กมธ. ปฏิรูปการเมือง จัดสัมมนารับฟังความเห็นยกร่าง รธน. “ดิเรก” รับยกร่างคร่าวๆ เสร็จแล้ว แต่มีเห็นต่างจึงเปิดรับฟัง “จุรินทร์” ชี้ รธน. ไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ อย่านำที่สร้างปัญหากลับมาใช้ จี้ปิดช่องกำจัดจุดอ่อน เชื่อกมธ. เจตนาดี แต่ต้องยึดโลกความจริง อย่าให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินจนกินรวบแบบ รธน. 40 งง กจต. รมต. คุม ขรก. จะไม่จุ้นได้ยังไง ย้ำโอเพนลิสต์ทำวุ่นวาย พรรคเดียวกันแข่งกันเอง
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 306 - 307 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง” โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จากพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นายสุมิตร สุนทรเวช จากพรรคประชากรไทย นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
โดย นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. นนทบุรี ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญยกร่างคร่าวๆ เสร็จแล้วมีทั้งหมด 315 มาตรา ขณะเดียวกัน ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอบางส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยในเดือนเมษายนนี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองจะทำการแปรญัตติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจัดให้มีการสัมมนาใน 4 ภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ภายในเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปตามระบอบประชาธิปไตย และไม่อยากเห็นปัญหาลุกลามขึ้นมาอีก จึงอยากรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวเพื่อนำไปวิเคราะห์ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
จากนั้น นายจุรินทร์ ได้กล่าวแสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ที่ตนเดินทางมาในวันนี้ก็เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ยังแก้ไขได้ ก็หวังว่ากรรมาธิการฯจะนำความเห็นเหล่านี้จากที่ได้รับฟังจากภาคส่วนต่างๆ ไปประกอบการพิจารณา โดยตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเข้าลักษณะ 3 ประการ คือ ต้องมีผลพัฒนาประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ระยะยาวได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกิจ ต่อมาอะไรที่เคยสร้างปัญหาในอดีต ไม่ควรย้อนยุคกลับมาใช้ เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง และการเขียนรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องใหม่ทุกเรื่อง อะไรใหม่แต่ไม่ดีกว่าไม่ควรจะเอา แต่อะไรเก่า แต่ดีควรเก็บไว้ โดยควรปิดช่องว่างกำจัดจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ มีเจตนาดี แต่ควรรับฟังฝ่ายปฏิบัติ และคำนึงถึงโลกความเป็นจริงด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นทฤษฎีมากเกินจริง
“รัฐธรรมนูญปี 40 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไป จนกินรวบประเทศ คอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารมาแล้ว เหมือนรอบนี้ จะร่างย้อนกลับไปแบบเก่าอีก กมธ.ยกร่างฯ ต้องทบทวน เรื่องการกำหนดให้สภาต้องยุบด้วย หากนายกรัฐมนตรีถูกลงมติไม่ไว้วางใจ เพราะเขียนไว้เพื่อปกป้องนายกฯ ส่วนการกำหนดให้นายกฯมีอำนาจพิเศษเสนอพระราชบัญญัติไว้วางใจได้ ถ้าสภาไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้นายกฯ ภายใน 48 ชั่วโมง โดยถือว่ากฎหมายนั้นผ่านสภา เรื่องนี้จะยิ่งกว่าอภิมหาพระราชกำหนดอีก อาจมีผู้ที่ประสงค์วาระพิเศษ ใช้ช่องทางนี้เสนอ พ.ร.บ. ที่อาจเป็นปัญหาทำให้การเมืองเดินต่อไม่ได้ในอนาคต นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง" นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการถอดถอนนักการเมือง ที่เดิมให้ ส.ว. เป็นผู้ถอดถอน แต่ครั้งนี้เขียนให้ 2 สภาร่วมกันถอดถอน อาจเป็นเพราะ กมธ.ยกร่างฯ ไปกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ดังนั้น การถอดถอน ถ้าจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมดไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 650 เสียง เสียงถอดถอนต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งคือ 326 เสียง ถ้าตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่าจำนวนกึ่งหนึ่ง นายกฯ และ ครม. จะไม่มีวันถูกถอดถอนได้เลย ไม่ว่าจะคอร์รัปชันขนาดไหน เพราะมีเสียงข้างมากกันไว้ และการให้สภาผู้แทนราษฎรถอดถอนได้ ถ้าเกี่ยวกับคนในสภา หรือ ครม. จะเป็นการให้แต้มต่อกับรัฐบาล อีกทั้งกรณีที่ให้กรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) จัดการเลือกตั้งนั้น ตนเองไม่เข้าใจว่า กจต. ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการประจำนั้น ทำให้ปราศจากอิทธิพลนักการเมืองได้อย่างไร เพราะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลข้าราชการประจำก็เป็นนักการเมือง ถ้าหากมีการถ่วงดุลอำนาจ กกต. ควรให้ศาลเป็นผู้ถ่วงดุลน่าจะดีกว่า ส่วนการกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเป็นแบบโอเพนลิสต์ จะกลายเป็นให้คนเลือกคน แทนคนเลือกพรรค เกิดผลทำให้ พรรคเดียวกันแข่งกันเอง สุดท้ายระบอบการเมืองจะสับสนวุ่นวาย ทะเลาะ ทำลายพรรคการเมืองกันเอง การเมืองจะสับสน ประชาชนรับไม่ได้ ดังนั้น ตนไม่อยากเห็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก การหาทางออก คือ ทำให้การเมือง การตรวจสอบถ่วงดุล และประชาชนเข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ระยะยาว
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. การเลือกตั้งแบบเขตจังหวัด ควรใช้สัดส่วน ประชากร 1 คนต่อ 1 เสียง และการเลือกตั้ง ส.ส. ระบบบัญชีรายควรใช้แบบเขตประเทศ เพราะจะสะท้อนประชาธิปไตย ส่วนการจัดการเลือกตั้งควรทำแบบประเทศญี่ปุ่น คือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการการเลือกตั้งให้ทั้งหมด ส่วนเรื่องการถอดถอน วุฒิสภาไม่ควรถอดถอน เพราะวุฒิสภาไม่มีคุณภาพ ควรจะให้เป็นหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินการ วุฒิสภาเพียงแค่ยกมือและก็ถอดถอด ทำแบบนี้ไม่ยุติธรรม ไม่ตอบโจทย์ ยืนยันประเทศนี้ถ้าแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับคนจนและคนรวย ไม่มีใครทะเลาะกับใคร จึงขอฝากไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ถ้าทำจริงก็จะตอบโจทย์ ถ้าทำไม่จริงก็จะไม่ตอบโจทย์ในการปฏิรูปประเทศ
นอกจากนี้ มีข้อเสนอจากบรรดาตัวแทนพรรคการเมืองขนาดเล็กและกลุ่มประชาชน ต่อการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขอให้มีการดำเนินการยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57/2557 ที่มีเนื้อหาห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินงานทางการเมืองได้ เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน จึงสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่อมาเสนอให้กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง สนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองของภาคประชาชน มากกว่าอุดหนุนพรรคการเมืองที่มีนายทุนหรือกลุ่มทุนดูแล รวมทั้งเสนอให้มีการออกกฎหมายให้มีการคุ้มครองพยานในคดีการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับ อีกทั้งยังมีการเสนอให้ทาง ป.ป.ช. สามารถมีอำนาจยับยั้งโครงการของรัฐบาลที่ส่อสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนด้วย