที่มาหลากหลายกว่าระบบก.ตร. รวมถึงข้อเสนอที่ให้ผ่าโครงสร้างวงการสีกากี ด้วยการปรับเปลี่ยนหน่วยงานในหลายกองบังคับการให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานจริง โดยเสนอให้โอนหลายกองบังคับการออกไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น โยกตำรวจป่าไม้ ไปอยู่กับกรมป่าไม้ หรือตำรวจท่องเที่ยวไปอยู่กับกระทรวงท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ไปอยู่กับการรถไฟแห่งประเทศไทย

จากเรื่องตำรวจ ยังมีข้อเสนออีกหลายเรื่อง เช่น เสนอให้ ศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.จากเดิมที่รธน.ปี 50 ให้วุฒิสภาทำหน้าที่นี้ ก็เสนอให้เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หรือข้อเสนอที่ให้กรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กร นอกจากยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินแล้วยังต้องเปิดเผยบัญชีดังกล่าวต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับนักการเมือง เป็นต้น

หลายข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าข้อเสนอให้เลือกนายกฯและครม.โดยตรงของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง คาดว่า กมธ.ยกร่างรธน.บางคน น่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดบางเรื่องที่ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายเสนอมาจำนวนหนึ่ง รวมถึงข้อเสนอดีๆ ของกมธ.อีกหลายชุด

ในความเป็นจริง บางข้อเสนอของกมธ.แต่ละคณะอย่างเช่น ข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ว่าไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างตำรวจ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ถึงเวลาแล้วและต้องทำ ไม่ใช่ปล่อยให้วงการตำรวจเน่าเฟะขนาดนี้

ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือรัฐบาล สามารถรับไปดำเนินการได้ ด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ หากเห็นว่าข้อเสนอของ กมธ.สปช. น่านำไปขยายผลก็สามารถทำได้ทันทีเลย

แต่เหตุที่สปช.บางคณะเสนอครอบคลุมเรื่องปฏิรูปตำรวจมา ก็ต้องเข้าใจว่า สปช.เขาเครื่องร้อน ข้อมูลเยอะ ความเห็นมาก เมื่อได้โอกาสนำเสนอแนวคิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ก็เสนอไปทั้งหมดให้ครบทั้งกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กมธ.ยกร่างรธน. ตลอดจนประชาชนได้เข้าใจปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อว่าเมื่อเห็นปัญหา และได้พิจารณาข้อเสนอของกมธ.แล้ว ก็จะได้เห็นโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด แล้วก็อาจหยิบยกบางข้อเสนอไปเป็นกรอบในการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป แต่สิ่งไหนไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรธน. เช่นเรื่อง ปฏิรูปตำรวจ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็รับไปศึกษาและขยายผลต่อไป
ดังนั้นหากไปศึกษาหรือเห็นรายงานข้อเสนอของกมธ.สามัญของสปช. ทั้ง18คณะ แล้วอาจสงสัยว่าทำไมต้องนำเสนอไม่เห็นต้องนำไปเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย ก็ให้เข้าใจตามนี้

เบื้องต้น วิปสปช.จัดเสนอประเด็นจากที่ กมธ.ทั้ง 18 คณะ เคาะประเด็นนำเสนอในนามกมธ.ออกมาแล้ว พบว่ามีร่วมๆ 246 ประเด็น !

ถือว่ามากพอสมควร และแสดงให้เห็นว่า สปช.ชุดนี้ ร้อนวิชากันจริงๆ ในการเสนอกรอบการปฏิรูปประเทศ และการยกร่างรธน. อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า ใน 246 ประเด็นดังกล่าว มีบางเรื่องที่กมธ.แต่ละคณะเสนอ ก็พบว่าประเด็นหลักใกล้เคียงกัน แต่ไปแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียด เช่น ผู้นำทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ดี - การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หัวข้อเหล่านี้ กมธ.บางคณะก็เสนอรายละเอียดที่อยู่ในหัวข้อหลักคล้ายคลึงกันเพียงแต่รายละเอียดแตกต่างกัน จึงทำให้ประเด็นดูแล้วอาจมีมาก
โดยจากการเปิดเผยของวิปสปช. พบว่า หัวข้อหลักๆ ที่กมธ.ทั้ง 18 คณะ เสนอมาแล้วอยู่ในโทนเดียวกัน เรื่องที่มีมากสุดจะอยู่ที่ 3 เรื่องเหล่านี้ คือ ผู้นำทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ดีมี 133 ประเด็น - นิติธรรม ศาล การตรวจสอบอำนาจรัฐ 33 ประเด็น -การปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 35 ประเด็น ซึ่งเมื่ออภิปรายจบ ในช่วงค่ำวันพุธที่ 17 ธ.ค. แล้ว จากนั้นก็จะให้สปช. ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ข้อเสนอแนะทั้งหมดของกมธ.ทั้ง 18 ซึ่งก็เชื่อว่า ยังไง สปช. ก็ต้องลงมติเห็นชอบแน่นอน

หลังจากนั้น เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ก็จะส่งรายงานทั้งหมดให้กับกมธ.ยกร่างรธน.ในวันศุกร์ที่ 19 ธ.ค.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสปช. และกมธ.สามัญสปช.ทั้ง 18 คณะ หลายคนก็ทำใจอยู่แล้วว่า บางข้อเสนอแม้อาจเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ที่น่าจะทำให้เกิดผลสำเร็จเพื่อนำประเทศไปสู่การปฏิรูป หรือสร้างมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบใหม่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อเสนอที่สปช.ทำไป ก็อาจสูญเปล่า ถูกวางกองทิ้งไว้ในห้องประชุมกมธ.ยกร่างรธน. เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูง ที่กมธ.ยกร่างรธน.เอง ก็อาจไม่รับมาเป็นข้อพิจารณาในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ก็เชื่อว่า กมธ.ยกร่างรธน.เองที่ก็เป็นสมาชิกสปช. มากที่สุดในนั้นคือ 20 เสียงจาก 36 เสียง ก็คงร่วมกันผลักดันบางข้อเสนอที่ดีๆ จากสปช. ให้เกิดผลในทางปฏิบัติจนถูกนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะถือว่ากุมเสียงข้างมากเลยทีเดียว หากข้อเสนอสปช.ดีจริงๆ กมธ.ที่มาจากสปช. คงยากจะปล่อยให้กองทิ้งไว้โดยไม่มีใครเหลียวแล

ลำดับแรก เพื่อทำให้ข้อเสนอสปช.ที่ดีๆ มีประโยชน์ไปถึงฝั่งฝัน ได้ถูกนำไปเขียนไว้ในรธน.ตัวสมาชิกสปช.ต้องทำให้สังคมรับรู้ เข้าใจ ข้อเสนอนั้นให้ได้เสียก่อน ว่าเป็นข้อเสนอที่ดีอย่างไร ซึ่งก็คือต้องทำให้ประชาชนแลเห็นความสำคัญของข้อเสนอแนะดังกล่าวให้ได้ตลอดการประชุมสปช.สามวันในสัปดาห์นี้ ด้วยการแสดงเหตุผล ประโยชน์ของข้อเสนอต่างๆได้ครบถ้วน เข้าใจง่าย ซึ่งหากประชาชนเข้าใจและเห็นด้วยกับข้อเสนอสำคัญๆของสปช. ก็จะทำให้เกิดแนวร่วมแล้วก็จะนำไปสู่การผลักดันให้ กมธ.ยกร่างรธน. ต้องนำไปเขียนไว้ในรธน.ฉบับใหม่ต่อไป

สปช.จึงต้องใช้โอกาสในการประชุมสามวันนี้ให้เกิดประโยชน์ อย่าทำให้เสียของ ต้องไม่พูดพล่าม มัวแต่แสดงวิสัยทัศน์ เพ้อเจ้อแต่สังคมอุดมคติ จนประชาชนเบื่อที่จะฟัง ไม่เช่นนั้น สปช.อาจได้แค่ฝัน และข้อเสนอทั้งหมดอาจสูญเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น