xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เข้าช่วงสรุปกรอบร่างรธน. ปม"นายกฯโดยตรง"ส่อถกหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ผ่านวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. เมื่อวันพุธที่ผ่านมา วันนี้ก็เข้าสู่ช่วงปีที่ 83 แล้ว สำหรับการที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญใช้ปกครองประเทศ
ดูตามลำดับเวลากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ถือว่าช่วงเดือนธันวาคมนี้ เป็นช่วงที่เรียกกันว่า ช่วงการระดมความคิด-เสนอความเห็น ต่อกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ส่วนช่วงแห่งการยกร่างรธน. ฉบับใหม่ จะเริ่มต้นกันจริงๆ ก็ประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนม.ค.ปีหน้า เป็นต้นไป ที่กมธ.ยกร่างรธน. จะเริ่มประชุมปรึกษาหารือกันถึงการยกร่างรธน.ว่าจะเอาแบบไหน อย่างไร จะวางกรอบการเขียนออกมาอย่างไร
พอได้โครงร่างเสร็จ ก็เริ่มเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญกันทีละหมวด เรียงมาตรากันไปเลย
โดยขั้นตอนทุกอย่างคือตัวร่างพิมพ์เขียว ร่าง รธน.ฉบับใหม่ จะต้องแล้วเสร็จในช่วงไม่เกินกลางเดือนเมษายนปีหน้า เพราะกมธ.ยกร่างรธน. มีเงื่อนไขบังคับเอาไว้ว่า หลังรับข้อเสนอการยกร่างรธน.จากสภาปฏิรูปแห่งชาติที่จะส่งมอบให้กมธ. กันในวันศุกร์ที่ 19 ธ.ค.แล้ว กมธ.มีเวลาอีกไม่เกิน 120 วัน หรือประมาณสี่เดือน จะต้องร่างรธน.ให้แล้วเสร็จให้ได้ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป
เช่น การส่งร่างดังกล่าวไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ–คณะรัฐมนตรี –คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งสามองค์กรนี้ มีอำนาจในการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างรธน.ดังกล่าว ของกมธ.ยกร่างรธน.ได้ แต่กมธ.จะยอมทบทวนแก้ไขหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่เสียงข้างมากใน 36 กมธ.ยกร่างรธน.
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงขั้นตอนนั้น ช่วงเดือนธันวาคมนี้ ไฮไลต์สำคัญของกระบวนการยกร่างรธน. จะอยู่ในช่วงสัปดาห์หน้า คือ 15-17 ธ.ค. ที่จะเป็นวันนัดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ว่างเว้นไม่ได้ประชุมกันมาหลายสัปดาห์ เหตุเพราะไม่มีวาระอะไรให้ประชุมกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการสามัญของสภาปฏิรูปฯ 18 คณะ ต้องไปจัดทำข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในนามกมธ. เพื่อเสนอต่อกมธ.ยกร่างรธน. ซึ่งตอนนี้กรรมาธิการสามัญเกือบทั้งหมดใน 18 คณะ ก็ได้สรุปข้อเสนอแนะการยกร่างรธน.ในหมวดต่างๆ ตามอำนาจหน้าที่ของตนเองไปเกือบครบทุกคณะแล้ว เหลือรอให้สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปฯ จัดทำเอกสารข้อสรุปทั้งหมดของกมธ.ทั้ง 18 คณะ เพื่อนำเข้าที่ประชุมใหญ่สปช.15-17 ธ.ค.นี้ จะได้นำไปอภิปราย แสดงความเห็นกันไปเลยตลอดสามวันดังกล่าวโดยมี กมธ.ยกร่างรธน. เข้าร่วมรับฟังด้วย แล้วจากนั้น สปช.ก็จะส่งมอบข้อเสนอทั้งหมดให้กับกมธ.ยกร่างรธน. ในอีกสองวันถัดไปคือ 19 ธ.ค.
ก็ถือว่าภารกิจสำคัญของสปช. คือการเสนอแนะกรอบการยกร่างรธน. ต่อกมธ.ยกร่างรธน.ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ให้อำนาจไว้ ก็ทำสำเร็จเรียบร้อย จากนั้นสปช. ก็ต้องไปทำภารกิจอื่นๆ ต่อไป
มีการคาดการณ์กันว่า การประชุมสปช.เพื่อนำเสนอกรอบการเขียนรธน.ในสัปดาห์หน้า ประเด็นที่คงมีการนำเสนอและอภิปรายทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกันอย่างกว้างขวาง คงไม่พ้น ข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ที่เสนอ
**“ให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง”
เพราะเป็นประเด็นที่สร้างกระแสทางการเมืองอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่แหลมคมทางการเมืองพอสมควร และยังไม่เคยมีตัวอย่างที่ไหนในโลก
ทั้งที่ประเทศซึ่งใช้ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วจะให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือเลือกคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ยิ่งเมื่อมีเสียงสนับสนุนออกมาจากหลายฝ่าย เช่น ผลสำรวจของนิด้าโพล ที่ความเห็นส่วนใหญ่สนับสนุนให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงเลย ไม่ต้องเลือกผ่านส.ส. แบบที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นักการเมืองบางพรรค แม้ไม่สนับสนุนแต่ก็ไม่คัดค้านเต็มที่
เลยทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางนี้โดยเฉพาะกมธ.ปฏิรูปฯ เสียงข้างมาก ดูจะคาดฝันไม่น้อยว่า อาจเกิดระบบนี้ขึ้นในการเมืองไทย แม้จะพบว่าเสียงเตือนข้อเสียของระบบนี้ เริ่มก่อตัวมากขึ้นแล้วในเวลานี้
** จึงน่าจับตามองว่า การประชุมสปช. สัปดาห์หน้า จะมีการอภิปรายข้อเสนอนี้กันอย่างเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน เพราะคงไม่ได้มีแค่สปช. ที่เป็นกมธ.ปฏิรูปการเมือง เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ของกมธ. อย่างเช่น ประสาร มฤคพิทักษ์ คนเดียวที่จะลุกขึ้นอภิปรายไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ แต่น่าจะมี สปช.อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็น กมธ.ปฏิรูปการเมือง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ก็อาจลุกขึ้นแสดงความเห็นไม่เอาด้วยกับแนวทางนี้
อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่ถึงกับมีจำนวนมาก หรืออภิปรายดุดันอะไร เพราะก็ต้องให้เกียรติ กมธ.ปฏิรูปการเมืองด้วย จะไปคัดค้านแบบดุดันเลยก็คงไม่เหมาะ คงพูดกันในลักษณะอภิปรายถึงผลเสียของข้อเสนอนี้ เพื่อส่งผ่านไปยัง กมธ.ยกร่างรธน. เป็นหลัก
ท่ามกลางเสียงวิเคราะห์จากแวดวงคนการเมืองหลายกลุ่ม ที่ฟันธงแบบไม่มีกลัวพลาดว่า ข้อเสนอเลือกนายกฯโดยตรง ไม่มีทางถูกนำไปอภิปรายแสดงความเห็นกันในห้องประชุม กมธ.ยกร่างรธน .จนนำไปสู่การเขียนไว้ในรธน.แน่นอน รับประกันได้ เพราะดูอย่างตอนนี้ ก็มีกมธ.ยกร่างรธน. ที่เปิดตัวชัดเจนว่าไม่เอาแนวทางนี้ เช่น นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ –คำนูณ สิทธิสมาน รวมถึงคาดว่าน่าจะมีอีกหลายคน ขณะที่ตัว บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรธน. ก็คาดเดาว่า ไม่น่าจะเอาด้วยกับแนวทางนี้
เพราะหลายคนวิเคราะห์ไปในทางว่า บวรศักดิ์ น่าจะมีความเห็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ออกเป็น 2 รูปแบบเท่านั้นคือ
1. เป็นแบบระบบเดิม คือให้ที่ประชุมสภาฯโหวตเลือกนายกฯ โดยคนที่จะได้รับการโหวตต้องเป็นส.ส. และ 2.ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตเลือกของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
เขียนเท่านี้พอ ไม่ต้องบอกว่า คนที่จะได้รับเลือกนั้นต้องเป็นส.ส.ด้วย เป็นแนวทางการเปิดประตู ให้กับคนที่ไม่ได้เป็นส.ส.ก็สามารถเป็นนายกฯได้ สูตรหลังนี้ พบว่ามีกมธ.ยกร่างรธน. บางคนก็มีแนวคิดดังกล่าว เช่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น แต่เสียงส่วนใหญ่จะเอาด้วยหรือไม่ ยังประเมินยาก
**สูตรเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรงของกมธ.ปฏิรูปการเมือง จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เข็นครกขึ้นภูเขา หากคิดจะทำให้เกิดผลสำเร็จ เว้นแต่ต้องมี "ตัวช่วยพิเศษ" ที่หนุนหลังโมเดลนี้
**แต่ตอนนี้ยังไม่พบเค้าลางตัวช่วยดังกล่าว ที่อาจเพราะยังเร็วเกินไปเพราะเหลือเวลาอีกร่วมสี่เดือน กว่าการร่างรธน.ถึงแล้วเสร็จ ตอนนี้เลยดูทิศทางลมไปก่อนดีกว่า

..
กำลังโหลดความคิดเห็น